สืบนครบาลตามรวบสาวแสบสร้างเฟซบุ๊กแฝงตัวไปในกลุ่มขายของออนไลน์กว่า 600 กลุ่ม โพสต์ตุ๋นขายของนานาชนิด ถึงขั้นเหยื่อกว่า 600 คน ที่หลงกล ต้องรวมตัวตั้งกลุ่มไล่ล่าพร้อมร้องเรียนมายังชุดลาดตระเวนออนไลน์ของ บช.น.กระทั่งจับกุมได้ สารภาพก่อเหตุมาตั้งแต่ปี 58 ได้เงินจากการโกงร่วม 2 ล้านบาท อ้างรายได้ไม่พอรายจ่าย เลยวางแผนคิดเองว่า ถ้าหลอกเงินคนละไม่เกิน 2,000 บาท น่าจะไม่มีการแจ้งความ
สืบนครบาลตามล็อกสาวแสบโพสต์ตุ๋นขายของนานาชนิด มีผู้เสียหายเกินครึ่งพัน เปิดเผยขึ้นเมื่อวันที่ 3 มี.ค. มีรายงานว่า พล.ต.อ.รอย อิงคไพโรจน์ รอง ผบ.ตร. และ ผอ.ศูนย์ปราบปรามอาชญากรรมทางเทคโนโลยี พล.ต.ท.ธิติ แสงสว่าง ผบช.น. พล.ต.ต.นพศิลป์ พูลสวัสดิ์ รอง ผบช.น.สั่งการ พล.ต.ต.ธีรเดช ธรรมสุธีร์ ผบก.สส.บช.น. พ.ต.อ.วรพจน์ รุ่งกระจ่าง พ.ต.อ.เกียรติศักดิ์ สระทองออย รอง ผบก สส.บช.น. พ.ต.อ.จักราวุธ คล้ายนิล ผกก.วิเคราะห์ข่าวและเครื่องมือพิเศษ บก.สส.บช.น. พ.ต.ท.ยิ่งยศ ลีชัยอนันต์ พ.ต.ท.พัชรพงษ์ กาญจนวัฎศรี รอง ผกก.วิเคราะห์ข่าวและเครื่องมือพิเศษ บก.สส.บช.น. นำกำลังจับกุม น.ส.นภาพร แสงจันทร์ อายุ 25 ปี อยู่บ้านเลขที่ 148 ถนนฉลองกรุง แขวงลำปลาทิว เขตลาดกระบัง ตามหมายจับศาลจังหวัดพิษณุโลก ลงวันที่ 5 พ.ค.64 ข้อหา “ฉ้อโกงประชาชน, นำเข้าสู่ระบบคอมพิวเตอร์ ซึ่งข้อมูลคอมพิวเตอร์ปลอมไม่ว่าทั้งหมดหรือบางส่วน หรือข้อมูลคอมพิวเตอร์อันเป็นเท็จ โดยประการที่น่าจะเกิดความเสียหายแก่ประชาชนอันมิใช่การกระทำความผิดฐานหมิ่นประมาท” จับกุมได้ที่ข้างร้านสะดวกซื้อ ถนนประชาพัฒนา แขวงทับยาว เขตลาดกระบัง เมื่อค่ำวันที่ 2 มี.ค.ที่ผ่านมา
พล.ต.ต.ธีรเดช ธรรมสุธีร์ ผบก.สส.บช.น.เผยว่า ชุดลาดตระเวนออนไลน์ บก.สส.บช.น. ได้รับการร้องเรียนจากกลุ่มผู้เสียหาย ถูกคนร้ายชื่อ นภาพร หรือหวาน ก่อเหตุ สร้างเฟซบุ๊กหลายบัญชี หลอกให้โอนเงินค่าสั่งซื้อสินค้าต่างๆ อาทิ อุปกรณ์เดินป่า เครื่องสำอาง เสื้อผ้าเครื่องใช้ มือหนึ่งมือสอง ผ่านช่องทางออนไลน์ ถึงขนาดเหยื่อรวมตัวกันกว่า 6 ร้อยคน ตั้งกลุ่มเฟซบุ๊ก ชื่อ “จับคนโกง นภาพร-แสงจันทร์-ปนัดา-ปภัสสร-สุขใจ -napaporn sangjan” เพื่อแชร์เรื่องที่ถูกหลอก เป็นการเตือนภัย รวมทั้งแนะวิธีเก็บข้อมูลพยานหลักฐานและแจ้งความดำเนินคดี มูลค่าความเสียหาย 2 ล้านบาท ได้สืบสวนหาแหล่งที่กบดานกระทั่งจับกุมได้
...
สอบสวน น.ส.นภาพรรับสารภาพ เริ่มก่อเหตุตั้งแต่อายุ 18 ปี หรือประมาณปี 2558 ขณะนั้นมีอาชีพขายเสื้อผ้าผู้หญิงออนไลน์ และเป็นตัวแทนนายหน้าโพสต์ขายเครื่องสำอาง ครีมบำรุงผิว รายได้ไม่พอค่าใช้จ่าย เลยนำประสบการณ์จากการขายของออนไลน์มาหลอกผู้เสียหาย คิดว่าถ้าโกงเหยื่อในยอดเงินไม่เกิน 2,000 บาท น่าจะไม่มีผู้เสียหายติดตามแจ้งความดำเนินคดี ได้สร้างบัญชีเฟซบุ๊กหลายชื่อเข้าไปโพสต์หลอกขายของในกลุ่มเฟซบุ๊กขายของต่างๆกว่า 600 กลุ่ม มีผู้เสียหายหลงเชื่อเฉลี่ยเดือนละ 20 ราย มีรายได้จากผู้เสียหายที่หลงเชื่อรายละ 500 ถึง 1,500 บาท รวมยอดเงินประมาณ 2,000,000 บาท เงินที่ได้นำไปใช้จ่ายในครอบครัว นำตัวผู้ต้องหาส่ง สภ.เมืองพิษณุโลก ดำเนินคดี
ผบก.สส.บช.น.กล่าวแจ้งเตือนภัยอีกว่า สังคมปัจจุบัน มิจฉาชีพมีเล่ห์เหลี่ยมกลโกงมากมายหลายรูปแบบ ขอประชาชนใช้สติในการใช้ชีวิตในสังคม อย่าเห็นแก่สินค้าที่มีราคาถูกกว่าราคามาตรฐานในท้องตลาด เนื่องจากมิจฉาชีพมักใช้ความโลภ เห็นแก่ผลกำไร ราคาถูกมาเป็นจุดล่อใจให้หลงกล หากไม่แน่ใจ หรือสงสัยว่าบุคคลที่เข้ามาเสนอผลประโยชน์ เสนอขาย หรือชักชวนลงทุนในด้านต่างๆ นั้นจะเป็นมิจฉาชีพหรือไม่ ให้แจ้งเจ้าหน้าที่ตำรวจเข้าตรวจสอบ หรือแจ้งเบาะแสการกระทำความผิด มายังเพจ “สืบสวนนครบาล IDMB” ได้ตลอด 24 ชม. แม้จะเป็นคดีที่มีความเสียหายไม่มาก แต่หากเป็นคดีที่ประชาชนเดือดร้อน เราทำทันที ตามนโยบายของ พล.ต.อ.ดำรงศักดิ์ กิตติประภัสร์ ผบ.ตร.