ถามตรงๆ กับจอมขวัญ วันนี้ เป็นการพูดคุยกับ นพ.ชลน่าน ศรีแก้ว อดีตรัฐมนตรีช่วยว่าการกระทรวงสาธารณสุข ซึ่งเป็นญาติของ นางสาวรสรินทร์ เปลี่ยนหล้า อายุ 31 ปี สาวท้อง 6 เดือน ที่พลัดตกแอร์พอร์ตลิงก์จนเสียชีวิต ซึ่งตั้งคำถาม เกี่ยวกับมาตรฐานความปลอดภัยของแอร์พอร์ตลิงก์ 

โดย นพ.ชลน่าน เปิดเผยว่า ตอนนี้อยู่ระหว่างการนำ นางสาวรสรินทร์ หรือ น้องเอ กลับบ้าน ที่ จ.น่าน ซึ่งเป็นบ้านเกิดของตนด้วย ซึ่งตนกับ น้องเอ จะเกี่ยวข้องเป็นลุงกับหลาน ซึ่งรู้ข่าว น้องเอ จากญาติ โดยหลานแจ้งมาว่า น้องเอ เสียชีวิตแล้ว

'กระแสที่ออกมา ตอนแรกค่อนข้างบวก จากเฟซบุ๊กที่เป็นผู้ชาย ที่เล่าเหตุการณ์ว่า เห็นผู้หญิงคนนี้ยืนนิ่งๆ เฉยๆ สักพักก็ตกลงไป จากนั้นก็มีกระแสดราม่ามากมาย ว่าจะเป็นอุบัติเหตุมั้ย หรือภาวะร่างกาย เพราะเค้าท้องอยู่ 6 เดือน เป็นลมหน้ามืดหรือเปล่า หรือเจตนาฆ่าตัวตายหรือไม่ เพราะเหมือนชะโงกไปดูรถ แล้วเดินออกไป ซึ่งก็เป็นสิทธิ์ที่วิพากษ์วิจารณ์ได้ ไม่ว่ากัน แต่ต้องอยู่บนพื้นฐานความเป็นไปได้ และข้อเท็จจริง ที่ฟังความอย่างรอบด้าน' นพ.ชลน่าน กล่าว

เมื่อถามว่า จากข้อสงสัยตกลงไม่มีปัญหาในครอบครัว หรือเรื่องใดที่มีผลต่อสภาพจิตใจ ที่จะทำให้เกิดเหตุได้ นพ.ชลน่าน เผยว่า ตรวจสอบหมด ไม่มีเหตุอันใดที่เป็นแรงจูงใจ เจตนาที่จะฆ่าตัวตาย ซึ่งเพิ่งอัลตราซาวนด์มา ก็พบว่าเป็นลูกชายด้วย ซึ่งตัวสามีเองก็ไม่ได้ติดใจ เนื่องจากมั่นใจว่าไม่ใช่การฆ่าตัวตาย เพราะน้องเอเป็นลมบ่อย

...

เมื่อถามในส่วนของเรื่องที่มีความกังวล แล้วอาจจะทำให้เหม่อลอย นพ.ชลน่าน เผยว่า สันนิษฐานว่าเป็นไปได้ยาก ถ้าดูจากตามคลิป จะเห็นว่ารถยังไม่มา มันไม่มีเหตุผลที่จะเดินไปตรงนั้น ซึ่งจากการที่พูดคุยกับสามีของน้องเอ เค้าให้น้ำหนักว่า น้องน่าจะหน้ามืด และเป็นลมลงไป 

"ตอนนี้ญาติเป็นห่วงการพิสูจน์ทราบเรื่องคดี ว่าจะเป็นอุบัติเหตุหรือไม่ เพราะถ้าไม่ใช่อุบัติเหตุ สิทธิที่พึงจะได้ต่างๆ ก็จะเสียไป ว่าจะเป็นธรรมหรือไม่ เพราะญาติพุ่งไปในเรื่องอุบัติเหตุ จากการที่มีครรภ์ หน้ามืด ล้มลงไป แต่ถ้าฟังจากหน่วยงานที่เกี่ยวข้อง ร.ฟ.ท. ซึ่งพูดในหลักการว่าต้องไปพิสูจน์ก่อน เพราะตอนนี้คดียังไม่จบ แต่ถ้าดูแนวโน้มของส่วนผู้เกี่ยวข้อง ก็ยินดีช่วยเหลือ ดูแล รับผิดชอบ การมีข้อแม้ก็เป็นเรื่องธรรมดา ต้องดูตามกฎหมาย ซึ่งถ้าออกมาว่าไม่ใช่อุบัติเหตุ อันนี้ต้องพิสูจน์ทราบ แล้วสู้กัน" นพ.ชลน่าน กล่าว

นพ.ชลน่าน กล่าวต่อว่า กรณีที่ 2 อยากให้มองมาตรฐานความปลอดภัย ที่จะดูแลชีวิตและทรัพย์สินของคนไทย มีมาตรฐานหรือยัง ซึ่งตนมองว่า มาตรฐานความปลอดภัย ยังไม่ดีพอ ยังไม่ได้มาตรฐาน ทั้งก่อนเกิด ขณะเกิด และหลังเกิด โดยมาตรฐานความปลอดภัยก่อนเกิดเหตุ เริ่มตั้งแต่ตัวโครงสร้าง ที่สถานีมีแผงกันตามมาตรฐานหรือไม่ สองคือ มาตรฐานความปลอดภัยขณะเกิดเหตุ เช่น สัญญาณที่จะส่งศูนย์ควบคุมให้หยุดรถโดยอัตโนมัติ ระยะที่กดพอหรือไม่

ด้าน นายสุเทพ พันธุ์เพ็ง รองกรรมการผู้อำนวยการบริษัทรถไฟฟ้า ร.ฟ.ท. จำกัด เปิดเผยว่า อันดับแรกแอร์พอร์ตลิงก์ ต้องขอแสดงความเสียใจกับญาติผู้เสียชีวิต ส่วนผลสรุปสาเหตุ ว่าเกิดจากอะไร เพราะเป็นหน้าที่ของตำรวจ กล้องวงจรปิดที่จับภาพไว้ได้มีเพียงตัวเดียว ส่วนในเรื่องการปรับปรุงมาตรการต่างๆ ตรงนี้ กำลังปรับปรุงให้เข้มงวดมากกว่านี้

นายสุเทพ กล่าวต่อว่า ปกติความเร็วกำหนดไว้โดยคอมพิวเตอร์ ความเร็วก่อนเข้าชานชาลา 60 กม./ชม. ระยะเบรกเบรกได้คือ 100 เมตร แปลว่าอยู่ในช่วงที่เบรกแล้ว แต่ผู้เสียชีวิตอยู่ในจุดซึ่งเกิดเหตุได้ คือ ช่วงต้นๆของชานชาลา ซึ่งตอนนี้แผงกั้นมีอยู่เพียงสถานีเดียว อีก 7 สถานี อยู่ระหว่างการติดตั้ง