กทม. เตรียมพร้อมมาตรการเฝ้าระวัง "สุขภาพ" และ "ความปลอดภัย" ช่วงเทศกาลปีใหม่ พร้อมแนะประชาชนควรปฏิบัติตามมาตรการป้องกันโรคอย่างเคร่งครัด
วันที่ 7 ธ.ค. 2565 รศ.ดร.ทวิดา กมลเวชช รองผู้ว่าราชการกรุงเทพมหานคร เผยว่า สำนักอนามัยได้รายงานสถานการณ์โรคโควิด-19 ในพื้นที่ กทม. มีแนวโน้มพบผู้ติดเชื้อ ผู้ป่วยรักษาในโรงพยาบาลเพิ่มขึ้น ผู้ป่วยเสียชีวิตคงตัว ส่วนใหญ่ผู้เสียชีวิตเป็นกลุ่มผู้สูงอายุ และมีโรคประจำตัวเรื้อรัง ปัจจัยเสี่ยงสำคัญคือ การไม่ได้รับวัคซีน รับวัคซีนไม่ครบ หรือได้รับเข็มสุดท้ายนานเกิน 4 เดือน ในวันนี้ กทม. มีผู้ป่วย 721 ราย เสียชีวิต 5 ราย โดยมีประชาชนเข้ารับการฉีดวัคซีนโควิด-19 เพิ่มขึ้น ซึ่งควรได้รับวัคซีนครบ 4 เข็ม หรือหากได้รับวัคซีนเข็มสุดท้ายเกิน 4 เดือนแล้ว ขอให้เข้ารับการวัคซีนกระตุ้น โดยเฉพาะผู้ที่มีความเสี่ยงขอให้ระมัดระวังเรื่องการเข้าใกล้หรือการอยู่ใกล้ชิดกับกลุ่ม 608 ด้วย
สำหรับยอดฉีดวัคซีนโควิด-19 ใน กทม. รายสัปดาห์ (28 พ.ย. – 4 ธ.ค. 65) มีดังนี้ 1. สังกัดสำนักอนามัย แบ่งเป็น ศูนย์วัคซีน กทม. ไทย-ญี่ปุ่น ดินแดง 3,954 โดส ศูนย์บริการสาธารณสุข 6,292 โดส รวม 10,246 โดส 2. สังกัดสำนักการแพทย์ รวม 7,929 โดส 3. เอกชนและสังกัดอื่นๆ รวม 21,679 โดส รวมทั้งหมด 39,854 โดส ในส่วนของยาและเวชภัณฑ์ยังมีเพียงพอ เนื่องจาก กทม. มีการสำรวจและซื้อเพิ่มเติมอย่างสม่ำเสมอ
ส่วนมาตรการเฝ้าระวังและแผนรองรับสถานการณ์ด้านสุขภาพและความปลอดภัยของประชาชนในช่วงเทศกาลปีใหม่ ซึ่งในเดือน ธ.ค. นี้ มีการจัดงานหลายงาน อาทิ งานกาชาด, งานคริสต์มาส, งานปีใหม่ ต่อเนื่องไปจนถึงงานวันเด็กในเดือน ม.ค. 66 โดยขอให้ผู้จัดงานและผู้ร่วมงาน ปฏิบัติตามมาตรการ COVID Free Environment มาตรการ COVID Free Personnel และมาตรการ COVID Free Customer โดยประชาชนควรปฏิบัติตามมาตรการป้องกันโรคส่วนบุคคล (Universal Prevention : UP) อย่างเคร่งครัด
...
ทั้งนี้ นอกจากมาตรการป้องกันควบคุมโรคโควิด-19 แล้ว ทาง กทม. ยังได้หารือกับผู้จัดงาน พิจารณาความหนาแน่นของสถานที่จัดงานและผู้ร่วมงาน นอกจากนี้ ได้ขอให้ผู้จัดงานลดขนาดพื้นที่จัดงานลงเล็กน้อย เพื่อจัดเป็นพื้นที่ปลอดภัย โดยหากมีสถานการณ์ฉุกเฉินเกิดขึ้น พื้นที่ปลอดภัยนี้จะเปิดและสามารถอพยพประชาชนออกมาได้อย่างรวดเร็ว รวมทั้งมีการประสานกับผู้ประกอบการให้มีการสื่อสารกับประชาชนได้อย่างทั่วถึงในกรณีที่มีเหตุฉุกเฉินด้วย.