หนุ่มวัย 24 ปีพร้อมทนาย และญาติ เจรจาโรงพยาบาลเอกชนชื่อดังย่านอ้อมน้อย จ.สมุทรสาคร อ้างถูกตัดขาเพราะไม่มีเงินแสน ขณะที่ตัวแทนโรงพยาบาลแจงทำตามขั้นตอนการรักษาที่ถูกต้องทุกประการ

เมื่อวันที่ 2 ส.ค. 60 ผู้สื่อข่าวรายงานว่า นายษิทรา เบี้ยบังเกิด หรือ ทนายตั้ม เลขาธิการมูลนิธิทนายประชาชน พร้อมด้วยนายอภิรมย์ (ขอสงวนนามสกุล) อายุ 25 ปี หนุ่มผู้โชคร้ายที่ประสบอุบัติเหตุ จนต้องถูกตัดขาทิ้ง โดยผู้เสียหายอ้างว่าไม่มีเงินจำนวน 1 แสนบาท มาจ่ายให้กับโรงพยาบาลเอกชนแห่งหนึ่งจนต้องเสียขา ได้เดินทางมาที่โรงพยาบาลพร้อมกับญาติๆ เพื่อรับฟังการชี้แจงแนวทางการรักษาทางการแพทย์ และขั้นตอนในการดูแลเยียวยาจิตใจคนไข้

ทั้งนี้ ตัวแทนแพทย์ของโรงพยาบาลเอกชนย่านอ้อมน้อย อ.กระทุ่มแบน จ.สมุทรสาคร ได้นำทีมแพทย์ผู้ชำนาญงานมาร่วมชี้แจงด้วย แต่ไม่อนุญาตให้สื่อมวลชนเข้าไปรับฟังการพูดคุยระหว่างทั้งสองฝ่าย โดยใช้เวลาชี้แจงและพูดคุยกันนานกว่า 2 ชั่วโมง

กระทั่งเวลาประมาณ 12.30 น. จึงได้ออกมาจากห้องประชุม และแต่ละฝ่าย ทั้งทางด้านคนไข้กับทนายความ และทางคณะผู้บริหารโรงพยาบาล ต่างฝ่ายต่างก็ได้แยกย้ายกันให้สัมภาษณ์กับสื่อมวลชน ซึ่งผลสรุปคือก็ยังหาข้อยุติที่ลงตัวร่วมกันไม่ได้

นายอภิรมย์ กล่าวว่า ตนเองรู้สึกยังไม่พอใจกับสิ่งที่ทางโรงพยาบาลฯ ออกมาชี้แจง เพราะโรงพยาบาลบอกให้รับทราบเพียงแค่ขั้นตอนการรักษาทางการแพทย์เท่านั้น ซึ่งทางโรงพยาบาล ก็ยืนยันว่าทำถูกต้องแล้วทุกอย่าง

ส่วนเรื่องการเรียกเงินแสนนั้น โรงพยาบาลไม่ได้พูดถึง แต่บอกเพียงแค่ว่า หากแพทย์พูดจริง ก็ถือว่าไม่มีจรรยาบรรณของแพทย์เท่านั้น และยืนยันว่าได้ทำถูกต้องตามขั้นตอนทุกอย่าง ดังนั้นจึงไม่จำเป็นต้องรับผิดชอบเยียวยาแต่อย่างใด และไม่ได้มีการนัดมาพูดคุยใดๆ อีก

...

ทั้งนี้ ตนและครอบครัวเสียความรู้สึกเป็นอย่างมาก ว่าทำไมคณะผู้บริหาร ถึงไม่พาแพทย์ที่ทำการตรวจรักษาในวันนั้น มาพูดคุยด้วย ซึ่งพอถามถึงทางโรงพยาบาลก็บอกว่า แพทย์คนดังกล่าวเป็นแพทย์ พาร์ตไทม์ และทำไมเมื่อตรวจสอบสิทธิ์เจอว่า ตนเองมีสิทธิ์อยู่ที่โรงพยาบาลอีกแห่ง แต่ทำไมถึงไม่ส่งตัวไปทันที

