ตามที่ น.ส.ตรีนุช เทียนทอง รมว.ศึกษาธิการ แสดงความกังวลว่า ร่าง พ.ร.บ.การศึกษาแห่งชาติ พ.ศ. ...จะพิจารณาไม่ทันในรัฐบาลชุดนี้นั้น ศ.ดร.สมพงษ์ จิตระดับ นักวิชาการการศึกษา และกรรมการผู้ทรงคุณวุฒิภาคประชาสังคม กองทุนเพื่อความเสมอภาคทางการศึกษา (กสศ.) กล่าวว่า การแสดงท่าทีถอดใจของ รมว.ศึกษาธิการ ทำให้เสมือนเป็นการยอมรับว่า ร่าง พ.ร.บ.การศึกษาฯจะไม่รอด ทั้งนี้ รมว.ศึกษาธิการจะต้องเป็นเสาหลักที่สร้างความเชื่อมั่นและผลักดันให้กฎหมายแม่บทฉบับนี้ผ่านการพิจารณาจากรัฐสภา ส่วนตัวเห็นว่า ร่าง พ.ร.บ.การศึกษาฯยังมีความหวังที่จะผ่านรัฐสภา โดยอยากให้ภาควิชาการ อาจารย์มหาวิทยาลัย อดีตคณะ กรรมการปฏิรูปการศึกษา ช่วยกันออกมาเป็นกองหนุนให้กับ รมว.ศึกษาธิการ เนื่องจากขณะนี้ทุกภาคส่วนนิ่งเฉยกันไปหมด ขณะที่รัฐบาลก็ต้องประสานฝ่ายนิติบัญญัติให้ ส.ส.พรรคร่วมรัฐบาลเข้าประชุม เพราะการปฏิรูปการศึกษาเป็นนโยบายของรัฐบาลนี้ หากทำไม่สำเร็จก็ถือว่ารัฐบาลล้มเหลว ถ้ารัฐบาลไม่ผลักดันอย่างจริงจัง รมว.ศึกษาธิการก็ถอดใจ ร่าง พ.ร.บ.การศึกษาฯคงไปไม่รอด

ต่อข้อถามถึงกระแสการต่อต้าน ร่าง พ.ร.บ.การศึกษาฯขององค์กรครูนั้น ศ.ดร.สมพงษ์กล่าวว่า ร่าง พ.ร.บ.การศึกษาฯฉบับนี้ เป็นก้าวแรกที่จะทำให้การศึกษาไทยโงหัวขึ้น เพราะเป็นกฎหมายที่ไม่แตะต้องโครงสร้าง แต่เน้นเรื่องหลักสูตร การเรียนรู้ของเด็ก การมีส่วนร่วมของทุกภาคส่วน ทั้งนี้ ปัญหาการศึกษามีมายาวนาน ไม่ว่า ส.ส. หรือ ส.ว. หรือองค์กรครู จะวิจารณ์จุดไหนก็เป็นเรื่องจริงทั้งสิ้น แต่เราควรให้โอกาส ร่าง พ.ร.บ.การศึกษาฯฉบับนี้ ให้ผ่านออกมาให้เป็นหลักเพื่อปฏิรูปการศึกษา ส่วนข้อกังวลต่างๆที่มีการอภิปรายนั้น คณะกรรมาธิการฯ ก็ควรบันทึกไว้ เมื่อ ร่าง พ.ร.บ.การศึกษาฯผ่านสภาแล้วก็นำปัญหาต่างๆมากำหนดแนวทางแก้ไขโดยใช้แผนการศึกษาแห่งชาติเป็นเครื่องมือ และตั้งคณะกรรมการขึ้นชุดหนึ่งขับเคลื่อนตามแผนการศึกษาชาติ

...

“หาก ร่าง พ.ร.บ.การศึกษาฯฉบับนี้ไม่ผ่านรัฐสภา การศึกษาของชาติก็จะจมปลักโงหัวไม่ขึ้นไปอีกหลายปี การศึกษาไทยบอบช้ำหนักมานาน ไม่ว่าจะแตะตรงไหนก็พบปัญหา แล้วเราจะปล่อยไว้เช่นนั้นหรือ เราต้องผลักดันให้กฎหมายแม่บทด้านการศึกษาออกมาก่อน เพื่อให้การปฏิรูปการศึกษาเริ่มขับเคลื่อนได้ หากร่าง พ.ร.บ.การศึกษาฯยังไม่ออกมา เราก็จะอยู่ในวังวนเดิม ประเทศไทยเสียโอกาสทางการศึกษามากว่า 30 ปีแล้ว ไม่ควรยอมเสียโอกาสอีกต่อไป” ศ.ดร.สมพงษ์กล่าว.