สภาทนายความฯ จับมือสมาคมองค์การบริหารส่วนตำบลแห่งประเทศไทย นำร่อง โครงการ 1 ตำบล 1 ทนายความ ในองค์การบริหารส่วนตำบล จำนวน 14 แห่ง เริ่มที่ จ.ลพบุรี และสามจังหวัดชายแดนภาคใต้


ที่ สภาทนายความในพระบรมราชูปถัมภ์ วันที่ 3 เม.ย. 67 ดร.วิเชียร ชุบไธสง นายกสภาทนายความฯ, รศ.วิระศักดิ์ ฮาดดา นายกสมาคมองค์การบริหารส่วนตำบลแห่งประเทศไทย, นายณรงค์ ปานสุวรรณ หัวหน้าคณะทำงาน โครงการทนายความอาสา ให้คำปรึกษาประชาชน 1 ตำบล 1 ทนายความและคณะ แถลงข่าวการให้ความช่วยเหลือทางกฎหมาย ใน “โครงการทนายความอาสา ให้คำปรึกษาประชาชน 1 ตำบล 1 ทนายความ” ว่า สภาทนายจะเริ่มโครงการนำร่อง เพื่อจัดส่งทนายความอาสาของสภาทนายความฯ ให้บริการปรึกษาแนะนำกฎหมายแก่ประชาชนที่มาติดต่อ โดยไม่มีค่าใช้จ่าย

ดร.วิเชียร นายกสภาทนายความ กล่าวว่า สภาทนายความในพระบรมราชูปถัมภ์ ร่วมกับสมาคมองค์การบริหารส่วนตำบลแห่งประเทศไทย ซึ่งจะมีการเริ่มนำร่อง โครงการ 1 ตำบล 1 ทนายความ ในองค์การบริหารส่วนตำบล จำนวน 14 แห่ง เพื่อทดลองและประเมินผลการอำนวยความยุติธรรมแก่ประชาชนสู่ชุมชน เราต้องการที่จะให้ประชาชนได้รับประโยชน์เช่นการให้คำปรึกษาความช่วยเหลือประชาชนโดยเฉพาะประชาชนรากหญ้าอยู่ในถิ่นทุรกันดาร ซึ่งทางนายกสมาคมองค์การบริหารส่วนตำบลเเห่งประเทศไทย เเละสภาทนายความแห่งประเทศไทยได้เล็งเห็นความสำคัญในเรื่องนี้ จึงจัดให้มีทนายความอาสาที่ให้คำปรึกษากฎหมาย 1 จังหวัด 1 ทนายความ ซึ่งสภาทนายความได้เคยมีข้อตกลงหรือแนวคิดดังกล่าวมาแล้ว จึงได้นำมาสู่การเริ่มต้น

โดยจะมีการนำร่องเบื้องต้น 14 อบต. เริ่มจากลพบุรี และ 3 จังหวัดชายแดนภาคใต้ ซึ่งระยะยาวเราตั้งใจจะให้มีทนายความทุกอบต. แต่ตอนนี้ยังไม่สามารถทำได้เพราะยังติดขัดปัญหาข้อกฎหมาย ซึ่งเราได้มีการนำเรื่องนี้เข้าสู่ กมธ.ยุติธรรมของวุฒิสภา จะมีการเชิญหน่วยงานที่เกี่ยวข้องมาพูดคุยในเรื่องนี้ว่าจะสามารถจ่ายงบประมาณในส่วนนี้ได้หรือไม่ คาดว่าไม่ช้าก็จะเรียบร้อย แต่ในตอนนี้เรารอช้าไม่ได้เพราะมีผู้ได้รับความเสียหายจำนวนมาก ผู้เสียหายจะได้มาปรึกษากับทนายความเบื้องต้นเพื่อไม่ให้ความเดือดร้อนเสียหายลุกลาม และเป็นการป้องกันการก่อเหตุจากความไม่รู้ และป้องกันประชาชนถูกหลอกจากมิจฉาชีพ

...

