ผมพยายามทำความเข้าใจเนื้อหาประชาสัมพันธ์งานกิจกรรมงานเปิดนิทรรศการดินเผา ร้อยเท่ เสน่ห์ชา พุธ 7 ธ.ค. 4 โมงเย็น ถึง 1 ทุ่ม ณ ลานกาลิเลโอเอซิส ที่เพื่อนหมู ปนัดดา ทยอยส่งมาให้

เนื้อหาตอนแรก ปานชลี สถิรศาสตร์ ศิลปินช่างปั้น ผู้หลงใหลรสชาติชา เล่าถึงตำนานชา

นับเวลาพันปี ที่ชามีตำนานเล่าขานคู่มากับถ้วย มีทั้งความสุขสันต์และรันทด เป็นทั้งความงามงดและอัปลักษณ์ ทั้งมาจากที่สูงส่ง และถูกทำให้ต่ำต้อย

เป็นสิ่งสูงราคา ที่ทำให้ไร้ค่าโดยง่าย

เป็นพืชพันธุ์อันอัศจรรย์ที่สร้างตำนานอันเบิกบาน และโศกสลด เป็นเหตุให้เกิดโศลกขับกล่อม และก่อสงครามอันยืดเยื้อ

เป็นสิ่งที่ใช้เวลาตระเตรียมอันเนิ่นนาน เพื่อจะชื่นชมและเสพกินในยามครู่ เป็นศิลปินเพื่อเชิดชูความอ่อนน้อม เพื่อถ่อมใจให้ติดดิน

ผู้อยากเข้าใจตำนานอันเบิกบาน และโศกสลด....“ให้ซาบซึ้งลุ่มลึกขึ้น”

เชิญมาคุยกับคุณปานชลีได้ที่นิทรรศการ ร้อยเท่ เสน่ห์ชา ณ กาลิเลโอเอซิส ระหว่าง 11.00–19.00 น. วันพฤหัสฯ 8-อาทิตย์ 25 ธันวาคม (เว้นวันอังคาร)

มีแผนที่สำหรับการเดินเข้าซอยโรงเรียนกิ่งเพชร เข้าไป 10 เมตร เลี้ยวขวา 30 เมตร เลี้ยวซ้าย เดินตรงไป 60 เมตร ก็ถึงสถานที่จัดงาน กาลิเลโอเอซิส

ตอนที่สอง คุณหมูตั้งใจบรรยายเสียงไวโอลินเสียงเชลโล่ ประสานเสียงเครื่องสายของนักดนตรีสองสาวหนุ่มสถาบันดนตรี
กัลยาณิวัฒนา คลอบทกวี

บทแรก กวีสุภาพสตรีอินเดีย เล่าว่า ชาเพียง 1 ถ้วย มีผลต่อชีวิตอย่างไร ตามด้วยชาเจ็ดถ้วย บทกวี ท่านหลูกง ปราชญ์แห่งชา ยุคราชวงศ์ถัง

บทกวีที่ 3 จอห์น จาง ชาวเมืองซาราวัค ชื่อภาษาไทย น้ำใสไม่ลวงชา บรรยายวิถีแห่งการชงชาที่เป็นสื่อแห่งการบอกรัก และ
ตามมาด้วยบทกวีชื่อชาร้อนซ่อนรัก จากศาสตราจารย์ จาง ฉั่ว มหาวิทยาลัยเซาท์แคลิฟอร์เนีย

...

หมู ปนัดดา บอกว่า ผู้สรรหาบทกวีชุดนี้ คือ พญ.จุฑาทิพย์ หิโรโอตัปปะ จักษุแพทย์ผู้รักวรรณคดีและกลอนกวีไม่แพ้ความเป็นเลิศทางวิชาชีพ

เนื้อหาตอนที่สาม หมู ปนัดดา เล่าถึงประธานเปิดงาน คุณหญิง จำนงศรี รัตนิน หาญเจนลักษณ์ วัย 80 ปี

ทั้งสองนับเป็นสองศิลปิน เคยทำงานร่วมกับปานชลี ในนิทรรศการ “งามในความเงียบ” ปานชลี ปั้นดินเป็นเปลือกไม้ คุณหญิงปั้นคำ เป็นบทกวี

คุณหญิงและปานชลี เป็น 2 ใน 4 ศิลปินไทย ที่ร่วมแสดงงานนิทรรศการ 4 ศิลปินจากเยอรมัน ในนิทรรศการเชื่อมสายสัมพันธ์ไทย-เยอรมัน เชื่อม Coming Closer ซึ่งจัดแสดงที่หอศิลป์กรุงเทพฯ เบอร์ลิน และสตุตการ์ด

ศิลปินสาวเยอรมันคนหนึ่ง ขอลายมือบทกวีคุณหญิงแปะเข้าไปในภาพเขียนของเธอ นับเป็นการทำงานแบบ “ศิลปะส่องทางแก่กัน”โดยแท้

จบเนื้อหาประชาสัมพันธ์งาน ร้อยเท่ เสน่ห์ชา ผมเข้าใจว่าแฟนพันธุ์แท้ของปานชลีรู้และเข้าใจแจ่มแจ้ง

สำหรับผม เพิ่งรู้ งานนี้ ไม่มีหนังสือทำนอง เทวลีลา เทวาบันเทิง เล่าเรื่องเทพเทพีที่ผมชอบ แต่ก็พอเข้าใจ ก็แค่บทกวี เสียงเพลง และถ้วยชารูปทรงศิลปะแปลก สะดุดตา คงดึงดูดให้ผู้คนที่คุ้นเคยกลิ่นอายเข้าไปหา

โลกของเราก็เท่านี้ นี่คือวิถีของศิลปินปั้นดิน ปั้นคำ ปานชลี สถิรศาสตร์ ผู้เป็นหนึ่งไม่เป็นสองรองใคร

ผมเป็นคนหนึ่งที่ซาบซึ้ง และคารวะในจิตวิญญาณและผลงานของเธอเสมอมา.

กิเลน ประลองเชิง