กรมชลประทาน คาดน้ำไหลสูงสุดไหลเหนือเขื่อนเจ้าพระยา 2,240 ลบ.ม.ต่อวินาที วันที่ 9 ต.ค. 60 นี้ เตรียมผันน้ำเข้าทุ่งรับน้ำ 2 ฝั่งเจ้าพระยา พร้อมควบคุมระดับน้ำในทุ่งให้อยู่ในเกณฑ์ที่เหมาะสม...
นายสมเกียรติ ประจำวงษ์ รองอธิบดี รักษาราชการแทนอธิบดีกรมชลประทาน เปิดเผยว่า คาดการณ์ว่าในช่วงวันที่ 8 – 11 ต.ค. 60 ปริมาณน้ำเหนือเขื่อนเจ้าพระยา จะอยู่ในเกณฑ์ประมาณ 2,076 – 2,240 ลูกบาศก์เมตร (ลบ.ม.) ต่อวินาที โดยจะมีปริมาณน้ำสูงสุดในวันที่ 9 ต.ค. 60 ในเกณฑ์ 2,240 ลบ.ม.ต่อวินาที โดยกรมชลประทานได้วางแผนบริหารจัดการน้ำบริเวณเหนือเขื่อนเจ้าพระยา ซึ่งจะมีน้ำไหลเข้าระบบชลประทานทั้งสองฝั่งของแม่น้ำเจ้าพระยา แบ่งเป็น ฝั่งตะวันออก รับน้ำเข้าระบบชลประทานรวม 275 ลบ.ม./วินาที จากนั้นจะนำน้ำเข้าไปเก็บไว้ในทุ่ง ได้แก่ ทุ่งเชียงราก ทุ่งท่าวุ้ง ทุ่งฝั่งซ้ายคลองชัยนาท – ป่าสัก ทุ่งบางกุ่ม ทุ่งบางกุ้ง และทุ่งรังสิตใต้ ส่วนทางด้านฝั่งตะวันตก จะรับน้ำเข้าระบบชลประทานรวม 470 ลบ.ม./วินาที จากนั้นจะนำน้ำเข้าไปเก็บไว้ในทุ่ง ได้แก่ ทุ่งบางบาล ทุ่งป่าโมก ทุ่งผักไห่ ทุ่งเจ้าเจ็ด ทุ่งโพธิ์พระยา และทุ่งพระยาบรรลือ ตามความต้องการของประชาชนต่อไป
รองอธิบดี รักษาราชการแทนอธิบดีกรมชลประทาน กล่าวต่อว่า สำหรับสถานการณ์น้ำในแม่น้ำเจ้าพระยา ณ 2 ต.ค. 60 ปริมาณน้ำไหลผ่านที่สถานี C.2 อ.เมืองนครสวรรค์ 1,849 ลบ.ม.ต่อวินาที มีแนวโน้มเพิ่มขึ้นเล็กน้อย ระดับน้ำต่ำกว่าตลิ่ง 3.29 เมตร มีน้ำไหลผ่านเขื่อนเจ้าพระยา 1,273 ลบ.ม.ต่อวินาที ซึ่งบริเวณเหนือเขื่อนได้รับน้ำเข้าสู่คลองฝั่งตะวันตกและฝั่งตะวันออก รวมทั้ง 2 ฝั่งวันละประมาณ 577 ลบ.ม.ต่อวินาที ทั้งนี้ จะบริหารน้ำเหนือเขื่อนเจ้าพระยาให้เข้าคลองชลประทานให้มากที่สุดตามศักยภาพของพื้นที่ พร้อมกับทดระดับน้ำเหนือเขื่อนเจ้าพระยาที่ไหลมาจากจังหวัดนครสวรรค์ เพื่อชะลอน้ำไว้บริเวณเหนือเขื่อนเจ้าพระยาให้อยู่ในระดับการควบคุม (ไม่เกิน +17.00 เมตร(รทก.)) เพื่อลดผลกระทบกับพื้นที่ตอนล่างบริเวณ อ.ผักไห่ อ.บางบาล จ.พระนครศรีอยุธยา
...
