ชาวสวนประจวบคีรีขันธ์ ผู้ปลูกสับปะรดโวยสับปะรดพันธุ์ใหม่ สยามโกลด์ที่หน่วยงานรัฐส่งเสริม ราคาไม่ดีจริงขาดตลาดรองรับ ปลูกแล้วขายไม่ได้ต้องปล่อยให้เน่าคาไร่ โดยสู้พันธุ์ปัตตาเวียไม่ได้ เพราะส่งขายให้โรงงานง่ายกว่า...

กรณี สำนักงานเกษตรจังหวัดประจวบคีรีขันธ์ ส่งเสริมให้เกษตรกรในพื้นที่อำเภอเมืองประจวบคีรีขันธ์ ปลูกสับปะรดพันธุ์เอ็มดีทู(MD2) ในชื่อทางการตลาดว่า สยามโกลด์ เมื่อกลางปี 2559 โดยได้แจกหน่อพันธุ์ให้เกษตรกร นำไปทดลองปลูก เพื่อทดแทนสับปะรดพันธุ์ปัตตาเวียสำหรับส่งโรงงานแปรรูปสับปะรดกระป๋อง ที่ราคาแปรปรวนตามกลไลตลาดเมื่อผลผลิตออกมามาก เป็นสับปะรดบริโภคผลสด ที่ตั้งเป้าราคาสูงถึงกิโลกรัมละ 25-30 บาท ภายหลังผลผลิตออก กลับไม่มีตลาดรองรับ ไม่มีเจ้าภาพหลักเพื่อรวบรวมผลผลิตของเกษตรส่งถึงมือผู้บริโภค ส่งผลให้แปลงเพาะปลูกที่มีสับปะรดเน่าคาต้น ซ้ำร้ายพ่อค้าคนกลางกดราคาเหลือ 5 บาท เกษตรกรกังวลสับปะรดพันธุ์ใหม่ไม่เหมือนราคาคุย

นายสมจิตร งุ่ยไก่ เกษตรกรชาวสวนสับปะรด ต.อ่าวน้อย อ.เมืองประจวบคีรีขันธ์ เปิดเผยว่า นโยบายการสนับสนุนการเพาะปลูกสับปะรดพันธุ์เอ็มดีทูทดแทนพันธุ์ปัตตาเวียถือเป็นเรื่องดี เพราะเป็นช่องทางทดแทนราคาผันผวนของสับปะรดโรงงานได้ เมื่อครั้งที่ สำนักงานเกษตรจังหวัดประจวบคีรีขันธ์ ให้หน่อพันธุ์เอ็มดีทูเมื่อเดือนพฤษภาคม 2559 จำนวน 2,000 หน่อ ได้นำลงแปลงปลูกขนาด 2 งาน เมื่อถึงเวลาผลผลิตออกมาในเดือนพฤษภาคมถึงกรกฎาคมปีนี้ ปรากฏว่าไม่สามารถหาช่องทางจัดจำหน่ายได้ ซึ่งตามเป้าหมายที่ สนง.เกษตร ให้ความหวังแก่เกษตรกรว่า ห้างสรรพสินค้าขนาดใหญ่จะรับซื้อในกิโลกรัมละ 25 บาท แต่เกษตรกรที่เริ่มทดลองปลูกครั้งแรก จำนวน 10 รายในอำเภอเมืองประจวบคีรีขันธ์ กลับไม่สามารถส่งผลผลิตได้ เพราะห้างเองก็จำกัดปริมาณการรับซื้อ ไม่ได้มากมายเหมือนตอนแนะนำให้ปลูก

หากนำส่งโรงงานแปรรูปสับปะรดกระป๋อง ก็ถูกปฏิเสธการรับซื้อ เนื่องจากสีและรสชาติของทั้งสองพันธุ์แตกต่างกัน ไม่ได้มาตรฐานสับปะรดกระป๋องส่งออก หรือส่งพ่อค้าแผงรับซื้อ ก็ถูกกดราคาเหลือเพียง 5 บาท จึงทำให้เกษตรกรที่เหลือยอมปล่อยให้เน่าคาต้นดีกว่าถูกกดราคา ที่ผ่านมาสูญเสียผลผลิตนับสิบตัน ทั้งวิธีการปลูกก็ยุ่งยากกว่าพันธุ์ปัตตาเวีย และต้นทุนสูงกว่า ในขณะที่หน่อสับปะรดที่ทางราชการจัดซื้อแจกจ่ายให้เกษตรกรในราคาหน่อละ 30 บาทนั้น เมื่อเกษตรกรปลูกได้ผลผลิตต้องคืนหน่อพันธุ์นั้นให้สำนักงานเกษตรเพื่อนำไปแจกจ่ายเป็นการขยายกลุ่มผู้ปลูกต่อไป

...


