น.สพ.ภัทรพล มณีอ่อน พร้อม จนท.กรมอุทยานฯ ประชุมกับชาวบ้านพื้นที่ติด อช.เขาใหญ่ กรณีช้างป่ารุกล้ำเข้าสวนไร่นา ทำให้พืชผลทางการเกษตรเสียหาย ชี้ แหล่งอาหารช้างป่าลดลง เพราะวัชพืชต่างถิ่น กลายเป็นป่า 2 ชั้น หรือ ป่าล้อมทุ่งหญ้า...

เมื่อวันที่ 7 ก.ย.2560 น.สพ.ภัทรพล มณีอ่อน หรือ หมอล็อต นายสัตวแพทย์ประจำกรมอุทยานแห่งชาติ สัตว์ป่า และพันธุ์พืช พร้อมเจ้าหน้าที่กรมอุทยานฯ เชิญ ผู้นำท้องถิ่น ชาวบ้าน และอาสาสมัคร รวมกว่า 120 คน เข้าร่วมประชุมหารือ ปัญหาและสาเหตุ กรณีช้างอุทยานแห่งชาติเขาใหญ่ลงมาหากินพื้นที่ด้านล่างตามแนวเขตอุทยานฯ โดยได้แลกเปลี่ยนรับฟังปัญหาของชาวบ้าน

น.สพ.ภัทรพล กล่าวถึงสาเหตุที่ช้างลงมายังพื้นที่ของชาวบ้านว่า เนื่องจากขณะนี้เกิดเหตุการณ์ป่าล้อมทุ่งหญ้าบนพื้นที่อุทยานฯ เนื่องจากตอนนี้ได้มีวัชพืชต่างถิ่น คือต้นสาบเสือ เกิดขึ้นในพื้นที่อุทยานฯ ส่งผลให้พืชชนิดปกคลุมพื้นที่ป่า จนทำให้ทุ่งหญ้าที่เป็นแหล่งหากินของช้างนั้นค่อยๆ ลดลง สวนทางกับจำนวนประชากรช้างที่เพิ่มขึ้น คาดในปี 2560 มีจำนวนช้างในพื้นที่อุทยานแห่งชาติเขาใหญ่กว่า 400 ตัว ซึ่งเพิ่มจากปี 2545 ที่เคยเก็บข้อมูลช้างมีเพียง 250 ตัว ขณะเดียวกันแหล่งน้ำและโป่งช้างก็ลดลงด้วยเช่นกัน สืบเนื่องจากได้รับผลกระทบจากสภาพภูมิอากาศที่มีการเปลี่ยนแปลงไป จึงทำให้ช้างป่าที่มีจำนวนมากขึ้นต้องออกมาหากินยังพื้นที่ด้านล่าง ขณะที่ช้างป่านั้นเป็นสัตว์ที่หากินในพื้นที่ราบ ซึ่งในพื้นที่เขตอุทยานฯ ฝั่งจังหวัดนครนายก จะเป็นลักษณะผาหิน มีน้ำตกจำนวนมาก ทำให้ช้างป่าอุทยานฯ ที่มีลูกเล็ก เลี่ยงที่จะไปยังพื้นที่อันตราย และพากันลงมายังพื้นที่ด้านล่างเพื่อหากิน 

...

นายสัตวแพทย์ประจำกรมอุทยานฯ กล่าวต่อว่า จากการได้รับข้อมูลจากชาวบ้านและเจ้าหน้าที่อุทยานฯ ที่เก็บภาพและติดตามพฤติกรรมช้างป่าในพื้นที่ตำบลสาริกา สามารถแยกช้างที่ลงมาได้ 3 กลุ่ม คือ 

- กลุ่มตัวผู้ใหม่ ที่ยังไม่เคยมีการทำประวัติ ที่แยกออกมาจากฝูง หลังเจริญเติบโตเต็มที่ โดยจะอาศัยตามแหล่งน้ำ เพราะช้างจะขาดน้ำได้ไม่เกิน 2 ชั่วโมง 
- กลุ่มช้างฝูง ที่จะมีจ่าฝูงและลูกช้าง ที่จะออกมาหากินในพื้นที่ราบ โล่ง จึงพบเห็นตามรีสอร์ตและสวนของชาวบ้านที่อยู่บริเวณแนวเขตติดต่ออุทยานฯ 
- และกลุ่มที่สาม เป็นช้างป่า 2 ตัว มีความแปลก คือเป็นตัวผู้ทั้งสอง ที่มีตัวหนึ่งมีอาการเจ็บป่วย ลักษณะตาบอดหรือเป็นต้อที่ตา 1 ข้าง โดยพฤติกรรมของช้างป่าเพศผู้ทั้งสอง จะเป็นการพากันออกหากิน โดยช้างตัวแรกที่ปกติจะให้ช้างอีกตัวใช้งวงจับที่หางนำทางออกหากิน ซึ่งเป็นเรื่องแปลกที่จะพบช้างป่าเพศผู้จะอาศัยอยู่ด้วยกัน

