ต่างฝ่ายต่างยึดคติ “แพ้ไม่ได้ แพ้ไม่เป็น” ในการเลือกตั้งซ่อม ส.ส. จึงมีการร้องเรียน มีการขู่ฟ้องร้องในการหาเสียงโค้งสุดท้าย เริ่มต้นด้วยผู้สมัคร ส.ส. เขต 6 สงขลา ร้อง กกต. ให้ตรวจสอบคำปราศรัยของ ร.อ.ธรรมนัส พรหมเผ่า เลขาธิการพรรคพลังประชารัฐ เข้าข่าย “สัญญาจะให้เงิน” หรือไม่
ส่วนที่เขต 9 กรุงเทพมหานคร หลักสี่และจตุจักร มีการตอบโต้กันระหว่างผู้สมัครพรรค พปชร. กับผู้สมัครพรรคกล้า ฝ่ายแรกขู่ว่าจะให้ฝ่ายกฎหมายดู จะฟ้องข้อหาหาเสียง ด้วยการใส่ร้ายด้วยความเท็จ มีโทษจำคุกตั้งแต่ 1 ถึง 10 ปี และมีการกล่าวหาเรื่องซื้อเสียง ลือกันว่าจะทุ่มซื้อ 10,000 คะแนน หัวละ 3 พันบาท
รวมเป็นเงินถึง 30 ล้านบาท แต่ยังไม่มีหลักฐานยืนยัน และไม่ระบุชื่อผู้ซื้อเสียง ส่วนที่สงขลา สืบเนื่องมาจากคำปราศรัยของ ร.อ.ธรรมนัส ที่เรียกร้องให้ประชาชนเลือกคนรวย มีเงินแจกประชาชน เข้าลักษณะ “ใจถึงพึ่งได้” อย่าเลือกคนไม่มีเงิน เพราะเป็นที่พึ่งของประชาชนไม่ได้ พูดแบบนี้ผิดหรือไม่
ผิดหรือไม่ผิดกฎหมาย เป็นอำนาจหน้าที่ของ กกต. ที่จะต้องตรวจสอบอย่างจริงจัง และทำความจริงให้ปรากฏ ต้องตรวจสอบอย่างโปร่งใส ตรงไปตรงมา ไม่ลูบหน้าปะจมูก ตรวจฝ่ายรัฐบาลแบบหนึ่ง ฝ่ายค้านอีกแบบหนึ่ง รัฐธรรมนูญระบุว่าองค์กรอิสระต้องปฏิบัติหน้าที่โดยสุจริต เที่ยงธรรม กล้าหาญ และไร้อคติ
คำปราศรัยของ ร.อ.ธรรมนัส จะผิดกฎหมายเลือกตั้งหรือไม่ เป็นอำนาจหน้าที่ของ กกต. แต่ในทางการเมืองมีคำถามว่า เราจะเลือก ส.ส.เข้าไปทำอะไร เลือกเข้าไปเพื่อเลือกนายกรัฐมนตรี เพื่อจัดตั้งรัฐบาลบริหารประเทศ เพื่อแก้ปัญหาหนี้สินของประเทศและประชาชน แก้วิกฤติโควิด แก้ความยากจน และลดความเหลื่อมล้ำ
หรือจะเลือก ส.ส.เข้าไป เพื่อแจกเงินให้ประชาชน เหมือนกับที่รัฐบาลนี้ทำมาอย่างต่อเนื่อง เงินแจกจะใช้เงินส่วนตัวของ ส.ส.หรือใช้เงินภาษีประชาชน แจกซื้อเสียงประชาชน เป็นเงินที่ได้มาโดยสุจริต หรือโดยทุจริต เป็นการปกครองประเทศระบอบธนาธิปไตย ตามคำขวัญเงิน เงิน เงิน หรือไม่
...
ถ้าทุกอย่างจะตัดสินกันด้วยเงิน ไม่ว่าจะเป็นการเลือก ส.ส. หรือการปกครองประเทศ ไม่จำเป็นจะต้องเลือก ส.ส. ให้สิ้นเปลืองงบประมาณแผ่นดิน และสิ้นเปลืองเวลา แต่ควรเปิดประมูล ใครให้เงินมากที่สุดคนนั้นได้เป็น ส.ส. เป็นผู้เลือกนายกรัฐมนตรี ส่วนเงินที่ประมูลซื้ออำนาจ ไม่ต้องเกี่ยงที่มา ใช่หรือไม่ใช่?