ดีเอสไอสรุปผลตรวจสอบประมูล 3G ไม่พบการฮั้วประมูล หลัง กสทช.ทำหนังสือเคลียร์ข้อสงสัย 7 ประเด็น ครบถ้วน ยันมีการเคาะแข่งขันราคา

ที่กรมสอบสวนคดีพิเศษ (ดีเอสไอ) เมื่อวันที่ 4 ธ.ค.นายธาริต เพ็งดิษฐ์ อธิบดีกรมดีเอสไอ เปิดเผยว่า ตามที่สำนักงานคณะกรรมการกิจการกระจายเสียงกิจการโทรทัศน์และกิจการโทรคมนาคมแห่งชาติ (กสทช.) มีหนังสือขอให้กรมสอบสวนคดีพิเศษตรวจสอบการประมูลคลื่นความถี่ ย่าน 2.1 GHz หรือ 3 G หลังการตรวจสอบเบื้องต้น โดยเรียกผู้ที่เกี่ยวข้องเข้าชี้แจง ดีเอสไอได้มีหนังสือขอให้ กสทช. ชี้แจงเพิ่มเติมเป็นเอกสาร เกี่ยวกับอำนาจหน้าที่ของ กสทช. หลักเกณฑ์และเงื่อนไขการประมูล และผลการประมูล ประกอบการตรวจสอบใน 7 ประเด็น ล่าสุด กสทช.ได้มีหนังสือชี้แจงเพิ่มเติมให้ดีเอสไอทราบแล้ว จากการตรวจสอบเอกสารหลักฐานตามที่ กสทช. ชี้แจงเพิ่มเติม ปรากฏข้อเท็จจริงว่าการจัดสรรคลื่นความถี่ ย่าน 2.1 GHz โดยวิธีประมูลตามประกาศ กสทช.ดังกล่าวเป็นการกำหนดหลักเกณฑ์และเงื่อนไข โดยอาศัยอำนาจตามมาตรา 45 แห่ง พ.ร.บ.องค์กรจัดสรรคลื่นความถี่และกำกับการประกอบกิจการวิทยุกระจายเสียง วิทยุโทรทัศน์ และกิจการโทรคมนาคม พ.ศ.2553

อธิบดีดีเอสไอ กล่าวอีกว่า โดย พ.ร.บ.องค์กรจัดสรรคลื่นความถี่ฯ ได้กำหนดให้ กสทช.มีอำนาจกำหนดหลักเกณฑ์และวิธีการเกี่ยวกับการอนุญาต เงื่อนไขหรือค่าธรรมเนียมการอนุญาตและจะต้องดำเนินการโดยวิธีการประมูลคลื่นความถี่ตามหลักเกณฑ์วิธีการ ระยะเวลา และเงื่อนไขที่ กสทช. กำหนด ซึ่งจากการกำหนดหลักเกณฑ์และเงื่อนไขการประมูลดังกล่าวหากปรากฏข้อเท็จจริง ตามที่ กสทช. ชี้แจงว่า การจัดสรรคลื่นความถี่ ย่าน 2.1 GHz ได้ดำเนินการประมูลคลื่นความถี่เป็นไปตามหลักเกณฑ์ที่ กสทช.กำหนดตั้งแต่ต้น โดยในขั้นตอนการกำหนดหลักเกณฑ์การประมูลคลื่นความถี่ กสทช. ได้พิจารณาแล้วเห็นว่า หลักเกณฑ์และเงื่อนไขที่กำหนด มีผู้ที่มีคุณสมบัติที่จะเข้ามาประมูลได้ จำนวน 20 ราย โดยมีผู้มารับแบบคำขอรับใบอนุญาตและลงทะเบียนเพื่อเข้าร่วมการประชุม ชี้แจงการกรอกแบบคำขอรับใบอนุญาตจำนวน 17 ราย และมายื่นคำขอรับใบอนุญาต จำนวน 4 ราย ผ่านคุณสมบัติที่มีสิทธิ์เข้าเสนอราคาได้จำนวน 3 ราย

นายธาริต กล่าวอีกว่า จากการเสนอราคาปรากฏว่าได้มีการแข่งขันในการเสนอราคาทั้งหมดถึง 7 รอบ และราคาที่ได้ไม่ต่ำกว่าราคาตั้งต้นที่มูลค่า 4,500 ล้านบาท หรือคิดเป็นร้อยละ 70 ของมูลค่าคลื่นความถี่ จำนวน 6,440 ล้านบาท นอกจากนี้ วิธีการประมูลคลื่นความถี่ กสทช. ได้แบ่งการประมูลออกเป็น 2 ขั้นตอน กล่าวคือ ขั้นตอนแรกเป็นการประมูลชุดคลื่นความถี่และขั้นตอนที่ 2 เป็นการกำหนดย่านความถี่โดยการประมูลชุดคลื่นความถี่เป็นการเปิดประมูลชุดคลื่นความถี่ ที่จะให้อนุญาตพร้อมกันและดำเนินการประมูลหลายรอบโดยราคาประมูลในแต่ละรอบจะเพิ่มขึ้นตามลำดับ ย่อมเห็นได้ว่าการประมูลได้มีการแข่งขันราคากัน กรณีดังกล่าวจึงไม่เข้าข่ายความผิดตาม พ.ร.บ.ว่าด้วยความผิดเกี่ยวกับการเสนอราคาต่อหน่วยงานของรัฐ พ.ศ.2542 กรมสอบสวนคดีพิเศษ จะมีหนังสือแจ้งผลการตรวจสอบให้ กสทช.ทราบต่อไป

...