"อนุทิน" เผยความสำเร็จ คกก.ปฏิรูปด้าน สธ. ชี้ 5 ปีไม่สูญเปล่า สร้างโมเดลการให้บริการสุขภาพ "หมออุดม" ชม รมว.สธ.มีความเป็นผู้นำ พลิกโฉมระบบสุขภาพไทย จากความเข้าใจ-ทุ่มเท

เมื่อวันที่ 10 ส.ค.65 ที่กระทรวงสาธารณสุข (สธ.) นายอนุทิน ชาญวีรกูล รองนายกรัฐมนตรีและ รมว.สาธารณสุข เป็นประธานการประชุมร่วมระหว่างคณะกรรมการปฏิรูปประเทศด้านสาธารณสุขและผู้บริหารกระทรวงสาธารณสุข ถึงผลการดำเนินการตามยุทธศาสตร์ชาติและแผนการปฏิรูปประเทศด้านสาธารณสุข โดยมี ศ.คลินิก นพ.อุดม คชินทร ประธานคณะกรรมการปฏิรูปประเทศด้านสาธารณสุข นพ.โสภณ เมฆธน ผู้ช่วยรัฐมนตรีประจำกระทรวงสาธารณสุข และคณะเข้าร่วม

โดย นายอนุทิน กล่าวว่า สธ.ให้ความสำคัญต่อการขับเคลื่อนยุทธศาสตร์ชาติ และแผนการปฏิรูปประเทศด้านสาธารณสุข ซึ่งระยะเวลาที่ผ่านมาผู้ทรงคุณวุฒิทุกแขนง ได้เข้ามาร่วมเป็นคณะกรรมการปฏิรูปประเทศด้านสาธารณสุข ในการกำหนดทิศทางให้สอดคล้องกับแผนปฏิรูปประเทศ และขับเคลื่อนงานต่างๆให้เกิดผลชัดเจน โดยเฉพาะการแก้ไขปัญหาด้านสาธารณสุขในช่วงโควิด 2 ปีที่ผ่านมา ทำให้สามารถควบคุมสถานการณ์โรคดูแลผู้ป่วยจัดหาวัคซีนเพื่อเสริมสร้างภูมิคุ้มกัน ทำให้ได้รับความเชื่อมั่นและคำชื่นชมจากองค์การอนามัยโลกและนานาชาติ ทั้งนี้ คณะกรรมการปฏิรูปประเทศจะหมดวาระตามกฎหมาย 5 ปี คือ วันที่ 14 สิงหาคม 2565 จึงต้องขอบคุณคณะกรรมการปฏิรูปประเทศ ด้านสาธารณสุขที่เข้ามาทำงานร่วมกับกระทรวงสาธารณสุขอย่างใกล้ชิด และสร้างโมเดลในการให้บริการสุขภาพ จนเห็นการพัฒนาจำนวนมาก

นายอนุทิน กล่าวต่อว่า คณะกรรมการปฏิรูปประเทศด้านสาธารณสุขชุดนี้ให้การสนับสนุน สธ.หลายเรื่อง ทั้งนโยบาย 3 หมอ โดยเห็นความสำคัญแก่ อสม.จึงมีการพิจารณาค่าตอบแทนและเปิดโอกาสเพิ่มพูนทักษะ ความรู้ และศักยภาพ เช่น เปิดหลักสูตรผู้ช่วยพยาบาล 1 ปี ปีละ 3,000 ตำแหน่ง ให้กับ อสม.ขณะนี้กำลังเปิดรุ่นที่ 2 เพื่อทำให้เป็นหมอคนแรกของประชาชน ส่วนหมอคนที่ 2 และ 3 เป็นแพทย์เวชศาสตร์ครอบครัวที่อยู่ในโรงพยาบาล ใช้ระบบ Telemedicine ซึ่ง กสทช.ยินดีสนับสนุนสร้างเครือข่ายอินเทอร์เน็ตสัญญาณแรง ระบบข้อมูลที่ดี เพื่อให้ดูแลรักษาผู้ป่วยโดยไม่ต้องเดินทาง จะเป็นจุดปฐมภูมิที่เข้มแข็งมาก หรือการเตรียมความพร้อมสังคมผู้สูงอายุ เริ่มปฏิบัติการเชิงรุก ให้ผู้ป่วยติดเตียงได้รับการดูแลให้มากที่สุด ซึ่งจะมีการพัฒนาต่อไป ขณะนี้ สปสช.ได้อนุมัติสิทธิประโยชน์ผ้าอ้อมสำหรับผู้สูงอายุติดเตียงวันละ 3 ผืน เพื่อให้คุณภาพชีวิตดีขึ้น ลดภาระผู้ดูแล และประเทศไทยได้รับอนุมัติจากประชาคมอาเซียน เพื่อให้ตั้งศูนย์ผู้สูงอายุแห่งอาเซียน อยู่ในกระบวนการลงนามสนธิสัญญากับประเทศสมาชิก เป็นต้น

...

