การทางพิเศษฯ ขอเวลา 1 สัปดาห์ เคลียร์พื้นที่ "สะพานก่อสร้างถล่ม" ยันผู้ได้รับผลกระทบ จะต้องได้รับการเยียวยาอย่างเป็นธรรม ส่วนผู้ใช้ทางขึ้นลงใต้ ขอให้ใช้สะพานทศมราชันแทน
วันที่ 15 มีนาคม 2568 การทางพิเศษแห่งประเทศไทย (กทพ.) เปิดเผยว่า จากอุบัติเหตุโครงสร้างที่อยู่ระหว่างการก่อสร้างเกิดการทรุดตัวนั้น อยู่บริเวณหน้าด่านฯ ดาวคะนอง พื้นที่การก่อสร้างโครงการทางพิเศษสายพระราม 3 - ดาวคะนอง - วงแหวนรอบนอกกรุงเทพมหานครด้านตะวันตก สัญญาที่ 3 ผู้รับจ้างคือ กลุ่มกิจการร่วมค้า ไอทีดี – วีซีบี ประกอบด้วย บริษัท อิตาเลียนไทย ดีเวล๊อปเมนต์ จำกัด (มหาชน) และบริษัท วิจิตรภัณฑ์ก่อสร้าง จำกัด โดยมีกลุ่มบริษัทผู้ให้บริการควบคุมงานก่อสร้างฯ คือ 1. บริษัท เอพซิลอน จำกัด ดูแลสัญญาที่ 4, 2. บริษัท เอเชี่ยน เอ็นจิเนียริ่ง คอนซัลเต้นส์ จำกัด ดูแลสัญญาที่ 1, 3. บริษัท เอ็ม เอ เอ คอลซัลแตนท์ จำกัด ดูแลสัญญาที่ 2, 4. บริษัท โชติจินดา คอรซัลแตนท์ จำกัด ดูแลสัญญาที่ 3
ขณะนี้ นายสุรเชษฐ์ เหล่าพูลสุข ผู้ว่าการการทางพิเศษแห่งประเทศไทย (กทพ.) ได้ลงพื้นที่เพื่อเร่งตรวจสอบสาเหตุ และบรรเทาปัญหาการจราจร เบื้องต้นประเมินว่า จะใช้เวลาราว 1 สัปดาห์ ในการเคลียร์พื้นที่เพื่อให้ประชาชนที่ใช้ทางด่วนดาวคะนองช่วงขาเข้า จะต้องกลับมาใช้บริการได้ ส่วนช่วงขาออก ที่พบว่าเกิดความเสียหายนั้น คาดว่าจะใช้เวลาประมาณ 1 เดือนในการซ่อมแซม รวมทั้งต้องไปจัดการเรียกร้องค่าเสียหายจากผู้ที่ทำให้เกิดผลกระทบกับทางด่วนดาวคะนองด้วย

...
หลังจากนี้ คงต้องตั้งคณะทำงานมาตรวจสอบดูว่าเกิดความผิดพลาดตรงไหน เพื่อให้มั่นใจว่าถ้าจะก่อสร้างต่อไปต้องไม่เกิดเหตุขึ้นอีก ซึ่งตอนนี้ตนมั่นใจเลยว่าดีไซน์การออกแบบไม่ได้ผิด น่าจะผิดที่ขั้นตอนการก่อสร้าง แต่ถ้าผิดแบบนี้ก็คงให้เริ่มการก่อสร้างอีกไม่ได้ เพราะ รมว.คมนาคม มีนโยบายให้ทำทางด่วนนี้ให้เสร็จในปลายปีนี้ ซึ่งการเกิดเหตุก็ทำให้ได้รับผลกระทบ ตรงนี้ก็จะพยายามแก้ไขต่อไป
นายสุรเชษฐ์ กล่าวต่อว่า เบื้องต้นเหตุเกิดจากขั้นตอนการก่อสร้าง ซึ่ง กทพ. ยืนยันว่าผู้ได้รับผลกระทบจะต้องได้รับการเยียวยาที่เป็นธรรม และผู้ที่ประมาทเลินเล่อต้องได้รับการชดใช้อย่างเต็มที่และสาสม
ทั้งนี้ กทพ. ขอโทษประชาชนที่ได้รับผลกระทบ และขอให้เลี่ยงการใช้เส้นทาง หากจะเดินทางลงภาคใต้ ต้องขอให้ไปใช้สะพานทศมราชันแทน โดยจะเร่งคืนพื้นที่ให้ได้ภายใน 1 สัปดาห์.