“ส.ต.ต.” ซิ่งบิ๊กไบค์ชนหมอกระต่ายเสียชีวิต ดอดเข้ารับทราบข้อกล่าวหาเพิ่มอีก 2 ข้อหา รวมถูกดำเนินคดีแล้ว 9 ข้อหา พ่อแม่ หมอกระต่ายเข้าให้การพนักงานสอบสวน สน.พญาไท อยากให้กฎหมายลงโทษผู้ต้องหาขั้นสูงสุด เพราะที่ผ่านมาคดีแบบนี้ลงโทษเบาเกินไป อยากให้คดีลูกเป็นบทเรียนของสังคมให้เกิดการเปลี่ยนแปลง ส่วนการเยียวยาฝั่งผู้ต้องหายังไม่ได้ติดต่อ ด้านแม่หมอกระต่ายเปิดใจครั้งแรก ผวาลูกสาวคนเล็กยังเรียนและทำงานในพื้นที่กรุงเทพฯ ต้องเดินข้ามถนนบ่อยๆ หวั่นครอบครัวต้องสูญเสียอีกครั้ง กทม.เร่งติดสัญญาณไฟกะพริบและไฟจราจรอัจฉริยะเพิ่ม พร้อมทาสีโคลด์พลาสติกสีแดงก่อนถึงทางม้าลาย กระตุ้นสำนึกคนใช้รถใช้ถนนในกรุงเทพฯ ถ้ายังดื้อพร้อมใช้ภาพกล้องซีซีทีวีเป็นหลักฐานดำเนินคดี
กรณีอุบัติเหตุสยองคร่าชีวิต พญ.วราลัคน์ สุภวัตรจริยากุล หรือหมอกระต่าย จักษุแพทย์หญิง อนาคตไกล ขณะเดินข้ามทางม้าลายหน้าโรงพยาบาลสถาบันโรคไตภูมิราชนครินทร์ ถนนพญาไท ถูก ส.ต.ต. นรวิชญ์ บัวดก ซิ่งบิ๊กไบค์มาเลนขวาสุดพุ่งชนเต็มแรง ร่างกระเด็นไปไกล 15 เมตร บาดเจ็บสาหัส ไปเสียชีวิต ที่ รพ.ราชวิถี พนักงานสอบสวน สน.พญาไท แจ้งข้อหา ขับรถโดยประมาทเป็นเหตุให้เฉี่ยวชนผู้อื่นถึงแก่ความตายและข้อหาอื่น รวม 7 ข้อหา เจ้าตัวให้การ รับสารภาพ ต่อมา ส.ต.ต.นรวิชญ์กับพ่อไปบวชที่วัดปริวาสราชสงคราม และเดินทางไปร่วมงานศพ หมอกระต่ายตามที่เสนอข่าวไปแล้ว
ความคืบหน้าด้านคดีจาก สน.พญาไท เมื่อเวลา 10.00 น. วันที่ 1 ก.พ. นพ.อนิรุทธ์ สุภวัตรจริยากุล บิดา พร้อมนางรัชนี สุภวัตรจริยากุล มารดา และทนายความของ พญ.วราลัคน์ สุภวัตรจริยากุล หรือหมอกระต่าย เข้าพบ พ.ต.อ.บวรภพ สุวรรณเรขา ผกก.สน.พญาไท และ พ.ต.ท.วิทยากร สุวรรณเรืองศร รอง ผกก. (สอบสวน) สน.พญาไท พนักงานสอบสวนเจ้าของคดี เพื่อติดตามคดีและให้การในส่วนความสัมพันธ์กับหมอกระต่ายผู้เสียชีวิตเพื่อประกอบสำนวนคดี นพ.อนิรุทธ์ พ่อหมอกระต่าย เผยสั้นๆก่อนเข้าให้การว่า หลังเสร็จงานศพลูกสาวเจ้าหน้าที่ติดต่อขอให้เข้ามาให้การ ตอนนี้ขอเข้าพบเจ้าหน้าที่ก่อนแล้วจะออกมาให้สัมภาษณ์ภายหลัง
...