ทั้งนี้ ศ.คลินิก นพ.อุดม ได้กล่าวชื่นชมความสำเร็จดังกล่าวว่า ตนได้มารายงานผลสำเร็จของการดำเนินงานปฏิรูปประเทศด้านสาธารณสุข ซึ่งจะครบวาระ 5 ปี ตาม พ.ร.บ.โดยต้องเรียนว่าปัจจัยความสำเร็จ 2 อย่าง คือ 1.ความร่วมมือจากทุกฝ่ายส่วน ทุกกระทรวง ที่มี สธ.เป็นหน่วยงานหลัก และ 2.ความเป็นผู้นำ ซึ่งไม่ได้ชื่นชมเพราะว่าท่านรองนายกฯยืนอยู่ข้างๆ แต่หากไม่ได้ รมว.สาธารณสุขที่เข้าใจ และทุ่มเทเช่นนี้ ทุกอย่างจะไม่มีทางเกิดขึ้นได้ ฉะนั้น ท่านรองนายกฯได้มาดูแล สนับสนุนการทำงานทุกมิติอย่างมาก ทำให้ทุกอย่างเคลื่อนออกไป เห็นผลสัมฤทธิ์ในรูปธรรมไม่ใช่กระดาษ ร่วมกับความเป็นผู้นำของผู้บริหาร สธ.ทุกระดับไปจนถึงทุกภาคส่วน

"ผลสำเร็จที่เกิดขึ้นแล้วที่ทำให้เกิดการเปลี่ยนแปลง รูปแบบธรรมงานอย่างพลิกโฉม (Game Changer) และอีกอย่างคือไปช่วยหน่วยงานที่ทำอยู่แล้ว ยกระดับการทำงาน เร่งรัดให้เกิดผลสำเร็จขึ้น โดยตัวอย่างความสำเร็จ เช่น การปฏิรูปการจัดการภาวะฉุกเฉินด้านสาธารณสุข โรคระบาดระดับชาติและโรคอุบัติใหม่ ก็มีการปฏิรูประบบปฐมภูมิใน กทม.ซึ่งช่วงโควิดเราจะเห็นปัญหาใน กทม.มาก เพราะไม่มีระบบปฐมภูมิปะทะข้างหน้า ซึ่ง นายชัชชาติ สิทธิพันธุ์ ผู้ว่าราชการ กทม.รับไปแล้ว มีการทำแซนด์บ็อกซ์ 2 แห่ง คือ ราชพิพัฒน์โมเดล และดุสิตโมเดล" ศ.คลินิก นพ.อุดม กล่าว

ศ.คลินิก นพ.อุดม กล่าวว่า การเชื่อมโยงข้อมูลสุขภาพ ทางกระทรวงดิจิทัลเพื่อเศรษฐกิจและสังคม สำนักงานคณะกรรมการกิจการกระจายเสียง กิจการโทรทัศน์ และกิจการโทรคมนาคมแห่งชาติ (กสทช.) และหน่วยงานต่างๆมาร่วมกันเชื่อมโยง ก็จะตอบสนองงาน 30 บาทรักษาทุกที่ เพราะอย่างผู้ป่วยอยู่ รพ.ต้นสังกัดแห่งหนึ่ง เมื่อไปรักษาที่หนึ่งก็จะไม่มีทางหาข้อมูลเก่าได้ ถ้าเชื่อมข้อมูลกันอย่างอยู่บุรีรัมย์ไปเชียงใหม่ก็มีข้อมูลดึงได้ทันที รักษาเสร็จส่งข้อมูลกลับต้นสังกัด ซึ่งการเสนอตั้งหน่วยงานกลางระดับชาติด้านสุขภาพดิจิทัล รองนายกฯเห็นชอบแล้ว กำลังเสนอนายกฯเข้า ครม. ส่วนการจัดทำเครือข่ายเชื่อมโยงข้อมูลสุขภาพดิจิทัล กสทช.ก็สนับสนุนงบประมาณ 4 พันล้านบาทในการดำเนินงาน หรือ การดูแลโรคไม่ติดต่อ ก็เกิด Healthy Workplace Policy ให้ทุกสถานประกอบการในระบบ HR ต้องมี Chief Health Officer ที่ต้องรู้ข้อมูลสุขภาพพนักงาน เช่น กี่คนเป็นเบาหวาน ความดัน ติดตามดูผลตรวจสุขภาพ เพื่อลดการเจ็บป่วย ไม่ใช่ทำงานแล้วเกิดโรคหลอดเลือดสมอง หลอดเลือดหัวใจ ทั้งที่เป็นวัยทำงาน