รอง ผบ.ตร. พร้อม ผบช.ภ.1 นำผู้ต้องหาเมาแล้วขับช่วงสงกรานต์ กว่า 380 ราย ใน จ.สมุทรปราการ มาดื่มน้ำสาบาน และฟังเทศน์จากพระสงฆ์จากการเมาแล้วขับ นอกจากจะส่งผลให้เกิดอันตรายต่อชีวิตแล้ว และยังทำให้คนอื่นได้รับผลกระทบด้วย ก่อนนำตัวส่งฟ้องศาล...



เมื่อเวลา 10.30 น. วันที่ 15 เม.ย.61 ที่สนามฟุตซอล สภ.บางปู อ.เมืองสมุทรปราการ พล.ต.อ.วิระชัย ทรงเมตตา รอง ผบ.ตร.เป็นประธานเปิดโครงการ เมาแล้วขับ กลับใจ ต่อไปจะไม่เมาแล้วขับ เพื่อป้องกันและลดอุบัติเหตุทางถนนช่วงเทศกาลสงกรานต์ โดยมี พล.ต.ท.สุวัฒน์ แจ้งยอดสุข ผบช.ภ.1 พล.ต.ต.ธรรมนูญ ไตรทิพยพงศ์ ผบก.ภ.จว.สมุทรปราการ ต้อนรับ พร้อมกับได้นำประชาชนซึ่งถูกจับกุมในคดีเมาแล้วขับในช่วงเทศกาลสงกรานต์ ทุกโรงพัก ในสังกัด จว.สมุทรปราการ กว่า 380 คน มาอบรม และทำความเข้าใจกับผู้ที่ถูกดำเนินคดีหลังมีการเปลี่ยนแปลงกฎหมายใหม่ ที่กำหนดให้ต้องมีปริมาณแอลกอฮอล์ไม่เกิน 20 มิลลิกรัมเปอร์เซ็นต์ สำหรับผู้ที่มีใบขับขี่ชั่วคราวหรือผู้ไม่มีใบอนุญาตขับขี่ และปริมาณ ไม่เกิน 50 มิลลิกรัมเปอร์เซ็นต์ สำหรับผู้มีใบอนุญาตขับขี่ 5 ปี และสำหรับผู้โดยสารที่นั่งดื่มสุราบนหลังกระบะท้ายรถหรือในรถ ระหว่างเดินทาง ก็ถือว่ามีความผิดด้วยเช่นกัน 


โดยบรรยากาศในโครงการได้นิมนต์พระสงฆ์มาเทศนาให้กับผู้ต้องหา เพื่อสั่งสอนตามแนวทางของพระพุทธศาสนาให้มนุษย์ดำรงชีวิตด้วยความไม่ประมาทและโทษต่างๆ ที่เกิดจากการเมาแล้วขับ นอกจากจะส่งผลให้เกิดอันตรายต่อชีวิตแล้ว และยังทำให้คนอื่นได้รับผลกระทบด้วย จากนั้นได้ให้ผู้ต้องหาทั้งหมด กล่าวสัตย์ปฏิญาณและดื่มน้ำมนต์ถือสัจจะ ซึ่งมี มีด และกระสุนปืน อยู่ในขัน ว่าจะถ้าดื่มสุราจะไม่ขับรถอีกเป็นอันขาด หากผิดคำสัตย์ที่ให้ไว้ ขอให้ชีวิตมีอันเป็นไปภายใน 3 วัน ก่อนที่จะคุมตัวทั้งหมดส่งฟ้องศาลแขวงสมุทรปราการต่อไป


...

สำหรับจังหวัดสมุทรปราการได้วางแนวทางมาตรการในการเข้มงวดการขับขี่รถในขณะ เมาสุรา โดยมีแนวคิดที่จะเป็นสื่อประสาน เพื่อให้ประชาชนที่ขับขี่รถในขณะเมาสุราต่อไปจะไม่กระทำผิดซ้ำอีก โดยให้ประชาชนทุกภาคส่วนสำนึกในกฎจราจรในการขับรถดี มีวินัย ถ้าไม่ดื่ม ไม่เมาขณะขับรถ สถิติอุบัติเหตุจะลดลงได้ ทั้งนี้พบว่าผู้ที่ดื่มเมาแล้วขับส่วนใหญ่จะรู้ว่า เจ้าหน้าที่ตำรวจตั้งด่านจุดไหนและก็จะมีการหลีกเลี่ยงไปใช้เส้นทางอื่น เราจึงได้ปรับยุทธวิธี ในการตั้งด่านตรวจ โดยการตีวงสุราให้แตก นำกำลังตำรวจไปสกัดวัดประมาณแอลกอฮอล์ บริเวณจุดที่มีการดื่มสุรา และทางออกหมู่บ้าน เพื่อหยุดยั้งการเมาแล้วขับ จึงทำให้สามารถจับกุมผู้เมาแล้วขับได้ถึง 512 ราย สำหรับโทษที่ผู้ต้องหาเมาแล้วขับหลังจากส่งฟ้องศาลแล้ว ศาลจะสั่งปรับตั้งแต่ 5,000-8,000 บาท /โทษจำคุกไม่เกิน 1 ปีรอลงอาญา 2 ปี /คุมประพฤติ โดยให้รายงานตัว 3 เดือนต่อครั้ง และบำเพ็ญประโยชน์ 24 ชั่วโมง รวมถึงการใช้มาตรการคุมประพฤติ โดยการติดตั้งอุปกรณ์อิเล็กทรอนิกส์ หรือกำไลข้อเท้า อีเอ็ม ซึ่งผู้ถูกติดตั้งกำไลข้อเท้า จะถูกห้ามออกจากเคหสถาน ตั้งแต่เวลา 22.05 น. เป็นเวลา 15 วัน ซึ่งมาตรการนี้ ทางศาลแขวงกรุงเทพได้นำมาใช้แล้ว จึงอยากเตือนประชาชนถ้าดื่มแล้วต้องไม่ขับเพื่อช่วยกันลดอุบัติเหตุบนท้องถนน อย่างไรก็ตามจากสถิติถือว่าการจับกุมผู้เมาแล้วขับนั้นพบมากขึ้นทุกปี เนื่องจากไม่เกรงกลัวต่อบทลงโทษ ตนจึงต้องใช้มาตรการทางจิตใจมาบังคับกลุ่มนี้ โดยการดื่มน้ำมนต์ สาบานตน และถือสัจจะ ว่าจะไม่ดื่มแล้วขับอีก.