หลังให้ปากคำพร้อมภรรยากว่า 1 ชม. นพ.อนิรุทธ์ออกมาเผยว่า อยากให้คดีลูกเป็นบทเรียนของ สังคม กฎหมายควรลงโทษขั้นสูงสุด อยากให้เกิดการ เปลี่ยนแปลง อยากให้ขับขี่มีบรรทัดฐานการใช้รถ เนื่องจากที่ผ่านมาคดีลักษณะนี้รู้สึกว่า การลงโทษยังเบา ส่วนผู้ต้องหายังไม่ติดต่อมา ยังไม่ได้รับผิดชอบอะไร แค่แสดงตัวว่าไม่ได้หนีและขอขมาเท่านั้น ยังไม่มีการประสานด้านอื่น ทั้งนี้ เข้ามาพบพนักงานสอบสวนเนื่องจากเพิ่งว่างมาให้ปากคำหลังเสร็จงานศพลูก ยังไม่รู้สึกถึงความไม่ชอบมาพากลการทำคดี ไม่ได้ติดใจอะไร ผกก.สน.พญาไท มาพูดคุยสร้างความมั่นใจ ว่าจะทำคดีตรงไปตรงมา ส่วนประเด็นนำคนเจ็บเข้า โรงพยาบาลแต่ตำรวจใช้เวลาตรวจสอบว่า ผู้ตายเป็นใคร นานถึง 2 ชม. ตนมองว่าควรดูแลให้ดีกว่านี้ หลังเกิดเหตุ ตนและคนรู้จักต้องสืบหาว่าหมอกระต่ายหายไปไหน
นางรัชนี สุภวัตรจริยากุล แม่หมอกระต่าย กล่าวว่า หลังเสร็จสิ้นงานศพลูกสาววันที่ 19 ก.พ. จะนำกระดูกไปลอยอังคารที่ จ.ตราด บ้านเกิด ยังเป็น ห่วงคดีเกรงว่าจะไม่ได้รับความยุติธรรม กังวลคดี ขับรถชนมักรอลงอาญา เนื่องจากกระทำโดยประมาททั้งที่มาจากพฤติกรรมการขับขี่ของคนไทย เตรียมให้ทนายฟ้องแพ่ง อยากให้คดีลูกสาวเป็นคดีสุดท้าย ไม่อยากให้เกิดความสูญเสียเช่นนี้กับใครอีก ตอนนี้ จิตใจของครอบครัวมีความกลัว กลัวที่จะอยู่ในสังคม กลัวจะเกิดเหตุการณ์แบบนี้ซ้ำแล้วซ้ำอีก อยากให้ สังคมเราดีขึ้นเป็นรูปธรรมอย่างชัดเจน โดยเฉพาะเรื่องวินัย เรื่องหน่วยราชการ อะไรคือแนวทางที่ถูกต้องเป็นมาตรฐานที่จะให้ทุกทางม้าลายผู้ขับขี่รถ ปฏิบัติตามอย่างถูกต้อง
“ลูกสาวคนเล็กยังเรียนและทำงานอยู่ในกรุงเทพฯ และต้องเดินข้ามถนนลักษณะแบบนี้บ่อยครั้ง จากเหตุการณ์ที่เกิดขึ้นกับลูกสาวคนโต ครอบครัวยังทำใจ ไม่ได้ รู้สึกเป็นห่วงว่าอาจจะเกิดเหตุการณ์แบบนี้กับ ลูกสาวคนเล็ก และอาจทำให้ครอบครัวต้องสูญเสียอีกครั้ง” นางรัชนีกล่าวเสียงเครียด
พ.ต.อ.บวรภพ สุวรรณเรขา ผกก.กล่าวว่า เชื่อมั่นว่าจะรวบรวมสำนวนและพยานหลักฐานทั้งหมด เสร็จสิ้นและส่งให้อัยการสั่งฟ้องได้ในวันที่ 11 ก.พ.นี้ ให้พ่อแม่เชื่อมั่นในพนักงานสอบสวนจะทำหน้าที่อย่างเป็นธรรมที่ บช.น. เช้าวันเดียวกัน พล.ต.ต.จิรสันต์ แก้วแสงเอก โฆษก บช.น. เผยว่า ส.ต.ต.นรวิชญ์ ผู้ต้องหา เดินทางไปพบพนักงานสอบสวน สน.พญาไท เมื่อเวลา 20.16 น. วันที่ 31 ม.ค. เพื่อรับทราบข้อหา เพิ่มเติม 2 ข้อหา คือ ขับรถโดยไม่คำนึงถึงความปลอดภัยและความเดือดร้อนของบุคคล พ.ร.บ.จราจรฯ มาตรา 43 (8) และขับรถ จยย.ในทางเดินรถในเขต กรุงเทพฯ ใช้อัตราความเร็วเกินกว่าที่กฎหมายกำหนด พ.ร.บ.จราจรฯ มาตรา 67 ผู้ต้องหาให้การรับสารภาพตลอด ข้อกล่าวหา ก่อนปล่อยตัวไปตามขั้นตอนกฎหมาย
