"อัจฉริยะ" เปิดคลิปเสียงแฉ "แม่แตงโม" พูดเท็จกรณีรับเงินเยียวยา ยืนยันแม่เป็นคนสั่งการให้ร่างสำนวนฟ้องข้อหาฆาตกรรม-ข่มขืน เผยตัวเองก็เคยโดนกระทำแบบนี้มาก่อน เวลา "คุณแม่" ไม่พอใจใครก็จะเททิ้ง ชี้เงิน 3.8 แสนบาทเป็นค่าวิชาชีพทนายความ พร้อมเรียกร้องปอ-โรเบิร์ต ออกมาชี้แจงเงิน 4 แสนที่แม่อ้างเป็นโบนัส ทำไมโอนเข้าบัญชีทนาย
วันที่ 9 ม.ค. 2567 เมื่อวลา 10.00 น. ที่ สำนักงานคณะกรรมการป้องกันและปราบปรามยาเสพติด หรือ ป.ป.ส. (ดินแดง) นายอัจฉริยะ เรืองรัตนพงศ์ ได้ให้สัมภาษณ์ต่อสื่อมวลชน ตอบโต้กรณีที่แม่แตงโมแจ้งความว่าถูกสิบเอกชัยวัฒน์ อดีตที่ปรึกษาทางกฎหมายยักยอกเงิน 5.5 แสนบาท โดยนายอัจฉริยะเปิดเผยว่า สิบเอกชัยวัฒน์หรือเอ็ม มีหมายจับที่ สน.ลุมพินี จึงไม่สามารถมาแถลงข่าวร่วมกับตนเองได้ เกรงว่าจะถูกจับ จึงมอบหมายให้ตนเองมาชี้แจงแทน ประกอบกับตนเองมีเพื่อนที่อยู่ในทีมงานของนายเอ็ม จึงได้รับข้อมูลว่าเรื่องทั้งหมดที่แม่แตงโมแถลงข่าวเมื่อวานนี้ไม่ใช่ความจริง และตนเองก็เคยถูกแม่แตงโมกระทำลักษณะนี้ จึงไม่อยากให้มีใครตกเป็นเหยื่อแม่แตงโมอีก
นายอัจฉริยะ กล่าวว่า วันนี้ ตนมาเป็นตัวแทนในการแถลงข้อเท็จจริงให้สังคม แซน โรเบิร์ต ปอ และทนายเดชาเพื่อนรักของตนได้ทราบความจริงว่าการแถลงวานนี้ (8 ม.ค.) ของคุณแม่ไม่เป็นความจริง ส่วนกรณีที่ตนต้องมายุ่งในเรื่องนี้เพราะเคยโดนแม่กระทำแบบนี้มาก่อน พอได้ผลประโยชน์ มักจะอ้างว่าที่เซ็นมอบอำนาจให้นั้นไม่ใช่เรื่องจริง แล้วก็ไปถอนคดีที่ศาล ตนเคยโดนมาแล้ว หมดค่าใช้จ่ายไป 500,000 บาท ตนจึงไม่อยากให้มีใครตกเป็นเหยื่อของคุณแม่อีก เพราะเวลาคุณแม่ไม่พอใจก็เทคนทิ้ง จะสังเกตได้ว่าที่ผ่านมาคุณแม่เททิ้งหลายชุดแล้ว จากเรื่องทั้งหมดที่เกิดขึ้นที่อ้างว่าทีมที่ปรึกษากฎหมายยักยอกเงินนั้น ตนอยากฝากบอกคุณแม่ว่าขอให้มีความเป็นแม่ ไม่ใช่เอาเงินเป็นตัวตั้ง ควรสนใจปมการตายของลูกสาวมากกว่าเรื่องเงิน
...
