กรมวิทย์ แถลง โควิดโอมิครอนในไทยใกล้ 100% เหลือส่วนน้อยเป็นเดลตา ขณะที่สายพันธุ์ย่อย BA.2 พบแพร่เร็วขึ้น แต่ยังไม่มีข้อมูลความรุนแรงและการหลบวัคซีน ย้ำเดลตาครอนจบแล้ว ไม่ใช่สายพันธุ์ใหม่
เมื่อเวลา 11.30 น. วันที่ 15 ก.พ. 2565 นพ.ศุภกิจ ศิริลักษณ์ อธิบดีกรมวิทยาศาสตร์การแพทย์ แถลงถึงความคืบหน้าสถานการณ์การเฝ้าระวังสายพันธุ์โควิด-19 โดยสัปดาห์ที่ผ่านมา (5-11 ก.พ. 2565) ตรวจไป 1,975 ราย พบว่าเป็นโอมิครอน (Omicron) 97.2% และอีก 2.8% เป็นสายพันธุ์เดลตา (Delta) ซึ่งไทยพบโอมิครอนทุกจังหวัดของประเทศแล้ว พร้อมสรุป 5 ประเด็น ดังนี้


...


1. การระบาดของสายพันธุ์โอมิครอนอย่างรวดเร็วทั่วโลก และเกิดซ้ำๆ บ่อยๆ ทำให้มีโอกาสเกิดการกลายพันธุ์ได้มากทั้งการเกิดสายพันธุ์ย่อยของโอมิครอน หรือ เกิดสายพันธุ์ใหม่ แต่ขณะนี้ยังไม่พบ
2. การเฝ้าระวังสายพันธุ์ในประเทศไทย ขณะนี้พบเป็นสายพันธุ์โอมิครอนในผู้ติดเชื้อที่เดินทางมาจากต่างประเทศในสัดส่วนเกือบ 100% (99.4%) และผู้ติดเชื้อในประเทศไทยพบเป็นสัดส่วน 96.2%
3. การเฝ้าระวังสายพันธุ์ย่อยของโอมิครอน คือ BA.2 ด้วยการถอดรหัสพันธุกรรมทั้งตัว (WGS) พบประมาณ 2% แต่จากการเริ่มสุ่มตรวจโดยการตรวจเบื้องต้น (SNP) ในบางพื้นที่ พบเป็น BA.2 ในสัดส่วนประมาณ 18% ซึ่งจะได้ทำการเฝ้าระวังต่อไปด้วยการตรวจที่ครอบคลุมมากขึ้น จึงจะเห็นข้อเท็จจริงของสัดส่วน BA.2 ในไทย
4. สายพันธุ์ BA.2 มีข้อมูลเบื้องต้นว่าสามารถแพร่ได้เร็วกว่า BA.1 แต่ความรุนแรง และการหลบวัคซีน ยังมีข้อมูลไม่เพียงพอ ซึ่งกรมวิทยาศาสตร์การแพทย์ จะประสานกับกรมการแพทย์ เพื่อติดตามอาการทางคลินิกของผู้ติดเชื้อสายพันธุ์โอมิครอน BA.2 ต่อไป ว่า มีความรุนแรงและเสียชีวิตมากน้อยเพียงใด
5. ข้อมูลเท่าที่มีบ่งชี้ว่าวัคซีนเข็มกระตุ้นยังช่วยป้องกันการติดเชื้อโควิด-19 ลดอาการป่วยหนักและเสียชีวิตได้ ไม่ว่าจะสายพันธุ์ BA.1 หรือ BA.2 จึงขอเชิญชวนให้ประชาชนเข้ารับการฉีดวัคซีนเข็มกระตุ้นตามกำหนด


...



...
ในช่วงท้าย อธิบดีกรมวิทยาศาสตร์การแพทย์ ระบุว่า BA.2 พบข้อมูลว่าแพร่พันธุ์เร็วกว่า BA.1 แต่กี่เท่ายังบอกไม่ได้ จะตามดูเป็นสัปดาห์ๆ โดยขอให้รอดูข้อมูลต่อไป
ส่วนคำถามถึงเดลตาครอนนั้น นพ.ศุภกิจ แจงว่า ขณะนี้เงียบไปแล้ว เข้าใจว่าข้อสรุปคือการปนเปื้อน ค่อนข้างชัดว่าตรวจพบเดลตาที่แตกต่างกัน แต่ตรวจพบโอมิครอนที่เหมือนกัน ใน 20 กว่าตัวอย่างที่ส่งตรวจ ทั้งนี้ หากเป็นพันธุ์ใหม่ทั้ง 2 ฝั่งต้องเหมือนกัน คือเดลตาต้องเป็นตัวเดียวกัน โอมิครอนก็ต้องเป็นตัวเดียวกัน ในทุกๆ ตัวอย่างจึงจะเป็นสายพันธุ์ใหม่ เมื่อเดลตาแตกต่างกันแสดงว่าคือการติดเชื้อปกติของเดลตาแล้วอาจมีโอมิครอนปนเข้าไปตอนช่วงทำแล็บ เดลตาครอนจึงจบไปแล้ว ไม่ได้มีการกำหนดว่าเป็นสายพันธุ์ใหม่หรืออะไรทั้งสิ้น.