น.ส.สายฝน อ้นสะอาด เจ้าของสวนสับปะรด หมู่ 9 ต.อ่าวน้อย อ.เมืองประจวบคีรีขันธ์ กล่าวว่า เมื่อแรกส่งเสริมพันธุ์เอ็มดีทู ถือเป็นความหวังของเกษตรกรในการปลูกสับปะรดที่มีราคาสูง แต่เมื่อผลผลิตออกมากลับไม่สามารถทำราคาได้ จากราคาเป้าหมาย 25-30 บาท ปัจจุบันราคาหน้าสวนอยู่ที่ 15 บาทต่อกิโลกรัม เห็นได้ว่าราคาสูงกว่าปัตตาเวียที่ขายอยู่ที่ 3 – 4 บาทจริง แต่ผลผลิตที่ออกมาขายไม่ได้หรือไม่มีคนซื้อ หน้าแปลงปลูกถูกปล่อยในสับปะรดเน่าคาต้น เพราะถูกกดราคาต่อรองเหลือราคาใกล้เคียงสับปะรดโรงงาน บางรายต้องนำไปทำสับปะรดกวน ส่วนหน่อพันธุ์ที่จะขายก็ยังถูกกดราคาเหลือเพียง 5 บาทจากราคา 30 บาท หากหน่วยงานเกษตรต้องการส่งเสริมให้เพาะปลูก ซึ่งเกษตรกรในตำบลอ่าวน้อยทดลองปลูกตามคำแนะนำ เพราะหวังว่าราคาดี ก็ควรหาช่องทางการตลาด การจัดจำหน่ายถึงมือผู้บริโภคโดยตรง

หากสอบถามผู้บริโภคซึ่งเป็นปลายทางในการเลือกซื้อสับปะรด เมื่อเทียบราคาและชื่อเสียงแล้ว สยามโกลด์ยังไม่ถูกวางจำหน่ายอย่างแพร่หลาย เมื่อคนกินไม่รู้จักซ้ำราคายังสูงกว่า พ่อค้าคนกลางกดราคา จึงเป็นอุปสรรคที่สำคัญที่จะทำให้สับปะรดสยามโกลด์เติบโตได้ ในที่สุดเกษตรกรจำใจเลิกปลูก เพราะปลูกปัตตาเวียส่งโรงงานง่ายกว่า มีตลาดรองรับที่แน่นอน ปลูกแล้วขายได้

สำหรับสับปะรดพันธุ์ปัตตาเวีย มีพื้นที่เพาะปลูกในจังหวัดประจวบคีรีขันธ์ ขนาด 500,000 ไร่ มีโรงงานแปรรูปสับปะรดกระป๋องประมาณ 20 โรงงาน เป็นจังหวัดที่ปลูกสับปะรดและส่งออกสับปะรดมากที่สุดในโลก ในขณะที่พันธุ์เอ็มดีทูมีผู้เพาะปลูกประมาณ 100 ไร่ หรือเพียงแค่ร้อยละ 0.0002 ของพื้นที่ปลูกสับปะรดทั้งหมด

ทั้งนี้ สับปะรดพันธุ์เอ็มดีทู (MD2) ถูกพัฒนาสายพันธุ์ โดยบริษัท Del Monte ในมลรัฐฮาวาย ซึ่งเป็น 1 ใน 2 บริษัทผู้ผลิตสับปะรดใหญ่ที่สุดในโลก ถือสิทธิบัตรการพัฒนาสายพันธุ์ MD2 หรือในชื่อการค้า Del Monte Gold pineapple และเมื่อลิขสิทธิ์การผลิตหมดอายุลง สายพันธุ์จึงถูกนำมาปลูกโดยบริษัทต่าง ในชื่อการค้าที่แตกต่างกัน เช่น หอมสุวรรณ ชื่อทางการค้าของบริษัททิปโก้ เหลืองสามร้อยยอด หอมทองเมืองราช และสยามโกลด์.