นายอัจฉริยะ กล่าวอีกว่า ทนายชัยวัฒน์ โลมากุล ที่ปรึกษากฎหมายของคุณแม่ เป็นคนที่จัดหาทนายความให้คุณแม่ 2 ราย คือ ทนายไพศาล และทนายชานนท์ และยังมีการตกลงในคดีแพ่งต่างๆ แม้กระทั่งการฟ้องร้องคดีใหม่ในความผิดมาตรา 290 ผู้ใดมิได้มีเจตนาฆ่า แต่ทำร้ายผู้อื่นจนเป็นเหตุให้ผู้นั้นถึงแก่ความตายนั้น คุณแม่ก็ว่าจ้างทนายชัยวัฒน์ โดยระบุชัดเจนว่า หากคุณแม่ได้รับเงินเยียวยาจากคดีน้องแตงโมเท่าไร ก็จะแบ่งให้ทนายชัยวัฒน์ 30% ต่อมาวันที่ 21 ก.ย. 65 ได้มีการโอนเงิน 2,000,000 บาท จากนายตนุภัทร เลิศทวีวิทย์ หรือปอ และนายไพบูลย์ ตรีกาญจนานันท์ หรือโรเบิร์ต โดยเป็นการจ่ายผ่านแคชเชียร์เช็ค 2 ใบ ใบละ 800,000 บาท มอบให้คุณแม่ตอนไปขึ้นศาลจังหวัดนนทบุรี และแม่ต้องจ่าย 600,000 บาทให้ทนายชัยวัฒน์ตามสัญญา แต่แม่กลับจ่ายเงินสดให้ทนายชัยวัฒน์เพียง 400,000 บาท ส่วน 200,000 บาทที่เหลือแม่ขอติดไว้ก่อน กระทั่งผ่านมา 12 เดือน แม่ยังค้างจ่ายอยู่ ซึ่งการไม่สามารถจ่ายเงินได้นั้นถือว่าผิดตามสัญญาว่าจ้าง และหากจะยกเลิกจะต้องมีเป็นเอกสารลายลักษณ์อักษรจากทางคุณแม่ภายใน 15 วัน ส่วนถ้าหากทนายชัยวัฒน์ไม่ได้ทำผิดอะไร แต่คุณแม่จะมาบอกเลิกจ้างก็จะต้องถูกปรับเป็นสองเท่าของมูลค่าเงินที่คุณแม่ต้องจ่ายให้ ดังนั้น ที่เกิดขึ้นไม่ใช่เงินยักยอกแต่ว่าเป็นเงินที่ได้จากการว่าจ้างตามวิชาชีพ
นายอัจฉริยะ กล่าวต่อว่า ในกรณีที่แม่ค้างจ่ายทนายชัยวัฒน์อีก 200,000 บาทนั้น ในข้อเท็จจริงไม่ว่าแม่จะได้เงินเยียวยามากี่บาท ทนายชัยวัฒน์จะต้องได้รับ 30% ซึ่งแม้ในกรณีที่คุณแม่ได้รับเงินจากทปอและโรเบิร์ตเดือนละ 30,000 ทนายชัยวัฒน์ก็จะต้องได้ 30% เช่นเดียวกัน ทำให้ทนายชัยวัฒน์จะได้เดือนละ 9,000 บาท เมื่อสรุปยอดรวมแล้ว ทั้งเงินเดือนและของเก่าที่ค้างไว้คุณแม่ติดจ่ายให้ทนายชัยวัฒน์อยู่ประมาณ 380,000 บาท ซึ่งได้มีใบเตือนยื่นแจ้งไปแล้ว ส่วนทนายไพศาลและทนายชานนท์ ทางทนายชัยวัฒน์ จะเป็นผู้ไปดูแลรับผิดชอบเอง ซึ่งการมอบเงินตามใบเสร็จไม่ใช่สัญญาทาส แต่เป็นข้อตกลงระหว่างคนสองคน อีกทั้งทนายชัยวัฒน์เป็นที่ปรึกษากฎหมายของคุณแม่ แต่ไม่ใช่ทนายความของแม่
นายอัจฉริยะ กล่าวด้วยว่า เวลาดีกันก็จัดการให้หมด พอตอนนี้ผลประโยชน์ไม่ลงตัวก็เลยแตกกัน ส่วนประเด็นเงิน 400,000 บาทในรอบหลังนั้น นายโรเบิร์ตได้โอนให้ทนายชัยวัฒน์เมื่อวันที่ 14 มิ.