ด้านหมอล็อต ระบุว่า หลังจากได้เข้าประชุมกับชาวบ้าน เห็นตรงกันว่า สาเหตุที่ช้างป่าลงมาในพื้นที่ คาดว่าแหล่งน้ำแหล่งอาหารของช้างเกิดปัญหา และจากการสำรวจก็เป็นเช่นนั้นจริงๆ จากการเพิ่มและแพร่กระจายของต้นสาบเสือ ซึ่งเป็นพืชต่างถิ่น ทำให้แหล่งทุ่งหญ้าที่เป็นแหล่งอาหารที่สำคัญของช้างป่าลดหายลง ซึ่งสวนทางกับจำนวนประชากรช้างที่เพิ่มขึ้น ทำให้เกิดความไม่สมดุล แหล่งทุ่งหญ้าลดหายลงจากการขึ้นของวัชพืชต้นสาบเสือ แหล่งดินโป่งที่เสื่อมสลายไปตามธรรมชาติเริ่มน้อยลงจนไม่เพียงพอต่อประชากรช้าง และแหล่งน้ำที่ควรจะใกล้แหล่งทุ่งหญ้าก็ลดน้อยลง

"สถานการณ์ช้างในพื้นที่ ทำให้ทางเจ้าหน้าที่อุ่นใจได้และชื่นชมชาวบ้านในพื้นที่ คือ ชาวบ้านในพื้นที่แห่งนี้คือยังไม่มีการทำร้ายช้างเกิดขึ้น ซึ่งเป็นเหตุผลที่ช้างป่าจะไม่ทำร้ายมนุษย์ โดยชาวบ้านในพื้นที่หากเจอช้างลงมาในพื้นที่กินผลผลิตก็จะปล่อยไป ซึ่งทำให้เห็นว่าคนในพื้นที่นั้นรัก อนุรักษ์ และหวงแหนช้าง จึงไม่เกิดการทำลายช้าง ซึ่งในฐานะที่เราเป็นข้าราชการก็ต้องหาทางออกอย่างไรทำให้ช้างกลับเข้าไปอยู่ในพื้นที่ของเขาและคนอยู่ในพื้นที่ของคนอย่างปลอดภัย ดังนั้นในเรื่องของมาตรการในการผลักดัน สิ่งสำคัญคือ สภาพแวดล้อมมีผลต่อการกำหนดพฤติกรรมของช้างเป็นอย่างมาก หากทำให้ช้างเกิดความตื่นตระหนกตกใจ ก็จะมีพฤติกรรมที่ไม่ดีต่อมนุษย์ ฉะนั้นจึงต้องพยายามควบคุมสถานการณ์ไม่ให้ช้างเกิดความเครียดและหงุดหงิด" นายสัตวแพทย์ประจำกรมอุทยานฯ กล่าว

หมอล็อต กล่าวอีกว่า หลักในการผลักดันช้าง เราต้องรู้แผนที่ มีเส้นทางที่ช้างจะเดินผ่านไปได้ โดยเลี่ยงการจุดประทัดและใช้เสียงปืน ซึ่งวิธีนี้จะเป็นวิธีขั้นปลายที่จะทำ โดยยังมีวิธีอีกหลากหลายวิธีในการผลักดันช้าง เช่น การปรากฏตัวของเจ้าหน้าที่ที่มีชุดลายพราง ซึ่งช้างจะมีปฏิกิริยาที่จะต้องหนีและเดินเข้าป่า การปรบมือ การส่งเสียงดัง เคาะไม้ ตีวัตถุให้เกิดเสียง เป็นขั้นเริ่มต้นก่อน เนื่องจากพื้นที่จังหวัดนครนายกบริเวณแถบนี้เป็นพื้นที่รีสอร์ต หากมีการใช้ประทัดหรือเสียงปืน จะเป็นการรบกวนนักท่องเที่ยวและกระทบต่อการท่องเที่ยว 

...

นายสัตวแพทย์ประจำกรมอุทยานฯ กล่าวด้วยว่า ส่วนในระยะยาวนั้น เมื่อไรที่มีการเข้าไปทำแหล่งน้ำแหล่งอาหารในพื้นที่บ้านของเขา และเมื่อไรที่เขากลับเข้าไปแล้วก็ถือว่าเป็นกิจกรรมที่คนและช้างอยู่ในระบบนิเวศสิ่งแวดล้อมที่เหมาะสมซึ่งกันและกัน นี่คือแนวทางการจัดการของจังหวัดนครนายกที่ไม่เหมือนที่อื่น โดยทางเจ้าหน้าที่พยายามถอดบทเรียนจากหลายๆ พื้นที่ เพื่อนำมาประยุกต์ใช้กับที่นี่และนำการประยุกต์ใช้จากที่นี่ไปเป็นโมเดลในการบริหารจัดการปัญหาช้างป่าที่ลงมาในพื้นที่ชุมชนกับพื้นที่อื่นๆ ต่อไป ซึ่งจุดเริ่มต้นที่แห่งนี้คือ นครนายก โมเดล.