ผวจ.เพชรบุรี สั่งกรมศิลปากร ชะลอการบูรณะองค์พระโบราณในถ้ำเขาหลวงแล้ว หลังตอบในที่ประชุมคณะกรรมการจังหวัดไม่ได้ว่า รักและทองที่นำมาปิดองค์พระตรงสเปคหรือไม่ วิจารณ์หึ่งใช้ของไร้คุณภาพ ทำถ้ำเขาหลวงหมดคุณค่า

จากกรณีกลุ่มอนุรักษ์ศิลปวัฒนธรรมเมืองเพชร นำโดย ศาสตราภิชาน ล้อม เพ็งแก้ว และคณะช่างเมืองเพชรแสดงความห่วงใยต่อกรมศิลปากร ที่ดำเนินการรื้ออิฐเก่าปูทางเดินและพื้นกระเบื้องดินเผาโบราณสมัยรัชกาลที่ 4 ภายใน ถ้ำเขาหลวง ต.ธงชัย อ.เมือง จ.เพชรบุรี ในโครงการอนุรักษ์โบราณสถานถ้ำเขาหลวง จังหวัดเพชรบุรี แม้ว่า นายอนันต์ ชูโชติ อธิบดีกรมศิลปากร ได้ทำหนังสือชี้แจงเรื่องดังกล่าวว่า ทำการรื้อถอนอิฐและกระเบื้องโบราณ ซึ่งเปื่อยยุ่ยและมีความชื้น ขัดจากความเป็นจริงเนื่องจากอิฐและกระเบื้องโบราณภายในถ้ำไม่ได้ชำรุดทั้งหมด มีส่วนหนึ่งที่ชำรุดเสียหายตามกาลเวลา แต่ถูกผู้รับจ้างทำการรื้อถอนจนเสียหายเกือบทั้งหมด โดยอ้างเหตุผลในการรื้อถอนอิฐเก่าว่า ดำเนินการไปตามหลักการบูรณะโบราณสถาน กระทั่ง นางฉัตรพร ราษฎร์ดุษดี ผู้ว่าราชการจังหวัดเพชรบุรี ได้ออกคำสั่งแต่งตั้งคณะกรรมการดูแลตรวจสอบการบูรณะซ่อมแซมโบราณสถานในจังหวัดเพชรบุรี ไปเมื่อวานนี้ พร้อมเรียกประชุมด่วนทันที ในวันนี้ 2 ส.ค.2560 เพื่อแก้ปัญหาการบูรณะโบราณสถานภายในถ้ำเขาหลวง

ล่าสุด วันนี้ เวลา 13.30 น. ที่ห้องประชุมปฏิบัติการ ศาลากลางจังหวัด ได้มีการประชุมคณะกรรมการชุดดังกล่าว ประกอบไปด้วยผู้ทรงคุณวุฒิจากหลายด้าน รวมทั้งครูช่างเมืองเพชร ที่มีความเชี่ยวชาญเรื่องการซ่อมแซมและบูรณะโบราณสถาน ที่ประกอบไปด้วย อ.ทองร่วง เอมโอษฐ์ ศิลปินแห่งชาติ จ.เพชรบุรี อ.สำรวย เอมโอษฐ์ ครูช่างปูนปั้นเมืองเพชร อ.แสนประเสริฐ ปานเนียม ผอ.สถาบันวิจัยและส่งเสริมศิลปวัฒนธรรม มหาวิทยาลัยราชภัฏเพชรบุรี นายธานินทร์ ชื่นใจ ช่างลายรดน้ำ ฯลฯ และได้เชิญนายสุวิทย์ ชัยมงคล ผู้อำนวยการสำนักศิลปากรที่ 1 ราชบุรี พร้อมด้วยสถาปนิกและผู้เชี่ยวชาญมาร่วมประชุมที่จัดทำรายละเอียด ในการบูรณะโบราณสถานถ้ำเขาหลวง มาร่วมประชุมชี้แจงรายละเอียดในการทำงาน โดยมีนางฉัตรพร ราษฎร์ดุษดี ผู้ว่าราชการจังหวัดเพชรบุรี เป็นประธานในที่ประชุม และมีนายพงศ์รัตน์ ภิรมย์รัตน์ รอง ผวจ.เพชรบุรี รวมทั้ง น.ส.ประภาพรรณ ศรีสุข หัวหน้าพิพิธภัณฑสถานแห่งชาติพระนครคีรี นายประหยัด แสงหิรัญ นายก อบต.ธงชัย และนางศรีสมร เทพสุวรรณ์ วัฒนธรรมจังหวัดเพชรบุรี ร่วมประชุมในครั้งนี้ด้วย

...

