กรมวิชาการเกษตร จับมือกับ สธ. ทำบันทึกข้อตกลงยกระดับพัฒนาวิจัยพืชกัญชา กัญชง ในครัวเรือน และเพื่อการแพทย์ดันเศรษฐกิจประเทศ เตรียมแจกกล้า ปชช. 1 ล้านต้นตามนโยบายรัฐบาล

วันที่ 19 พ.ค.65 นายระพีภัทร์ จันทรศรีวงศ์ อธิบดีกรมวิชาการเกษตร (กวก.) เปิดเผยว่า กรมวิชาการเกษตร ได้ลงนามในบันทึกข้อตกลงว่าด้วยความร่วมมือเพื่อการใช้ประโยชน์กัญชา กัญชงในครัวเรือน ทางการแพทย์ และการศึกษาวิจัย ร่วมกับกระทรวงสาธารณสุข เพื่อร่วมกันยกระดับการพัฒนาวิจัยพืชกัญชา กัญชง  ที่ปลูกในประเทศไทย ให้นำมาใช้ทางการแพทย์และสุขภาพ หรืออุตสาหกรรมอื่นๆ ได้อย่างเหมาะสมตามนโยบายของรัฐบาลที่ต้องการผลักดันพืชดังกล่าวให้เป็นพืชเศรษฐกิจใหม่ สร้างรายได้ให้กับประชาชนทุกระดับ ทั้งเกษตรกร ประชาชนทั่วไป และภาคธุรกิจทุกประเภท ทั้งนี้จะร่วมมือกันประสานความร่วมมือกับหน่วยงานของทั้งสององค์กร และองค์กรภายนอก ทั้งสถานศึกษา ภาคเอกชน ในการวิจัยและพัฒนาพันธุ์เพื่อให้ได้พันธุ์ที่ดี นำส่งเสริมแก่เกษตรกรและสถาบันเกษตรกรปลูกเพื่อนำไปสู่การแปรรูปผลผลิตเพิ่มมูลค่าทางการตลาด สร้างโอกาสทางเศรษฐกิจและรายได้ให้แก่ประเทศ

...

"กรมวิชาการเกษตรจะรับหน้าที่ในการศึกษาค้นคว้า วิจัย ทดลองและพัฒนาพันธุ์กัญชา กัญชง ที่เหมาะสมกับประเทศไทย รวมถึงสนับสนุนสมาชิกสหกรณ์การเกษตรปลูกเพื่อการแพทย์และครัวเรือน โดยเตรียมต้นกล้ากัญชา กัญชง ทั้งจากการเพาะเนื้อเยื่อ และจาก เมล็ดพันธุ์ เพื่อแจกประชาชนไม่น้อยกว่า 1 ล้านต้นตามนโยบายของรัฐบาล โดย นายอนุทิน ชาญวีรกูล รมว.สาธารณสุข และ นางสาวมนัญญา ไทยเศรษฐ์ รมช.เกษตรและสหกรณ์ ได้มอบให้ กวก.ขยายพันธุ์โดยเฉพาะสายพันธุ์ไทย ที่มีความต้านทานโรค รวมถึงการถ่ายทอดเทคโนโลยีการผลิต การแนะนำตามระบบการจัดการแปลงการเกษตรที่ดี(GAP) เพื่อให้ผลผลิตที่มีคุณภาพและสามารถพัฒนาสู่การแปรรูปผลิตภัณฑ์เพื่อการส่งออกในอนาคต" นายระพีภัทร์ กล่าว

ทั้งนี้ สองหน่วยงานจะร่วมมือกันทั้งหน่วยงานภายในและภายนอกองค์กร และกับสถาบันการศึกษา ภาคเอกชน ภาคเกษตรกร ในการขับเคลื่อนงานศึกษาวิจัยเพื่อปรับปรุงพันธุ์กัญชา กัญชง รวมถึงสนับสนุนผู้ได้รับอนุญาตตามกฎหมายที่ต้องการศึกษาวิจัย นอกจากนั้นยังรวมถึงการพัฒนาบุคลากรเพื่อทำหน้าที่ในการให้คำปรึกษา แนะนำและช่วยเหลือแก่ผู้ได้รับอนุญาตซึ่งคาดว่าจะมีจำนวนเพิ่มมากขึ้น เพื่อให้การผลิตเป็นไปตามที่กฎหมายกำหนด

โดยปัจจุบันกรมได้มีการศึกษาวิจัยที่ศูนย์วิจัยพัฒนาและปรับปรุงพันธุ์กัญชา กัญชง ในพื้นที่ของกรมทุกภูมิภาคเพื่อศึกษาหาพันธุ์ที่เหมาะสมในแต่ละพื้นที่เพื่อให้ได้พันธุ์ดีทนโรค–แมลง และมีผลผลิตที่มีคุณภาพสูงสุดทั้งในการใช้ระดับครัวเรือนและการแปรรูปในระบบอุตสาหกรรม นอกจากนั้นกรมอยู่ระหว่างการปรับปรุงแก้ไขระเบียบและกฎหมายที่เกี่ยวข้องเพื่อให้สอดรับกับการขับเคลื่อนเศรษฐกิจ หลังจากที่ก่อนหน้านั้น กัญชา กัญชง เป็นพืชที่กฎหมายกำหนดเป็นยาเสพติด จึงขาดการวิจัยและพัฒนาพันธุ์เมื่อมีการปลดล็อก ภาครัฐจึงต้องเร่งการศึกษาวิจัยพัฒนาพันธุ์เพื่อตอบโจทย์ความต้องการใช้ของประเทศ.