ร.ฟ.ท.แจงกดปุ่มฉุกเฉินแล้ว แต่เบรกไม่ทัน แอร์พอร์ตลิงก์ทับสาวท้อง 6 เดือนดับคาราง เนื่องจากระยะห่างแค่ 50 เมตร เตรียมมอบเงินช่วยเหลือค่าทำศพ เร่งสอบสาเหตุ ก่อนจ่ายเงินประกัน 4 แสน ...
จากกรณีสาวพลัดตกรางแอร์พอร์ตลิงก์ สถานีทับช้าง ก่อนถูกรถไฟวิ่งทับร่างเสียชีวิต เมื่อช่วงเช้าวันนี้ (19 มิ.ย.)
ความคืบหน้า นายวิสุทธิ์ จันมณี กรรมการรักษาการกรรมการผู้อำนวยการใหญ่ บริษัท รถไฟฟ้า ร.ฟ.ท. จำกัด เปิดเผยว่า สำหรับประตูกั้นชานชาลา ปัจจุบันแอร์พอร์ตลิงก์ มีประตูกั้นชานชาลา ที่สถานีสุวรรณภูมิ ซึ่งกำลังดำเนินการติดตั้งประตูกั้นเพิ่มอีก 7 สถานี โดยจะมีการยื่นซองเทคนิค 29 มิ.ย.นี้ ก่อนจะมีการแข่งขันประกวดราคา อีอ็อคชั่น วันที่ 27 ก.ค.นี้ วงเงิน 200 ล้าน และจะติดตั้งเสร็จสถานีแรก เม.ย. 2561
นายวิสุทธิ์ กล่าวต่อว่า โดย ร.ฟ.ท. ได้มีมาตรการความปลอดภัยเมื่อเกิดเหตุฉุกเฉินใดๆ เจ้าหน้าที่ควบคุมรถไฟฟ้าจะกดปุ่มหยุดรถฉุกเฉินทันที EB(emergency brake) และบนชั้นชานชาลา ก็จะมีปุ่มหยุดรถฉุกเฉินเช่นเดียวกัน ESP(Emergrncy Stop Plunger) และมีการควบคุมความหนาแน่นของจำนวนผู้โดยสารบนชั้นชานชาลามาโดยตลอด (Crowd Control) ทั้งการแจ้งโดยการประกาศที่สถานี และการแจ้งผ่านทางสื่อโซเชียลของ ร.ฟ.ท.
ทั้งนี้ จากการตรวจสอบ ทราบชื่อผู้ตาย คือ นางสาวรสรินทร์ เปลี่ยนหล้า อายุ 31 ปี ชาวจังหวัดน่าน ซึ่งกำลังท้อง 6 เดือน จากกล้องวงจรปิด ผู้ตายคล้ายกับตั้งใจเดินลงไปเอง แต่ด้วยระยะรถไฟฟ้าห่างแค่ 50 เมตร ทำให้กดปุ่มฉุกเฉินแล้ว หยุดไม่ทัน เพราะต้องใช้ระยะเบรกราว 100 เมตร
...
จากกรณีดังกล่าว เบรกไม่ทันเพราะผู้โดยสารอยู่ระยะใกล้ และอยู่ช่วงต้นของชานชาลา หากอยู่กลาง หรือท้ายชานชาลา ก็น่าจะเบรกทัน โดยผู้ที่กดปุ่มฉุกเฉินคือ เจ้าหน้าที่รปภ.ฝั่งตรงข้าม และเจ้าหน้าที่ขับรถไฟ ส่วนความสูงจากระหว่างชานชาลาและรางอยู่ที่ 120-130 เซนติเมตร และไม่มีระบบไฟฟ้าอยู่ที่ราง ซึ่งระบบไฟฟ้าจะอยู่เหนือหัว เคยมีเคสที่ผู้โดยสารตกลงไป แต่ก็ได้รับบาดเจ็บเพียงเล็กน้อย
สำหรับ มาตรการที่แอร์พอร์ตลิงก์ จะดำเนินการต่อไปคือ เพิ่มมาตรการรักษาความปลอดภัย เช่น ปุ่มฉุกเฉิน เพิ่มพนักงานรักษาความปลอดภัยให้มากขึ้นจาก 4 เป็น 6 คน ในช่วงเวลาเร่งด่วน และทำที่กั้นระหว่างชานชาลาให้แล้วเสร็จทุกสถานีในปี 61 โดยจะเร่งทำตั้งแต่สถานี พญาไท ลาดกระบัง ไล่เรียงไป ส่วนมาตรการที่ทำอยู่แล้ว คือ การป้องกันความหนาแน่นของผู้โดยสารบนชานชาลา หลายคนอาจจะเคยเห็นการแชร์ภาพผ่านโซเชียลมีเดียว่า มีผู้โดยสารแน่นบริเวณห้องขายตั๋วในช่วงเวลาเร่งด่วน เนื่องจาก เราต้องการปล่อยผู้โดยสารขึ้นไปเป็นชุดเพื่อไม่ให้บนชานชาลาหนาแน่นจนเกินไปนั่นเอง
เบื้องต้น แอร์พอร์ตลิงก์ ได้ช่วยเหลือครอบครัวผู้เสียชีวิตในขั้นตอน 40,000 บาท และกำลังอยู่ในช่วงการประกันภัยที่แอร์พอร์ตลิงก์ ได้ทำไว้กับบริษัท ทิพยประกันภัย จำกัด (มหาชน) ในการคุ้มครองบุคคลที่ 3 โดยทุนประกันอยู่ที่ 400,000 บาท.