นายสมเกียรติ กล่าวอีกว่า สำหรับการรับน้ำเข้าทุ่งต่างๆ จนถึงปัจจุบัน (1 ต.ค. 60) พื้นที่ฝั่งตะวันออกของแม่น้ำเจ้าพระยา กรมชลประทาน ได้ส่งน้ำเข้าระบบชลประทานผ่านประตูระบายน้ำมโนรมย์ลงสู่คลองชัยนาท – ป่าสัก ก่อนจะนำน้ำส่วนหนึ่งเข้าไปเก็บไว้ในทุ่งต่างๆ ซึ่งมีปริมาณน้ำที่เกิดจากฝนตกในพื้นที่ ขังอยู่ในทุ่งบางส่วน ในส่วนของพื้นที่ฝั่งตะวันตกของลุ่มน้ำเจ้าพระยานั้น กรมชลประทาน ได้มีการส่งน้ำเข้าระบบชลประทานผ่านประตูระบายน้ำต่างๆ ก่อนจะนำน้ำบางส่วนเข้าไปเก็บไว้ในทุ่ง ที่มีปริมาณน้ำที่เกิดจากฝนตกในพื้นที่ขังอยู่แล้วบางส่วน รวมปริมาณน้ำที่มีการรับน้ำเข้าทุ่งทั้งสองฝั่งทั้งสิ้น 298.69 ล้าน ลบ.ม.เมตร หรือคิดเป็น 20% ของปริมาณน้ำที่รับได้ทั้งหมด ปริมาณน้ำในทุ่งที่รับได้ทั้งหมด 12 ทุ่ง รวม 1,500 ล้าน ลบ.ม.
"กรมชลประทานจะทยอยนำน้ำเข้าไปในทุ่งต่างๆ ที่มีความพร้อมและได้รับการยินยอมจากราษฎรในพื้นที่ ที่ได้มีการทำประชาคมและมีมติร่วมกันแล้ว เพื่อใช้ประโยชน์ในการหมักตอซังเป็นปุ๋ยอินทรีย์ การเกษตร และการประมง โดยจะควบคุมระดับน้ำในทุ่งให้อยู่ในเกณฑ์ที่เหมาะสม เนื่องจากยังคงต้องเฝ้าระวังสถานการณ์ฝนที่จะตกลงมาในพื้นที่ลุ่มน้ำเจ้าพระยาอย่างใกล้ชิดด้วย อย่างไรก็ตามปัจจุบันยังไม่มีปริมาณน้ำหลากจำนวนมากไหลลงสู่เขื่อนเจ้าพระยาแต่อย่างใด" รองอธิบดี รักษาราชการแทนอธิบดีกรมชลประทาน กล่าว
สำหรับสถานการณ์น้ำในอ่างเก็บน้ำขนาดใหญ่และขนาดกลางทั่วประเทศ ณ 1 ต.ค. 60 มีปริมาณน้ำรวมกันทั้งสิ้น 56,131 ล้าน ลบ.ม. หรือคิดเป็น 75% ของความจุอ่างฯ รวมกันทั้งหมด โดยมีปริมาณน้ำมากกว่าปี 2559 รวม 9,411 ล้าน ลบ.ม. เป็นน้ำใช้การได้ 32,312 ล้าน ลบ.ม. คิดเป็น 63% สามารถรองรับน้ำได้อีก 19,087 ล้าน ลบ.ม. เฉพาะในพื้นที่ลุ่มน้ำเจ้าพระยา 4 เขื่อนหลัก ได้แก่ สิริกิติ์ แควน้อยบำรุงแดน ป่าสักชลสิทธิ์ ภูมิพล มีปริมาณน้ำรวมกัน 17,279 ล้าน ลบ.ม. คิดเป็น 69% ของความจุอ่างฯ รวมกัน มีปริมาณน้ำใช้การได้ 10,583 ล้าน ลบ.ม. คิดเป็น 58% สามารถรองรับน้ำได้อีกกว่า 7,592 ล้าน ลบ.ม.