ทนายสงกานต์ เดินทางมาที่ศูนย์บริการร่วมกระทรวงยุติธรรม เพื่อยื่นเรื่องขอพักโทษ คดี 2 ชาวบ้านเก็บเห็ดป่าสงวนหลังศาลฎีกามีคำพิพากษาจำคุกคนละ 5 ปี ด้าน อธิบดีกรมราชทัณฑ์ แจงนักโทษยังไม่เข้าเกณฑ์ใดๆ พักโทษไม่ได้...

เมื่อวันที่ 8 พ.ค.2560 นายสงกานต์ อัจฉริยะทรัพย์ ทนายความของ นายอุดม ศิริสอน จำเลยที่ 1 และ นางแดง ศิริสอน จำเลยที่ 2 ของศาลจังหวัดกาฬสินธุ์ นำหนังสือขอพักโทษ และหนังสือขอพระราชทานอภัยโทษให้กับจำเลยทั้งสอง หลังศาลฎีกามีคำพิพากษา คดีถึงที่สุดเมื่อวันที่ 2 พฤษภาคม ที่ผ่านมา ให้จำคุก คนละ 5 ปี กรณีที่เข้าไปเก็บเห็ดในเขตป่าสงวนแห่งชาติ บ้านหนองกุงไทย หมู่ 6 ตำบลโนนสะอาด อำเภอห้วยเม็ก จังหวัดกาฬสินธุ์ เหตุเกิดเมื่อวันที่ 12 กรกฎาคม 2553

ซึ่งคดีนี้ศาลชั้นต้นพิพากษาให้จำคุก สองสามีภรรยา 30 ปี แต่นายอุดมและนางแดงรับสารภาพ ศาลจึงพิจารณาลดโทษลงกึ่งหนึ่ง คงจำคุก 15 ปี ต่อมาศาลอุทธรณ์ก็พิพากษายืนตามศาลชั้นต้น ก่อนที่ศาลฎีกามีคำพิพากษา เมื่อวันที่ 2 พฤษภาคมที่ผ่านมา ให้จำคุก คนละ 5 ปี โดยคดีนี้ นายอุดมถูกต้องขังมาแล้ว 595 วัน ส่วนนางแดงถูกต้องขังมาแล้ว 622 วัน โดยให้นำวันที่ต้องขังมาแล้วนั้นมาหักจากโทษจำคุก 5 ปี ด้วยตามขั้นตอนกฎหมาย โดยขอให้กระทรวงยุติธรรม ได้พิจารณาร่วมกับกรมราชทัณฑ์

สำหรับนายอุดมและนางแดง ถือเป็นนักโทษชั้นกลาง เพราะคดีเพิ่งสิ้นสุด จึงไม่เข้าหลักเกณฑ์การขอพักโทษ เนื่องจากต้องเป็นนักโทษชั้นดี ชั้นดีมาก และชั้นเยี่ยม จึงจะขอพักโทษได้ ฉะนั้นนายอุดมและนางแดงจะต้องได้รับการเลื่อนชั้นเป็นนักโทษชั้นดีเสียก่อน โดยการพิจารณาเลื่อนชั้นนักโทษของกรมราชทัณฑ์จะมีการพิจารณาปีละ 2 ครั้ง คือปลายเดือนมิถุนายน และปลายเดือนธันวาคม โดยหลังสิ้นสุดคดี นักโทษต้องถูกคุมขังอย่างน้อย 6 เดือน จึงจะเข้าหลักเกณฑ์ให้พิจารณาขอพักโทษ ซึ่งการพิจารณาเลื่อนชั้นของนายอุดมและนายแดงจะมีขึ้นได้เร็วที่สุด คือ ในเดือนธันวาคมนี้ หากได้รับการเลื่อนชั้น จากนั้นก็ต้องมาพิจารณาเรื่องข้อกำหนดของการขอพักโทษต่อไป โดยการขอพักโทษนักโทษไม่ต้องทำเรื่องขอ เพราะเป็นขั้นตอนปกติของกรมราชทัณฑ์ในการพิจารณาความประพฤติของนักโทษแต่ละคนอยู่แล้ว

...

ต่อมา นายกอบเกียรติ กสิวิวัฒน์ อธิบดีกรมราชทัณฑ์ กล่าวถึงกรณีนายสงกานต์ อัจฉริยะทรัพย์ ทนายความ เสนอให้พักการลงโทษนายอุดม ศิริสอน และนางแดง ศิริสอน ที่ต้องโทษจำคุก 5 ปี ฐานบุกรุกและตัดไม้ในป่าสงวน โดยรับโทษมาแล้ว 1 ปี 8 เดือน และ 1 ปี 9 เดือน ซึ่งเข้าเงื่อนไขการรับโทษมาแล้ว 1 ใน 3 ว่า เงื่อนไขการพักการลงโทษของผู้ต้องขังไม่ใช่เพียงรับโทษมาแล้ว 1 ใน 3 จะได้รับการพักโทษทุกราย แต่ยังมีคุณสมบัติเป็นเงื่อนไขสำคัญอีก 3 ข้อ คือ 1. ต้องเป็นนักโทษพิการ แขนและขาขาดทั้ง 2 ข้าง ตาบอดทั้ง 2 ข้าง 2. เป็นนักโทษป่วยร้ายแรง เช่น เป็นเอดส์ มะเร็ง หรือไตวายระยะสุดท้าย 3. เป็นนักโทษที่รับโทษมาแล้วและมีอายุเกิน 70 ปี ช่วยเหลือตัวเองได้น้อย หรือเป็นนักโทษที่ป่วยติดเตียงติดบ้าน ช่วยเหลือตัวเองไม่ได้ ยืนยันว่าเงื่อนไขการพักโทษ 1 ใน 3 ไม่ได้หมายความว่านักโทษจะเข้าเกณฑ์ได้รับการปล่อยตัวทุกราย แม้แต่นักโทษชรา อายุ 70 ปีก็ต้องมีเงื่อนไขอื่นๆ

นายกอบเกียรติ กล่าวอีกว่า เกณฑ์ในการพักโทษที่กำหนดไว้ 1 ใน 3 นั้น กำหนดไว้เพื่อมนุษยธรรมส่วนใหญ่ใช้กับนักโทษที่มีอาการป่วยร้ายแรงใกล้เสียชีวิต ซึ่งโทษจำคุกไม่ได้ก่อให้เกิดประโยชน์แก่ฝ่ายใดเลย ดังนั้น การพักการลงโทษจะดำเนินการให้กับผู้ต้องขังที่ได้รับโทษจำคุกมาแล้ว 2 ใน 3 ซึ่งเงื่อนไขจะผ่อนปรนมากกว่านี้ โดยจะกำหนดเงื่อนไขเพียงประพฤติดี ขยันหมั่นเพียร สำหรับนายอุดม และนางแดง ที่มีอายุ 54 ปี ยังไม่เข้าเกณฑ์เป็นนักโทษชราที่กำหนดอายุไว้ที่ 70 ปี ดังนั้น จึงยังไม่เข้าเงื่อนไขใดๆ ทั้งสิ้น