อธิบดีกรมป้องกันและบรรเทาสาธารณภัย รายงานสถานการณ์น้ำท่วม เนื่องจากฝนที่ตกหนักต่อเนื่องในหลายพื้นที่ ส่งผลให้เกิดน้ำไหลหลากและล้นตลิ่งใน 4 จังหวัด บ้านเรือนได้รับความเสียหาย 20,636 หลัง พบผู้เสียชีวิต 3 ราย
เมื่อวันที่ 22 พ.ค. 60 นายฉัตรชัย พรหมเลิศ อธิบดีกรมป้องกันและบรรเทาสาธารณภัย (ปภ.) เปิดเผยว่า ฝนที่ตกหนักต่อเนื่องในหลายพื้นที่ ส่งผลให้เกิดน้ำไหลหลากและน้ำเอ่อล้นตลิ่ง โดยตั้งแต่วันที่ 16 - 22 พ.ค. 2560 มีพื้นที่เกิดสถานการณ์อุทกภัยใน 14 จังหวัด รวม 49 อำเภอ 168 ตำบล 963 หมู่บ้าน ประชาชนได้รับผลกระทบ 20,636 ครัวเรือน ผู้เสียชีวิต 3 ราย ปัจจุบันสถานการณ์คลี่คลายแล้ว 10 จังหวัด ยังคงมีสถานการณ์น้ำไหลหลากและน้ำล้นตลิ่ง 4 จังหวัด 21 อำเภอ 103 ตำบล 792 หมู่บ้าน
โดยแยกเป็น ภาคเหนือ 2 จังหวัด ได้แก่ สุโขทัย น้ำไหลหลากเข้าท่วมพื้นที่ 8 อำเภอ ได้แก่ อำเภอศรีสำโรง อำเภอเมืองสุโขทัย อำเภอคีรีมาศ อำเภอศรีนคร อำเภอสวรรคโลก อำเภอทุ่งเหลี่ยม อำเภอบ้านด่านลานหอย และอำเภอกงไกรลาศ รวม 56 ตำบล 405 หมู่บ้าน บ้านเรือนประชาชนได้รับความเสียหาย 20 หลัง ผู้เสียชีวิต 2 ราย ประชาชนได้รับความเดือดร้อน 17,119 ครัวเรือน 39,654 คน พื้นที่การเกษตรเสียหาย 17,655 ไร่ พิจิตร น้ำจากอำเภอไทรงาม จังหวัดกำแพงเพชร ไหลหลากเข้าท่วมพื้นที่ตำบลรังนก อำเภอสามง่าม รวม 4 หมู่บ้าน ประชาชนได้รับความเดือดร้อน 20 ครัวเรือน พื้นที่การเกษตรเสียหาย 3,000 ไร่
ส่วนภาคตะวันออกเฉียงเหนือ 1 จังหวัด ได้แก่ เลย น้ำไหลหลากเข้าท่วมพื้นที่ 11 อำเภอ ได้แก่ อำเภอเมืองเลย อำเภอวังสะพุง อำเภอภูหลวง อำเภอภูกระดึง อำเภอท่าลี่ อำเภอนาแห้ว อำเภอเชียงคาน อำเภอผาขาว อำเภอปากชม อำเภอด่านซ้าย และอำเภอนาด้วง รวม 44 ตำบล 332 หมู่บ้าน ประชาชนได้รับความเดือดร้อน 2,289 ครัวเรือน 6,417 คน
...
สำหรับภาคใต้ 1 จังหวัด ได้แก่ สุราษฎร์ธานี น้ำป่าไหลหลากล้นตลิ่งเข้าท่วมพื้นที่อำเภอเวียงสระ รวม 2 ตำบล 7 หมู่บ้าน สถานการณ์ในภาพรวมระดับน้ำท่วมลดลงทุกพื้นที่ แต่ยังคงท่วมขังในพื้นที่ลุ่มต่ำทางการเกษตร นอกจากนี้ได้ร่วมกับหน่วยทหาร และหน่วยงานที่เกี่ยวข้องเร่งให้การช่วยเหลือผู้ประสบภัยโดยด่วนแล้ว
อย่างไรก็ตาม จากการตรวจสอบสภาพอากาศกับกรมอุตุนิยมวิทยา พบว่า บริเวณประเทศไทยตอนบนมีฝนน้อยลง ส่วนภาคใต้และภาคตะวันออกยังคงมีฝนตกต่อเนื่อง และฝนตกหนักบางแห่งในระยะนี้ ปภ.จึงได้ประสานจังหวัดภาคใต้และภาคตะวันออก รวมถึงศูนย์ป้องกันและบรรเทาสาธารณภัยเขต และสำนักงานป้องกันและบรรเทาสาธารณภัยจังหวัดในพื้นที่เสี่ยงภัย จัดเจ้าหน้าที่ติดตามสภาพอากาศและเฝ้าระวังสถานการณ์ภัยน้ำท่วมอย่างใกล้ชิด
อีกทั้งจัดเตรียมวัสดุอุปกรณ์และชุดเคลื่อนที่เร็ว ให้พร้อมปฏิบัติการเผชิญเหตุและช่วยเหลือผู้ประสบภัยอย่างทันท่วงที ตลอดจนแจ้งเตือนประชาชนในพื้นที่เสี่ยงภัยให้ระมัดระวังอันตรายจากฝนตกหนักถึงหนักมาก อาจทำให้เกิดน้ำท่วมฉับพลันและน้ำป่าไหลหลาก.