ย. 66 ซึ่งเป็นเงินที่ทนายชัยวัฒน์ พาเจ้าของนักธุรกิจซื้อขายรถยนต์ไปดำเนินการเกี่ยวกับเรื่องการซื้อรถยนต์หรูมือสองกับปอและโรเบิร์ต ทำให้นายปอและนายโรเบิร์ต โอนเงินดังกล่าวให้เป็นรางวัลแก่ทนายชัยวัฒน์ ซึ่งเป็นการโอนเงินตรงเข้าบัญชีเจ้าตัว หรือเรียกว่าเป็นค่าคอมมิชชั่นภายหลังการขาย ไม่ใช่เงินโบนัสสำหรับคุณแม่ แต่พอเกิดเหตุแบบนี้คุณแม่กลับมีการโทรศัพท์มาทวงทนายชัยวัฒน์ทุกเช้าเย็นว่าจะต้องโอน 200,000 บาทให้แม่ด้วย แต่เนื่องด้วยตอนนั้นทนายชัยวัฒน์ ติดทำคดีที่จะฟ้องมาตรา 290 แก่คนบนเรือที่เหลืออีก 4 ราย ยกเว้นปอและโรเบิร์ต ทนายชัยวัฒน์ จึงกลัวว่าจะมีปัญหาขัดแย้งกัน จึงตัดสินใจจ่ายให้แม่ 50,000 บาทก่อน ส่วนอีก 150,000 บาททำเป็นสัญญากู้ยืมเงินระหว่างกันแทน อย่างไรก็ตาม ทนายชัยวัฒน์ ยังไม่ได้เซ็นร่างคำฟ้องมาตรา 290 ดังนั้น หากแม่บอกว่าเป็นเงินโบนัสจากปอและโรเบิร์ต ทำไมทั้งสองคนที่เป็นลูกชายสุดที่รักของแม่จึงไม่โอนเงินเข้าบัญชีธนาคารของแม่โดยตรงแต่กลับโอนเข้าบัญชีธนาคารของทนายชัยวัฒน์ ตรงนี้บุคคลที่เป็นผู้โอนเงินให้ทนายชัยวัฒน์ ก็คือปอและโรเบิร์ตจะต้องออกมาชี้แจงให้สังคมได้รับทราบข้อเท็จจริงว่าเงิน 400,000 บาทนี้เป็นเงินค่าคอมมิชชั่นที่ได้จากการขายรถหรือเป็นค่าโบนัสให้แม่แตงโม
นายอัจฉริยะ กล่าวเพิ่มเติมว่า เมื่อวันที่ 2 พ.ย. 66 ที่คุณแม่ไปให้สัมภาษณ์หน้าศาลกับนักข่าวช่อง 8 ว่าเงิน 200,000 บาทที่ได้รับเป็นเงินปิดปากไม่ให้พูดหรืออุทธรณ์เรื่องของปอและโรเบิร์ตหรือไม่นั้น ตนมองว่าอาจมีความเป็นไปได้ ทั้งนี้ ข้อมูลที่ตนมีในมือมีความรอบด้านแต่เพียงแค่ทั้งสองคนก็คือทนายชัยวัฒน์และคุณแม่กล่าวอ้างไม่เหมือนกัน คนที่รู้เรื่องนี้ดีที่สุดก็คือปอและโรเบิร์ต ส่วนกรณีที่วานนี้ปอบอกว่าเงิน 400,000 เป็นเงินโบนัสให้แม่นั้น ก็ต้องให้เจ้าตัวมาชี้แจงว่าทำไมถึงไม่โอนเข้าบัญชีธนาคารโดยตรงของแม่แทน เพราะปกติปอจะต้องโอนเงินให้แม่อยู่แล้วเดือนละ 30,000 บาท
...
นอกจากนี้ ผู้สื่อข่าวรายงานเพิ่มเติมว่า นายอัจฉริยะ ยังโชว์ภาพหลักฐานจดหมายของคุณแม่แตงโมที่เขียนด้วยลายมือ และคลิปเสียงสนทนาความยาวเกือบ 7 นาที เพื่อยืนยันในกรณีที่แม่อ้างว่าไม่รู้เรื่องที่ทนายชัยวัฒน์เขียนร่างคำฟ้องมาตรา 290 เตรียมฟ้องแก่คนบนเรือ ว่าจริงๆ แล้วแม่มีการตรวจทุกตัวอักษรและรับรู้ ซึ่งจดหมายที่เขียนด้วยลายมือของแม่ ถูกเขียนไว้เมื่อวันที่ 26 ส.ค. 66 ขณะที่คลิปเสียงบทสนทนาระหว่างแม่และทนายชัยวัฒน์ เป็นการพูดคุยกันเมื่อวันที่ 29 ก.ค. 66 ซึ่งก็หมายความว่าจดหมายเกิดขึ้นทีหลังคลิปเสียงสนทนา แม่จะอ้างว่าไม่รับรู้ไม่ได้ ยืนยันว่าแม่เป็นคนสั่งการให้ร่างสำนวนฟ้องข้อหาฆาตกรรมและข่มขืน ซึ่งการที่ตนออกมาเปิดหน้าเปิดหลักฐานในวันนี้ เพราะว่าเพื่อนของตนได้ไปทุ่มในคดีแตงโมเป็นทั้งคนรวบรวมพยานหลักฐานทั้งหมดให้กับทีมทนายชัยวัฒน์ ตนจึงไม่อยากให้ใครก็ตามต้องตกเป็นเหยื่อของแม่แตงโมอีกต่อไป