โดยนายสุวิทย์ ชัยมงคล ผู้อำนวยการสำนักศิลปากรที่ 1 ราชบุรี ชี้แจงว่า โครงการบูรณะโบราณสถานถ้ำเขาหลวง ต.ธงชัย อ.เมือง จ.เพชรบุรี ได้รับงบประมาณจากจังหวัดเพชรบุรี เป็นจำนวนเงิน 16 ล้านบาทเศษ ในการพัฒนาโบราณสถานเพื่อเพิ่มศักยภาพแหล่งท่องเที่ยวให้ได้รับมาตรฐานสากล ขอบเขตการดำเนินงานประกอบด้วย 1) การบูรณะเจดีย์ราย จำนวน 6 องค์ 2) บูรณะฐานซุกซีและฐานพระพร้อมอนุรักษ์พระพุทธรูป จำนวน 10 กลุ่ม 3) บูรณะพื้นลานปูอิฐและปูกระเบื้องดินเผา 4) บูรณะบันไดทางขึ้น-ลง และกำแพงซุ้มโค้งภายในถ้ำ 5) ปรับปรุงระบบไฟฟ้าแสงสว่างพร้อมขยายเขตไฟฟ้า 3 เฟส และติดตั้งหม้อแปลงไฟฟ้า 6) จัดทำป้ายบรรยาย ระยะเวลาดำเนินงาน 24 เมษายน – 20 ธันวาคม 2560 รวมระยะเวลา 270 วัน

ซึ่งมีการทำงานในงวดแรกโดยได้ดำเนินการรื้ออิฐเก่าปูพื้นทางเดินภายในถ้ำ และปูด้วยอิฐใหม่เป็นที่เรียบร้อยแล้ว เนื่องจากอิฐเก่ามีสภาพชำรุดเปื่อยยุ่ย และมีความชื้นสูง จึงดำเนินการซ่อมเปลี่ยนตามหลักการบูรณะโดยทั่วไป ส่วนพื้นกระเบื้องดินเผา ซึ่งเป็นของสมัยรัชกาลที่ 4 ที่ทำการรื้อถอนออกไปเพียงบางส่วนนั้น ได้สั่งให้ผู้รับเหมานำกลับมาปูที่เดิม ขณะที่พื้นกระเบื้องดินเผาโบราณส่วนใหญ่ภายในถ้ำเขาหลวงยังมิได้รื้อถอนแต่อย่างใด ขณะนี้อยู่ในระหว่างสำรวจจัดทำแผนผังรายละเอียดในการซ่อมแซม เนื่องจากพบว่า กระเบื้องเก่าบางส่วนมีร่องรอยแตกชำรุดเสียหาย ซึ่งในที่ประชุมได้ซักถามอย่างกว้างขวางว่า บางแห่งไม่ชำรุดเสียหายแต่ช่างผู้รับจ้างทำการรื้อถอนออกหมด และขณะทำการรื้อถอนก็ทำแบบลวกๆ ทำให้เกิดความเสียหาย

ซึ่งคณะกรรมการมีมติในที่ประชุม ให้นำกระเบื้องดินเผา หรือ กระเบื้องหน้าวัว ของโบราณสมัยรัชกาลที่ 4 บริเวณหน้าพระพุทธรูปฉลองพระองค์รัชกาลที่ 4 ที่ดำเนินการรื้อออกไปนั้น ให้นำกระเบื้องที่มีสภาพดีกลับมาปูพื้นตามเดิม ส่วนที่เสียหายให้ใช้กระเบื้องใหม่ซ่อมเปลี่ยนทดแทน

ส่วนกระเบื้องดินเผา หรือ กระเบื้องหน้าวัว ของโบราณสมัยรัชกาลที่ 4 บริเวณโถงถ้ำเขาหลวง ให้ทำการสำรวจกระเบื้องที่มีสภาพชำรุดแตกหักเสียหาย และปรับแก้ไขพื้นที่มีความทรุดเอียง โดยทำการ Shop Drawing เพื่อคำนวณพื้นที่จะทำการซ่อมเปลี่ยนกระเบื้อง ทั้งนี้ ให้กรมศิลปากร รักษากระเบื้องดินเผาของโบราณไว้ให้ได้มากที่สุด

ประเด็นต่อมา มีการสอบถามกันอย่างมาก เรื่องการบูรณะพระแทนพระองค์สมัยรัชกาลที่ 4-5 และพระบรมวงศานุวงค์ ภายในถ้ำ ว่า ทำการขูดลองทองเก่า และทำการลงรักปิดทองเสียใหม่จำนวนมาก ซึ่งพบว่า การทำงานของช่างไม่ประณีต ประกอบกับภายในถ้ำมีความชื้น และไม่พบว่าช่างที่ทำการลงรักปิดทององค์พระทำการตัดความชื้นขององค์พระก่อนลงรักษ์และปิดทอง อีกทั้งรักและทองที่นำมาใช้ เป็นทองแว๊ป ที่ไม่เคยเห็นมีการใช้ในการปิดทององค์พระ ประกอบกับรักที่นำมาใช้ ไม่มีคุณภาพ

