ถามตรงๆ กับจอมขวัญ เสนอกรณีแรงงานต่างด้าวนับแสนไหลออกนอกประเทศ หลังมี พ.ร.ก.ต่างด้าว ผู้เกี่ยวข้องแนะ เปิดขึ้นทะเบียนรอบใหม่ ชง ก.แรงงาน ทำเรื่องถึง ตร. อย่าเพิ่งจับกุม ให้พ้นระยะผ่อนผันไปก่อน
วันที่ 5 ก.ค. 60 รายการถามตรงๆ กับจอมขวัญ หลาวเพ็ชร์ วันนี้ นำเสนอกรณีแรงงานต่าวด้าวจำนวนมากกลับประเทศ หลังมีการบังคับใช้ พ.ร.ก.ต่างด้าว โดยมีบทลงโทษปรับนายจ้าง 4-8 แสนบาทต่อแรงงาน 1 คน หากพบการกระทำผิด กระทั่งล่าสุด คสช. มีการใช้ ม.44 ยืดระยะเวลาการบังคับใช้ออกไปเป็น 1 ม.ค. 61

...
นายสมพงศ์ สระแก้ว ผู้อำนวยการมูลนิธิเครือข่ายส่งเสริมคุณภาพชีวิตแรงงาน กล่าวว่า หลังกฎหมายบังคับใช้ มีแรงงานต่างด้าวออกจากไทยไปแล้วประมาณ 5-6 หมื่นคน แต่หากรวมเส้นทางธรรมชาติด้วยน่าจะรวมแล้วประมาณ 1-2 แสนคน หรือ 10-20% ของแรงงานที่อยู่ในไทย ซึ่งวันนี้มีการเสวนาความเห็นแต่ละฝ่ายในเรื่องดังกล่าว โดยในไทยมีแรงงานเมียนมา ลาว และกัมพูชา ขึ้นทะเบียนทั้งหมด 2.6 ล้านคน แต่แท้จริงอาจจะมี 4-5 ล้านคน รวมที่ไม่ได้ขึ้นทะเบียน และส่วนใหญ่ไม่มีบัตรหรือเอกสารใดๆ ซึ่งสาเหตุส่วนหนึ่งเพราะไม่ได้มีการเปิดให้ขึ้นทะเบียน โดยคนที่ยังอยู่ในไทยอยากให้นายจ้างพาไปดำเนินการที่จัดหางานจังหวัด และในช่วงผ่อนผันนี้อยากให้กระทรวงแรงงานทำหนังสือถึงสำนักงานตำรวจแห่งชาติว่าอย่าเพิ่งจับ เพราะอยากให้คนที่ไม่ถูกกฎหมายขึ้นมาเพื่อทำให้ถูกต้อง

ด้าน นายอดิศร เกิดมงคล ผู้ประสานงานเครือข่างองค์กรด้านประชากรข้ามชาติ ให้ความเห็นว่า ที่แรงงานเดินทางกลับประเทศไปมากเกิดจากเอกสารที่ถืออยู่ไม่ตรงกับประเภทงานที่ทำ จึงรู้สึกว่าทำผิดนายจ้าง ส่วนตัวนายจ้างก็ไม่มั่นใจว่าจ้างถูกประเภทหรือไม่ ในบริษัทหรืออุตสาหกรรมขนาดใหญ่ไม่ค่อยมีปัญหา แต่ทั้งนี้ ปัญหาส่วนหนึ่งมีการรับจ้างเป็นนายจ้างจำนวนมาก ทางการต้องจัดการคนประเภทแบบนี้ด้วย โดยมองว่าการแก้ปัญหาคือ บังคับใช้และจัดการให้แรงงานเข้าสู่ระบบอย่างถูกกฎหมาย ล่าสุด ผู้ประกอบการเสนอให้เปิดจดทะเบียนใหม่ แต่ช่องทางของกระทรวงแรงงาน ยังไม่เปิด จึงจะทำการเปิดศูนย์ให้นายจ้างพาลูกจ้างไปดำเนินการส่งเอกสารไปยังประเทศต้นทางให้ถูกต้อง

ขณะที่ นายโกโกหน่าย กรรมการสมานฉันท์แรงงานข้ามชาติเมียนมาในประเทศไทย อยู่ในเมืองไทยมา 15 ปี เผยว่า ล่าสุดวันนี้ยังมีแรงงานโทรศัพท์มาบอกว่าถูกตำรวจจับในพื้นที่แห่งหนึ่งของภาคใต้ ซึ่งหลังคุยกับตำรวจกลับอ้างว่ายังไม่รู้ว่ามีการขยายเวลา จากนั้นก็ตัดสายและติดต่อแรงงานไม่ได้ ซึ่งหลังประกาศใช้กฎหมาย มีแรงงานทั้งถูกและผิดกฎหมายเดินทางกลับประเทศทางชายแดน อ.แม่สอด จ.ตาก แล้ว 2-3 หมื่นคน นอกจากนี้ มีบริษัทรายย่อยบางรายไม่จ่ายค่าแรง ทำให้แรงงานไม่สามารถกลับบ้านได้ สำหรับการแก้ปัญหาเรื่องการทำงานไม่ตรงนายจ้างนั้น อยากให้นายจ้างเป็นผู้ดำเนินการ เพราะตัวแรงงานไม่สามารถทำเองได้

...
ส่วน นายมินหม่องอู ตัวแทนแรงงานเมียนมาใน จ.สมุทรสาคร โดยเป็นผู้ประสานงานและล่ามร่วมด้วย อยู่ประเทศไทยมา 23 ปี บอกว่า ใน จ.สมุทรสาคร มีแรงงานบางส่วนที่เดินทางกลับประเทศ แต่เพราะส่วนมากเป็นสถานประกอบการขนาดใหญ่จึงมีสวัสดิการคุ้มครอง แรงงานยังอยู่ได้ ในส่วนของรายย่อยมีปัญหาคือ ให้แรงงานกลับไปก่อน ไล่ออก หรือหากมีเอกสารแต่ไม่ถูกประเภท นายจ้างก็ไม่มีค่าชดเชยให้ หลังรับรู้เรื่องกฎหมายดังกล่าวก็รู้สึกเป็นห่วงพี่น้องแรงงาน คิดว่าต้องเดือดร้อนแน่ๆ.