จากนั้นนายอัจฉริยะ เรืองรัตนพงษ์ ประธานชมรมช่วยเหลือเหยื่ออาชญากรรม นำหลักฐานเอกสารเป็น มติที่ประชุมของคณะอนุกรรมาธิการการตำรวจ การแก้ไขปัญหายาเสพติดและการฟอกเงิน ในปี 2562 ที่ระบุ ว่ามีบริษัทที่เกี่ยวข้องกับเครือข่ายยาเสพติดนำเงินไปซื้อน้ำมัน จากบริษัทยักษ์ใหญ่ในประเทศ แต่ไม่ได้มีการซื้อขายกันจริง ก่อนนำมาฟอกเงินในธุรกิจเว็บไซต์พนันออนไลน์ ธุรกิจอสังหาริมทรัพย์ และร้านอาหาร และนำกลับไปหมุนเวียนในเครือข่ายค้ายาเสพติดอีกทอดหนึ่ง พร้อมด้วยรายชื่อของผู้ที่เกี่ยวข้องกว่า 200 คน มามอบให้กับนางเมทินี พัฒนภักดี เลขานุกรม สำนักงานคณะกรรมการป้องกันและปราบปรามยาเสพติดหรือ (ป.ป.ส.) เพื่อให้ พลตำรวจโทภาณุรัตน์ หลักบุญ เลขาธิการ ป.ป.ส.ตรวจสอบยึดทรัพย์สินเครือข่ายที่ยังดำเนินธุรกิจอยู่
โดยสำหรับขบวนการดังกล่าวเป็นขบวนการค้ายาเสพติดรายใหญ่ ที่เชื่อว่ามีส่วนเกี่ยวข้องกับยาเสพติด ที่ระบาดอยู่ในประเทศไทยขณะนี้กว่าร้อยละ 40 ได้นำเงินจากการค้ายาเสพติด และซื้อขายน้ำมันจากบริษัทในประเทศเพื่อส่งออกไปจำหน่ายที่ประเทศเพื่อนบ้าน แต่ความจริงแล้วจำหน่ายเพียงร้อยละ 10 ส่วนอีกร้อยละ 90 ได้นำกลับเข้ามาจำหน่ายในประเทศไทยพร้อมด้วยเงินภาษีมูลค่าเพิ่มรวมกว่า 15,000 ล้านบาท จากนั้นยังนำเงินทั้งหมดที่ได้จากการทำธุรกิจในเครือข่ายมี ประมาณ 30,000 ล้านบาท ไปลงทุนในเว็บไซต์พนันออนไลน์
...
อย่างไรก็ตาม ในคดีนี้กรมสอบสวนคดีพิเศษได้รับเป็นคดีพิเศษที่ 116 / 2563 ไปแล้วในความผิดตามพระราชบัญญัติศุลกากรฯ และทางกองบัญชาการตำรวจนครบาล ก็ได้ดำเนินการจับกุมเครือข่ายค้ายาเสพติดดังกล่าวและกลุ่มบริษัทขนส่งที่จังหวัดนนทบุรี และศาลได้มีคำพิพากษาลงโทษประหารชีวิตแล้ว รวมทั้งอัยการสูงสุดก็ได้รับตรวจสอบดำเนินคดีดังกล่าวในฐานะคดีนอกราชอาณาจักรไปแล้ว แต่เนื่องจากตัวการใหญ่ในคดี ที่เป็นนักธุรกิจรายใหญ่ ข้าราชการระดับสูง และเจ้าหน้าที่รัฐที่ผู้ต้องหาได้ซัดทอด และเครือข่ายอีกหลายรายที่ผู้ต้องหาได้ซัดทอดถึงยังไม่ถูกดำเนินคดี และยังคงดำเนินธุรกิจอยู่โดยนำเงินไปสนับสนุนไปยังธุรกิจต่างๆ ทั้งสถานบันเทิง ธุรกิจร้านอาหาร โรงแรม อสังหาริมทรัพย์ ขณะที่ขั้นตอนการยึดทรัพย์ที่เหลือในคดีที่ผ่านมาเรื่องยังคงค้างอยู่ที่ขั้นตอนของคณะอนุกรรมาธิการการตำรวจ การแก้ไขปัญหายาเสพติดและการฟอกเงิน โดยไม่มีการดำเนินการต่อ และมีผู้มาร้องเรียนกับตนเอง จึงได้รวบรวมพยานหลักฐานมายื่นต่อเลขาธิการคณะกรรมการสำนักงานป้องกันและปราบปรามยาเสพติด เพื่อตรวจสอบยึดทรัพย์บุคคลที่เกี่ยวข้องในขบวนการดังกล่าวไม่ต่ำกว่า 200 คนต่อไป เพื่อให้ทรัพย์สินดังกล่าวตกเป็นของรัฐ และตัดวงจรขบวนการเครือข่ายค้ายาเสพติด