เรื่องหมอกระต่ายยังกรุ่น หลายคนมีความเห็นเรื่องข้อกฎหมายว่า เบาหวิว!

วันนี้เอาความเห็น นายธนกฤต วรธนัชชากุล ผู้อำนวยการสำนักงานประสานงานกระบวนการยุติธรรม สถาบันนิติวัชร์ สำนักงานอัยการสูงสุด ตั้งข้อสังเกตเรื่องโทษตาม พ.ร.บ.จราจรทางบก ว่า...

เป็นเรื่องแปลกแต่จริงที่ พ.ร.บ.จราจรทางบก ไม่บังคับรถให้ต้องหยุดรอคน แต่บังคับให้คนต้องหยุดรอรถ?

กรณี พญ.วราลัคน์ สุภวัตรจริยากุล หรือ หมอกระต่าย มีข้อวิพากษ์วิจารณ์หลายอย่างตามมา เช่น เพราะคนไทยไม่มีวินัย เจ้าหน้าที่บังคับใช้กฎหมายไม่จริงจัง สภาพทางม้าลายไม่ปลอดภัย โทษเบาเกินไป คนไม่เกรงกลัวฯ

นอกจากประเด็นข้างต้นยังมีเรื่องข้อบกพร่องของ พ.ร.บ.จราจรทางบก 2522 หลายเรื่องควรนำมาพิจารณา 1.พ.ร.บ.จราจรทางบก มาตรา 32 ไม่บังคับให้ผู้ขับขี่ต้องหยุดรถขณะมีคนข้าม บัญญัติเพียงว่า ให้ผู้ขับขี่รถต้องใช้ความระมัดระวังไม่ให้รถชนคนเดินเท้า และยังให้ผู้ขับขี่บีบแตรเตือนคนเดินข้ามได้ด้วย

2.ขณะที่ พ.ร.บ.จราจรทางบกไม่บังคับให้ผู้ขับขี่ต้องหยุดรถ แต่มาตรา 106 กลับบังคับให้คนเดินเท้าที่จะข้ามถนน ต้องหยุดรอรถขณะที่มีสัญญาณจราจรไฟเขียว

3.บทบัญญัติตาม พ.ร.บ.จราจรทางบก มาตรา 22 (4) บัญญัติให้ผู้ขับขี่ต้องให้สิทธิหรือหยุดรถแก่คนเดินเท้าที่กำลังข้ามถนนในทางข้ามก่อน แต่บังคับเฉพาะทางข้ามที่เชื่อมต่อกับบริเวณที่มีสัญญาณไฟจราจรเท่านั้น?!

หากจะแก้ไขและลดปัญหาอุบัติเหตุรถชนคนข้ามถนนให้ได้ผล การสังคายนาแก้ไข พ.ร.บ.จราจรทางบก เป็นเรื่องต้องรีบดำเนินการให้มีบทบัญญัติบังคับชัดเจนให้ผู้ขับขี่ต้องหยุดรถให้คนเดินข้ามถนน

ควรปรับปรุงแก้ไขอัตราโทษตาม พ.ร.บ.จราจรทางบกให้เหมาะสม โทษใดเบาควรเพิ่มโทษสูงขึ้น เช่น กรณีขับขี่รถโดยประมาทชนคนเดินข้ามถนนในทางม้าลาย ขับขี่รถบนทางเท้าโดยไม่มีเหตุอันสมควร

...

พ.ร.บ.จราจรทางบกฯไม่ได้กำหนดโทษให้ศาลสั่งพักใช้ใบอนุญาตขับขี่ หรือเพิกถอนใบอนุญาตขับขี่ เหมือนกรณีแข่งรถบนถนน เสพยาเสพติด ขับขี่รถขณะเมาสุรา ทั้งที่ฝ่าฝืนกฎหมายเป็นอันตรายต่อบุคคลอื่นเช่นกัน?

นอกจากนี้ พ.ร.บ.จราจรทางบก มาตรา 152 กำหนดอัตราโทษสำหรับการขับขี่รถเร็วเกินอัตราที่กฎหมายกำหนด ไม่ว่าจะมากน้อยแค่ไหน มีโทษปรับไม่เกิน 1 พันบาทเหมือนกัน!?

ควรกำหนดอัตราโทษแตกต่างตามความเร็วและสถานที่ให้สอดคล้องกับความรุนแรงเหมือนต่างประเทศ...

ดูแล้วเห็นปัญหาหลายอย่าง น่าจะต้องสังคายนา พ.ร.บ.จราจรทางบกฯกันยกใหญ่นะครับ?

สหบาท