ดร.วิภารัตน์ ดีอ่อง ผอ.สำนักงานการวิจัยแห่งชาติ (วช.) เปิดเผยว่า วช.ให้การสนับสนุนงานวิจัยเพื่อแก้ปัญหาฝุ่นละอองขนาดเล็ก หรือฝุ่น PM2.5 เช่น ระบบข้อมูลคุณภาพอากาศแบบเบ็ดเสร็จ หรือศูนย์เฝ้าระวังคุณภาพอากาศ (AQIC) ที่ดำเนินงานอย่างต่อเนื่องโดยทีมนักวิจัยจาก ม.เชียงใหม่ ที่เรียกว่า “DustBoy” ซึ่งติดตั้งแล้วกว่า 700 จุดทั่วประเทศ ล่าสุดคืองานวิจัยเรื่อง “การใช้ไม้ยืนต้นลดฝุ่น PM2.5 อย่างยั่งยืน ด้วยรูปแบบโครงสร้างและลำดับชั้นต้นไม้แบบนิเวศป่าในเมือง” ผลงานทีมนักวิจัยจาก ม.เทคโนโลยีพระจอมเกล้าธนบุรี ม.ศรีนครินทรวิโรฒ และ ม.เกษตรศาสตร์ ทำให้ทราบถึงชนิดพืชที่มีศักยภาพในการลดฝุ่น PM2.5 และกลไกการบำบัดฝุ่นด้วยพืช จนเกิดเป็นโมเดลต้นแบบ “สวนป้องกันฝุ่น PM 2.5” แห่งแรกในบริเวณพื้นที่ของสำนักงานการวิจัยแห่งชาติ บางเขน

ด้าน รศ.ดร.ชัยรัตน์ ตรีทรัพย์สุนทร คณะทรัพยากรชีวภาพและเทคโนโลยี ม.เทคโนโลยี พระจอมเกล้าธนบุรี กล่าวว่า การเลือกใช้พันธุ์ไม้ในสวนต้นแบบ ประกอบด้วยต้นไม้ 3 ระดับ ไม้ขนาดใหญ่จะเป็นต้นไม้เดิมซึ่งปกคลุมชั้นเรือนยอด เช่น ราชพฤกษ์ ประดู่บ้าน และพิกุล ส่วนไม้ที่นำมาปลูกเพิ่มจะเป็นไม้ขนาดกลางและไม้ขนาดเล็ก ซึ่งโดยทั่วไปฝุ่น PM2.5 จะถูกพัดพาไปตามกระแสอากาศ ดังนั้นสวนแห่งนี้จึงมีการออกแบบให้กระแสอากาศที่มาจากถนนไหลไปตามแนวพื้นที่ว่าง ที่เกิดจากการปลูกต้นไม้ที่มีใบขนาดเล็กทรงโปร่งเป็นแนวดักลม เมื่ออากาศเคลื่อนที่ช้าลงทำให้ฝุ่นละอองขนาดเล็กถูกดักจับด้วยใบพืชที่มีประสิทธิภาพในการลด PM2.5 ส่วนความชื้นจากการคายน้ำของพืชบริเวณนั้น จะช่วยเพิ่มน้ำหนักให้กับฝุ่นละลองขนาดเล็กให้เคลื่อนที่ลดลง เพิ่มเวลาให้พืชช่วยดักจับฝุ่นขนาดเล็กได้

...

รศ.ดร.ชัยรัตน์กล่าวต่อว่า ภายในสวนยังจัดโซนต้นไม้กันฝุ่น ได้แก่ โซนลิ้นมังกรสู้กลิ่น พันธุ์ไม้อวบน้ำและพืชในกลุ่ม เช่น ต้นลิ้นมังกร ต้นสับปะรดสี ช่วยลดสารระเหย กลิ่นเหม็นและฝุ่นได้ดี และยังช่วยฟอกอากาศในเวลากลางคืน ซึ่งจากงานวิจัยพบว่าต้นลิ้นมังกรลดฝุ่นได้มากกว่าร้อยละ 40 ในระบบปิดขนาด 1 ลูกบาศก์เมตร ที่ความเข้มข้น PM2.5 เริ่มต้นที่ 450-500 ไมโครกรัม/ลูกบาศก์เมตร โซนพันธุ์ไม้ที่ใบมีขน ช่วยในการจับฝุ่นละอองในอากาศ เช่น ต้นพรมกำมะหยี่ และต้นพรมญี่ปุ่น โดยต้นพรมกำมะหยี่ลดฝุ่นได้มากกว่าร้อยละ 60 ในระบบปิดขนาด 1 ลูกบาศก์เมตร ที่ความเข้มข้น PM2.5 เริ่มต้นที่ 450-500 ไมโครกรัม/ลูกบาศก์เมตร และโซนพันธุ์พืชลดมลพิษ เช่น ต้นหมาก เดหลี พลูปีกนก คล้า และกวักมรกต.