ก.แรงงาน เผย พ.ร.ก.ต่างด้าว บังคับใช้ แรงงานหายไปจำนวนมาก เร่งประเทศต้นทางพิสูจน์สัญชาติ จ่อยกเลิกบัตรสีชมพู หลัง มี.ค. 61 ถามกลับนายจ้างมีจิตสำนึกหรือไม่ ถ้าไม่ทำผิดคงไม่ต้องบังคับใช้
ม.ล.ปุณฑริก สมิติ ปลัดกระทรวงแรงงาน กล่าวว่า การดำเนินการเกี่ยวกับแรงงานต่างด้าวต้องรอ ม.44 แต่มาตราอื่นยังบังคับใช้ปกติ ยืนยันว่า มีมาตรการรองรับการออก พ.ร.ก.การบริหารจัดการแรงงานต่างด้าว อยู่แล้ว อาทิ เปิดให้ภาคส่วนต่างๆ เข้ามามีส่วนร่วม ซึ่งในวันที่ 5 ก.ค. 60 จะจัดงานเสวนา ณ กระทรวงแรงงาน เพื่อทำประชาพิจารณ์รับฟังความเห็น
ทั้งนี้ ยังมีมาตรการรองรับอื่นๆ เช่น ให้ประเทศต้นทางเร่งพิสูจน์สัญชาติ เพื่อออกวีซ่าทำงานให้ โดยเฉพาะผู้ถือบัตรสีชมพูที่จะหมดอายุในวันที่ 31 มี.ค. 61 และแรงงานประมง ที่จะหมดอายุในวันที่ 30 พ.ย. 60 นอกจากนี้ยังมีการออกซีบุ๊ก (Seabook) หรือเอกสารจำกัดการทำงานบนเรือประมง รวมถึงการเจรจาแรงงานแบบจีทูจี รวดเร็ว ไม่เสียค่าใช้จ่าย และไม่มีคนกลาง
“แก้ปัญหาแรงงานต่างด้าวมาตลอด ปีที่แล้วเปิดจดทะเบียนแรงงานต่างด้าว 2 ล้านกว่าคน และเปิดต่อทะเบียนแรงงานต่างด้าวก็หายไปครึ่งหนึ่ง พยายามให้มีการเร่งพิสูจน์สัญชาติ เพื่อจะออกวีซ่าทำงาน ออกเวิร์คพอร์มิต (Work Permit) ให้ทำงาน 2 ปี และยังมีเรื่องอื่นที่ต้องจัดการ ทั้งแก้ปัญหาค้ามนุษย์ สิทธิแรงงานต่างๆ ด้วย” ม.ล.ปุณฑริก กล่าว
ด้าน นายวรานนท์ ปีติวรรณ อธิบดีกรมการจัดหางาน กระทรวงแรงงาน กล่าวว่า กำลังเฝ้ามองดูตัวเลขไหลออกของแรงงานต่างด้าว หลังมีข่าว ม.44 ตัวเลขเริ่มหยุด ทั้งที่ควรจะไหลไปเรื่อยๆ เพื่อออกไปทำให้ถูกต้องก่อนกลับเข้ามาตามเอ็มโอยู (MOU) ส่วนโทษปรับนายจ้างใช้ต่างด้าวผิดกฎหมาย 4-8 แสนบาทต่อ 1 คน ที่มองกันว่ามากเกินไปนั้น ที่จริงแล้วคือโทษตามมาตรฐาน ก่อนหน้านี้ พ.ร.ก.ประมง ม.11 นายจ้างที่ใช้แรงงานต่างด้าวผิดกฎหมาย ก็มีโทษปรับเริ่มที่ 4 แสนบาท กฎหมายการใช้แรงงานเด็กก็ปรับ 4 แสนบาทด้วยเช่นกัน
...
พร้อมกันนี้อยากถามว่า นายจ้างคนไทยมีจิตสำนึกสาธารณะหรือไม่ ถ้าไม่ทำผิดกฎหมายกัน พ.ร.ก.ต่างด้าวฉบับนี้ก็ไม่ต้องออกมาบังคับใช้ กระทรวงไม่ได้ปิดกั้นการจ้างแรงงานต่างด้าว แต่ควรทำผ่านกระบวนการที่ถูกต้องตามเอ็มโอยู หากนายจ้างต้องการใช้แรงงานต่างด้าว ก็สามารถยื่นขอโควตาที่สำนักงานจัดหางานจังหวัดได้ทั่วประเทศ โดยขณะนี้ หลัง พ.ร.ก.ต่างด้าวบังคับใช้ ทำให้แรงงานผิดกฎหมายทยอยเดินทางกลับประเทศ แรงงานกลุ่มนี้เมื่อกลับไปเข้าสู่ขั้นตอนนำเข้าตามเอ็มโอยูก็จะสามารถกลับเข้ามาทำงานแบบถูกกฎหมายได้
อย่างไรก็ตาม ตัวเลขแรงงานถูกกฎหมายในปัจจุบันมีประมาณ 1.3 ล้านคน ส่วนอีกกว่า 1.3 ล้านคน เป็นกลุ่มต่างด้าวสัญชาติเมียนมา กัมพูชา และลาว ที่ลักลอบเข้ามาทำงาน แต่ได้รับการผ่อนผันให้ถือบัตรสีชมพู ส่วนแรงงานประมง บัตรจะหมดอายุในวันที่ 1 พ.ย. 60 และกลุ่มทำงานบนฝั่ง จะหมดอายุ 31 มี.ค. 61 ขณะนี้อยู่ระหว่างพิสูจน์สัญชาติจากประเทศต้นทาง หลังจากได้รับหนังสือสำคัญประจำตัว (ซีไอ) หนังสือเดินทางแล้ว จะต้องลงตราวีซ่าที่สำนักงานตรวจคนเข้าเมืองภายใน 15 วัน และขอใบอนุญาตทำงาน ที่สำนักงานจัดหางานจังหวัด ทำงานต่อได้อีก 2 ปี และหลังจากเดือน มี.ค. 61 เป็นต้นไป จะยกเลิกบัตรสีชมพู โดยต้องเข้าผ่านเอ็มโอยูเท่านั้น.