สำหรับโครงการนำร่อง จะมีทนายอาสาไปนั่งให้คำปรึกษาเดือนละ 2 ครั้ง โดยมีค่าตอบแทนต่อครั้ง เป็นค่าเบี้ยเลี้ยง 1,000 บาท และค่าพาหนะ 1,000 บาท เป็นการออกเงินส่วนตัวของนายก อบต. ที่พร้อม โดยจะเริ่มครั้งแรกในเดือน พ.ค. ที่จังหวัดลพบุรี 10 อบต.ทดลองก่อน 1 ปี แต่ถ้าต่อไปมีการเเก้ระเบียบให้งบประมาณอบต.จ่ายเงินได้เมื่อไหร่ก็จะเป็นโครงการระยะยาวต่อไป

ในส่วนเรื่องความปลอดภัยของพื้นที่ 3 จังหวัดใช้แดนภาคใต้ ตอนแรกตนก็กังวลว่าจะอันตรายหรือไม่ ซึ่งเคยลงไปพื้นที่สามจังหวัดภาคใต้ในเหตุการณ์พลุระเบิดที่ผ่านมา พบว่าในพื้นที่ไม่ได้อันตรายอย่างที่คิด กลางคืนก็มีคนวิ่งออกกำลังกาย และทนายที่ไปประจำอยู่ที่อบต.ลงไปช่วยอำนวยความยุติธรรมให้กับประชาชน จึงไม่คิดว่าจะเป็นอันตราย

ส่วนทนายอาสาที่จะให้ลงพื้นที่ ต้องผ่านการอบรมปฏิรูปทนายความอาสา ทนายขอแรง และที่ปรึกษาศาลเด็กและเยาวชน มีขอบเขตหน้าที่มีหน้าที่ให้คำปรึกษาแนะนำเผยแพร่ความรู้ให้กับประชาชน ไม่ว่าจะตกเป็นผู้เสียหาย ผู้ต้องหาหรือจำเลย หากเข้าเกณฑ์ที่จะช่วยเหลือ ถ้ามีเป็นคดีเพิ่มขึ้นทางสภาทนายความเขาจะจัดงบประมาณช่วยฟรี ถ้ากรณีมีข้อพิพาทระหว่างประชาชนกับอบต.ก็ต้องดูเป็นเรื่องๆ ไป เพราะไม่มีใครอยู่เหนือกฎหมายได้ ใครทำอะไรก็ต้องรับผิดเป็นกรณีไป ในอนาคตเราก็ได้มีการพูดคุยกับทางกระทรวงมหาดไทยว่าต่อไปจะมีโครงการ 1 ทนายความ 1 อำเภอ

ด้าน รศ.วิระศักดิ์ ฮาดดา นายกสมาคมองค์การบริหารส่วนตำบลแห่ง ประเทศไทย กล่าวว่า ที่ผ่านมา สภาทนายความก็ส่งทนายความไปให้ความช่วยเหลือ สมาคมอบต.แห่งประเทศไทย เคยทำ MOU กัน ถือว่าเป็นเรื่องที่เป็นประโยชน์แก่พี่น้องประชาชน และอันนี้เราเริ่มทำโครงการทนายอาสา ในด้านงบประมาณทางท้องถิ่นจะหาเอง แต่ถ้าเป็นไปได้ก็จะประสานงานหน่วยงานของรัฐต่อไป

ผู้สื่อข่าวรายงานว่า ที่ศาลอาญา นางอโนชา ชีวิตโสภณ ประธานศาลฎีกาได้ไปเปิดแผนกคดีอาชญากรรมทางเทคโนโลยี มีนายยอดชาย วีรพงศ์ อธิบดีศาลอาญาให้การต้อนรับ และนายธานี สิงหนาท เลขาธิการศาลยุติธรรม ไปร่วมด้วย