อีกทั้งตรวจวินิจฉัยอย่างไร ทำไมถึงไม่พบว่าเส้นเลือดที่ขาขาด ซึ่งตรงนี้ก็คงจะเดินหน้าสู้ต่อไป เพื่อขอความเป็นธรรมให้เกิดขึ้นกับตนเองและคนในครอบครัว โดยต้องขอให้ทางทีมงานทนายประชาชนเป็นผู้ช่วยเหลือทางด้านกฎหมาย เพราะพวกตนไม่มีเงินและไม่มีความรู้ทางด้านกฎหมายแต่อย่างใดทั้งสิ้น

ขณะที่นายษิทรา ทนายของผู้เสียหาย กล่าวว่า หลังจากที่รับฟังการชี้แจงแล้ว ก็จะได้ไปศึกษาข้อกฎหมายก่อน แต่ที่ศึกษามาก่อนหน้านี้พบว่า มีฎีกาอยู่ว่าถ้าโรงพยาบาลไม่รักษาคนไข้ ทางคนไข้สามารถที่จะฟ้องละเมิดได้ ซึ่งเคยมีเกิดขึ้นแล้วที่โรงพยาบาลแห่งหนึ่ง ดังนั้นก็จะนำเคสดังกล่าวมาเป็นเคสตัวอย่าง เพื่อเดินหน้าในเรื่องคดีและการช่วยเหลือครอบครัวของน้องคนไข้ต่อไป

ทั้งนี้ ผู้อำนวยการของโรงพยาบาลดังกล่าว เปิดเผยกับผู้สื่อข่าวว่า เหตุการณ์ดังกล่าว เกิดขึ้นเมื่อวันที่ 6 ก.ค. 60 เวลาประมาณ 20.44 น. ที่โรงพยาบาลได้รับผู้บาดเจ็บเข้ามาดูแลรักษา จากการประสบอุบัติเหตุนั้น ทางโรงพยาบาลได้ดูแลตามกระบวนการทางการแพทย์ที่ถูกต้องทุกขั้นตอน

อย่างไรก็ตาม ผู้บาดเจ็บมีอาการลมออกจากปอดขั้นรุนแรงทำให้เสียชีวิตได้ จึงต้องทำการรักษาก่อน อีกทั้งยังได้มีการตรวจเอกซเรย์ส่วนอื่นๆ ของร่างกายที่คาดว่าจะได้รับความกระทบกระเทือนด้วย ขณะที่เรื่องของกระดูกหักนั้นไม่ได้มีแผลฉีกขาด จึงสามารถทำการรักษาทีหลังได้

ขณะเดียวกัน ในเวลาต่อมาก็พบว่า ที่ปลายเท้าผู้บาดเจ็บมีอาการชาและเริ่มเขียวบวม จึงได้ทำการตรวจ พบว่า เส้นเลือดที่ขาขาด ก็ได้เรียกทางครอบครัวมาชี้แจงให้ฟัง ซึ่งหากนำผู้บาดเจ็บเข้ารับการรักษาที่โรงพยาบาลตามสิทธิประกันสังคม ก็จะช่วยประหยัดค่าใช้จ่ายได้มากกว่า โดยทางครอบครัวก็ยินดีให้ส่งตัวไปรักษา

สำหรับในขั้นตอนการรักษาจากทีมแพทย์โรงพยาบาลนั้น ทำถูกต้องทุกอย่าง ทุกขั้นตอน ส่วนผลที่ออกมานั้นแพทย์ถือว่าทำดีที่สุดแล้ว อย่างเช่นในกรณีคนไข้รายนี้ แพทย์ทำถูกต้องทั้งหมด จึงไม่ต้องรับผิดชอบที่จะต้องเยียวยาผู้เสียหาย

ทั้งนี้ จะได้มีการปรึกษาหารือกับทางคณะผู้บริหารฯ ระดับสูงอีกครั้งหนึ่ง ว่าจะดำเนินการอย่างไรต่อไปหรือไม่ โดยหลังจากเป็นข่าวออกไปแล้ว ทางโรงพยาบาล ก็รู้สึกว่าอยากจะชี้แจงให้สังคมรับทราบการทำงานของแพทย์บ้าง เพื่อให้เกิดความเป็นธรรมแก่โรงพยาบาล