ผบช.สตม.แถลงโชว์ผลระดมกวาดล้างอาชญากรรมรับประชุมเอเปก 2022 มีคดีสำคัญ 3 คดี คดีแรกเป็นชาวจีนเปิดแอปฯระดมทุนโกงเพื่อนร่วมชาติ 4 แสนกว่าราย ความเสียหายกว่า 50 ล้านบาท คดีที่ 2 หลบหนีหมายจับประเทศจีนและหมายจับตำรวจสากล คดีครอบครองสิ่งต้องห้ามและปลอมเอกสาร คดีสุดท้ายจับชาวจีนไต้หวัน หัวหน้าแก๊งคอลฯที่เคลื่อนไหวในฟิลิปปินส์ หลังมาแสดงตัวเป็นเจ้าของรถหรู ที่จอดทิ้งไว้ในห้างย่านปทุมวัน
ตม.แถลงผลระดมรับประชุมเอเปก เมื่อเวลา 10.00 น. วันที่ 13 พ.ย. ที่สำนักงานตรวจคนเข้าเมือง (สตม.) เมืองทองธานี อ.ปากเกร็ด จ.นนทบุรี พล.ต.ท.ภาคภูมิภิภัทฒ์ สัจพันธุ์ ผบช.สตม. แถลงผลระดมกวาดล้างอาชญากรรมระหว่างวันที่ 10 ต.ค.- 12 พ.ย.65 ก่อนการประชุมผู้นำเศรษฐกิจการค้าเอเปก 2022 จับกุมได้หลายคดี ประกอบด้วย กลุ่มต่างด้าว หรือเป็นบุคคลต่างด้าวอยู่ในราชอาณาจักรไทยเกินกำหนด อนุญาต 785 ราย หลบหนีเข้าเมือง 1,249 ราย แบ่งเป็นคนลาว 770 ราย เมียนมา 349 ราย กัมพูชา 108 ราย และอื่นๆ 22 ราย ในจำนวนนี้มีคดีสำคัญรวม 3 คดี 2 คดีแรกเป็นหมายจับของอินเตอร์โพล
คดีแรก ผบช.สตม.กล่าวว่า จับกุมนายหลี่ (นามสมมติ) ชาวจีน อายุ 27 ปี มีหมายจับจากทางการจีนในคดีฉ้อโกงประชาชนผ่านแอปพลิเคชัน มีผู้เสียหายกว่า 4 แสนราย มูลค่าความเสียหาย 50 ล้านบาท จากการสืบสวนติดตามเส้นทางการหลบหนีของทางการจีนพบว่านายหลี่หลบหนีเข้ามาในประเทศไทย ได้ประกาศหมายจับลงในอินเตอร์โพล พร้อมประสานทางการไทยเร่งรัดจับกุมได้ที่หน้าบ้านพักย่านสุทธิสาร สอบสวนรับสารภาพ ร่วมกับพวกเปิดแอปพลิเคชันให้คนจีนร่วมลงทุนเพื่อผลกำไร แต่หลังจากมีคนเข้ามาเป็นจำนวนมาก ยอดเงินสูงจึงปิดแอปพลิเคชัน แบ่งเงินก่อนแยกย้ายกันหลบหนีออกนอกประเทศ
คดีที่ 2 จับกุมนายฮู ชาวจีน อายุ 40 ปี ตามหมายจับสาธารณรัฐประชาชนจีน และมีหมายอินเตอร์โพล (RED NOTICE) หลบหนีมาอยู่ในราชอาณาจักรไทย มีข้อหาในการกระทำผิดคือ ครอบครองสิ่งของต้องห้ามและปลอมเอกสาร สืบสวนพบว่าได้หลบหนีไปอยู่บริเวณสนามบินสุวรรณภูมิ จ.สมุทรปราการ ไปตรวจสอบจนพบ ตรวจสอบหนังสือ เดินทางพบว่าเป็นบุคคลเดียวกันกับหมายอินเตอร์โพล (RED NOTICE) เพิกถอนการอนุญาตอยู่ในราชอาณาจักรและผลักดันออกนอกราชอาณาจักร
...