และเมื่อสอบถามว่า รักและทองที่นำมาใช้ถูกสเปคหรือไม่ ปรากฏว่า ทางผู้แทนกรมศิลปากรไม่สามารถตอบได้ ทำให้ในที่ประชุมถึงกับงงในคำตอบของผู้แทนกรมศิลป์ว่า จะให้ผู้เชี่ยวชาญลงมาชี้แจง ซึ่งทำให้คณะกรรมการฯและนายพงศ์รัตน์ ภิรมย์รัตน์ รอง ผวจ.เพชรบุรี ต่างงุนงง เนื่องจากในสัญญาจ้างทุกสัญญาจะระบุไว้ในขั้นตอนการทำงานทุกสัญญาจ้างว่า ทุกครั้งจะต้องมีการขออนุมัติใช้วัสดุ เพื่อให้คณะกรรมการตรวจการจ้างตรวจสอบเสียก่อนที่จะอนุญาตให้นำไปใช้ แต่พบว่าองค์พระจำนวนมาก ที่ถูกบูรณะถูกลอกทองเก่าออกและทำการลงรักปิดทองใหม่เกือบหมดแล้ว แต่ไม่สามารถตอบได้ว่า ถูกสเปคหรือไม่ จึงทำให้ นายพงศ์รัตน์ เสนอเป็นมติคณะกรรมการฯให้ผวจ.สั่งให้ชะลอในส่วนของการบูรณะองค์พระภายในถ้ำทั้งหมดก่อน จนกว่าจะนำผู้เชี่ยวชาญลงมาชี้แจงให้ได้ว่า ถูกต้องตามสเปคหรือไม่ รวมทั้งยังเน้นย้ำในการบูรณะองค์พระที่ยังเหลืออยู่ ให้ปรับเปลี่ยนวิธีการบูรณะด้วยการใช้วิธีการทำความสะอาดด้วยวิธีทางวิทยาศาสตร์ โดยไม่ให้มีการลอกทองและลงรักปิดทองใหม่ตามที่ถูกวิพากษ์วิจารณ์อีก และในการประชุมครั้งถัดไป คือ วันที่ 7 สิงหาคม ให้เรียกประชุมคณะกรรมการชุดนี้ พร้อมด้วยผู้เชี่ยวชาญของกรมศิลปากร ที่จะมาชี้แจงเรื่องการลงรักปิดทอง และการติดตั้งไฟแสงสว่างภายในถ้ำ ซึ่งมีวงเงินงบประมาณเรื่องไฟถึง 7 ล้านบาท ว่า มีการกำหนดขอบเขตงานไฟแสงสว่างอย่างไร เหมาะสมหรือไม่ เพราะหากมีการไปประดับไฟ จนระยิบระยับ ก็จะทำให้ความเป็นถ้ำของเขาหลวงหมดคุณค่า และความงดงามลงไปอีก เนื่องจากภายในถ้ำมีช่องแสงสว่างที่ลอดลงมาภายในห้องโถงใหญ่ ซึ่งมีความสวยงามและเป็นธรรมชาติอาจขัดแย้งกัน รวมทั้งการวางสายไฟจะวางอย่างไร ที่ไม่ให้กระทบต่อหินงอกและหินย้อยอีกด้วย จากนั้น ผวจ.เพชรบุรี ได้ปิดประชุม

...

มีรายงานว่า ขณะเริ่มประชุม อ.แสนประเสริฐ ปานเนียม ผอ.สถาบันวิจัยและส่งเสริมศิลปวัฒนธรรม ได้ขอให้ทาง นายสุวิทย์ ชัยมงคล ผู้อำนวยการสำนักศิลปากรที่ 1 ราชบุรี ถ่ายสัญญาจ้างและแบบรูปรายการเพื่อให้คณะกรรมการได้ดูว่า ได้มีการกำหนดขอบเขตงานอะไรบ้าง ในวงเงิน 16 ล้านบาท เพื่อจะได้พิจารณาเป็นรายเนื้องานไป แต่ถูกนายสุวิทย์ ปฏิเสธ แม้กระทั่งรองผวจ.เพชรบุรี เอง ได้ขอเพื่อจะได้นำไปศึกษารายละเอียดล่วงหน้า ก่อนการประชุมครั้งต่อไป แต่ก็ถูกนายสุวิทย์ แจ้งว่า ให้ทำหนังสือขออย่างเป็นทางการ สร้างความไม่พอใจให้กับคณะกรรมการฯ ที่ถูกแต่งตั้งจากคำสั่งของผวจ.เพชรบุรี ต่างไม่พอใจและบอกว่าทางกรมศิลป์ไม่จริงใจในการแก้ไขปัญหาที่เกิดขึ้น พร้อมทั้งมีการปกปิดสัญญาจ้างที่อาจมีปัญหาในระหว่างการทำงานที่จะเกิดขึ้นต่อไป ในงวดงานข้างหน้า ซึ่งต่างก็แยกย้ายกันกลับไปด้วยความไม่พอใจ กระทั่งมีบางรายถึงกลับจะเสนอให้ ป.ป.ช.เข้ามาทำการตรวจสอบสัญญาจ้างของโครงการนี้ว่า มีความผิดปกติหรือไม่ ต่อไป.