มีรายงานว่า ก่อนหน้านี้ ส.ต.ต.นรวิชญ์ บัวดก ผู้ต้องหาถูกแจ้งข้อหาขับขี่รถ จยย.โดยประมาทเป็นเหตุให้ผู้อื่นถึงแก่ความตายและข้อหาอื่นรวม 7 ข้อหา และเพิ่งเข้ารับทราบข้อหาเพิ่มเติมอีก 2 ข้อหารวม 9 ข้อหา ประกอบด้วย 1.ฐานขับรถโดยประมาทเป็นเหตุให้เฉี่ยวชนผู้อื่นถึงแก่ความตาย 2.ความผิดตามกฎหมาย พ.ร.บ.จราจรทางบกฯ ฐานนำรถไม่ติดแผ่นป้ายทะเบียน 3.ขับรถไม่ชิดขอบทางด้านซ้าย 4.ไม่ปฏิบัติตามเครื่องหมายบนพื้นทาง (ไม่หยุดรถให้คนข้าม) 5.พ.ร.บ.รถยนต์ฯข้อหาฝ่าฝืนใช้รถที่ไม่ได้เสียภาษีประจำปี 6.ไม่จัดให้รถในทางเดินรถมีส่วนควบที่ครบถ้วนตามกฎหมายและใช้การได้ดี 7.ไม่จัดให้มีการประกันภัยตาม พ.ร.บ.คุ้มครองผู้ประสบภัยจากรถปี 2535 8.ขับรถโดยไม่คำนึงถึงความปลอดภัยและความเดือดร้อนของผู้อื่น และ 9.ขับขี่รถเร็วเกินกฎหมายกำหนด
ด้านนายชาตรี วัฒนเขจร รองปลัด กทม.เผยว่า สำนักการจราจรและขนส่ง กทม.ติดตั้งสัญญาณไฟกะพริบเตือนทางข้าม (ทางม้าลาย) และสัญญาณไฟจราจรทางข้ามชนิดกดปุ่ม หรือสัญญาณไฟจราจรอัจฉริยะ เพิ่มความปลอดภัยให้ประชาชนที่ผ่านมาติดตั้งสัญญาณไฟกะพริบเตือนทางข้ามแล้ว 896 จุด ติดตั้งสัญญาณไฟจราจรทางข้ามชนิดกดปุ่ม (ที่มีสภาพบังคับแสดงสัญญาณเขียว เหลือง แดง) แล้ว 240 แห่ง ปี 2565 มีแผนติดตั้งสัญญาณไฟกะพริบฯ เพิ่ม 50 แห่ง และสัญญาณไฟจราจรทางข้ามชนิดกดปุ่มเพิ่มอีก 100 แห่ง รวมทั้งพัฒนาและติดตั้งระบบตรวจจับผู้ฝ่าฝืนไม่หยุดรถให้คนข้ามหรือจอดรถกีดขวางทางข้าม ใช้ระบบกล้องโทรทรรศน์วงจรปิดบริเวณทางแยกและทางข้ามที่ติดตั้งสัญญาณไฟจราจรชนิดกดปุ่ม ประสาน สน.ท้องที่บริหารจัดการอย่างเป็นระบบให้ครอบคลุมพื้นที่ กทม.
...
“นอกจากนำเทคโนโลยีมาใช้เพิ่มความปลอดภัย ให้ผู้ข้ามถนนบริเวณทางข้าม และบังคับใช้กฎหมายกับผู้ฝ่าฝืนกระทำผิดไม่หยุดรถให้คนข้าม หรือจอดรถกีดขวางทางข้ามแล้ว สำนักการจราจรและขนส่งยังปรับปรุงกายภาพบริเวณก่อนถึงทางข้าม สร้างความตระหนักเตือนให้ผู้ขับขี่ยานพาหนะผ่านบริเวณทางข้ามชะลอความเร็วและหยุดยานพาหนะให้คนเดินข้าม ด้วยการจัดทำเครื่องหมายทางข้ามโดยเฉพาะหน้าโรงเรียน โรงพยาบาล และทางแยกด้วยสีโคลด์พลาสติกสีแดง ให้มีความแตกต่างจากผิวการจราจรและเครื่องหมายจราจรทั่วไป ให้ผู้ขับขี่มองเห็นชัดเจนยิ่งขึ้น ที่ผ่านมาจัดทำทางข้ามด้วยสีโคลด์พลาสติกสีแดงแล้ว 559 จุด อีกทั้งจัดทำเส้นเตือนชะลอความเร็ว และเส้น Optical speed bar ก่อนถึงทางข้ามจุดอื่นเพื่อควบคุมผู้ขับขี่ยานพาหนะให้อยู่ในช่องทางตัวเอง” นายชาตรีกล่าว