คดีที่ 3 จับกุมนายจาง (นายสมมติ) อายุ 43 ปี ชาวไต้หวัน มีข้อมูลเชื่อได้ว่าเป็นหัวหน้าแก๊งคอลเซ็นเตอร์ชาวไต้หวัน ที่ทำงานในประเทศฟิลิปปินส์ โดยก่อนหน้าตรวจพบรถยนต์เฟอร์รารี่ สีแดง รุ่น 488 GTB ทะเบียน กต 488 กทม. มูลค่า 24 ล้านบาท จอดในห้างสรรพสินค้าแห่งหนึ่ง ท้องที่ สน.ปทุมวัน ตรวจสอบพบว่าถูกระงับใช้เมื่อ 3 ปีที่แล้ว ต่อมานายจางแสดงตัวยืนยันเป็นเจ้าของ พร้อมแสดงหนังสือเดินทางประเทศกัมพูชา เดินทางเข้าประเทศไทย เมื่อ 30 ต.ค.65 ได้รับอนุญาตประเภท ผ.ผ.14 เมื่อนำข้อมูลตรวจสอบในระบบ Biometric ของสำนักงานตรวจคนเข้าเมืองพบว่า มีใบหน้าคล้ายผู้ที่ใช้หนังสือเดินทาง 2 เล่ม เล่มแรกคือนายโด (นามสมมติ) ชาวไต้หวัน ซึ่งเสียชีวิตไปแล้ว และเล่มที่ 2 คือนายฟู (นามสมมติ) ชาวไต้หวัน ไม่เคยเดินทางออกนอกประเทศ ได้ประสานสำนักงานเศรษฐกิจและวัฒนธรรมไทเปประจำประเทศไทย ทราบว่านายจางเป็นหัวหน้าแก๊งคอลเซ็นเตอร์ชาวไต้หวันในประเทศฟิลิปปินส์ มีพฤติการณ์น่าเชื่อว่าเป็นภัยต่อสังคม หรือจะก่อเหตุร้ายให้เกิดอันตรายต่อความสงบสุขหรือความปลอดภัยของประชาชน ได้เพิกถอนการอนุญาตอยู่ในราชอาณาจักร และผลักดันออกนอกราชอาณาจักร หลังจากนี้จะทำงานควบคู่กับ ปปง.ขยายผลในส่วนของทรัพย์สินและเส้นทางการเงินต่อไป
พล.ต.ท.ภาคภูมิภิภัทฒ์กล่าวต่อว่า ในการกวาดล้างอาชญากรรมในช่วงการประชุมเอเปก เป็นเรื่องที่ ผบ.ตร.ให้ความสำคัญอย่างมาก เน้นในเรื่องของการอยู่ในราชอาณาจักรเกินกว่าที่กฎหมายกำหนด และความผิดอื่น พร้อมทั้งขยายผลจับเครือข่ายผู้กระทำความผิด สำหรับช่วงนี้การเดินทางของนักท่องเที่ยวที่เข้ามาในประเทศไทย ทั้งจำนวนนักท่องเที่ยวและเที่ยวบินมากขึ้น ตม.ทำงานอย่างเต็มที่ อยู่บนพื้นฐานความมั่นคงและความปลอดภัย เฉลี่ยเวลาตรวจสอบต่อนักท่องเที่ยวคือ 45 วินาที ส่วนประเด็นอาจจะมีผู้ไม่หวังดีเข้ามาก่อความไม่สงบการประชุมเอเปกหรือไม่นั้น สตม.ทำงานมาโดยตลอดก่อนการประชุม มีการประสานข้อมูลกับฝ่ายความมั่นคงของแต่ละประเทศถึงบุคคลที่เฝ้าระวัง รวมถึงประเทศคู่ขัดแย้ง ตรวจสอบย้อนหลังบุคคลที่เข้ามาอยู่ในประเทศ 6 เดือนถึง 1 ปี ทั้งสัญชาติหรือชนชาติของผู้ที่เฝ้าระวัง ที่พักอาศัย ความถี่ในการเดินทางเข้า-ออก และเดินทางออกไปนอกประเทศหรือไม่ ตอนนี้ยังไม่มีรายงานของบุคคลเหล่านี้