ปี 2565 หรือ 2022 นี้ กรุงเทพมหานคร และภูมิภาคต่างๆจะมีระบบขนส่งมวลชนสาธารณะใหม่ ถนน ทางด่วน และนวัตกรรมในการแก้ปัญหาจราจร อะไรใหม่ๆเปิดใช้บ้าง...ฝ่ายข่าว กทม.และจราจร จะพาไปติดตามเนื่องในโอกาสวันขึ้นปีใหม่นี้
ก่อนอื่นต้องขอบอกก่อนว่า โครงการที่จะเปิดใช้ในปีนี้ จริงๆแล้วหลายโครงการมีกำหนดแล้วเสร็จและกำหนดเปิดใช้ตั้งแต่ปีที่ผ่านมา เริ่มตั้งแต่โครงการแรก... รถไฟฟ้าโมโนเรล 2 สาย
------------------------------
โมโนเรลเปิดวิ่งสิงหาคม
ปี 2565 รถไฟฟ้าสายสีเหลือง ลาดพร้าว-สำโรง และรถไฟฟ้าสายสีชมพู แคราย-มีนบุรี ซึ่งเป็นรถไฟฟ้าโมโนเรล มีกำหนดทยอยเปิดใช้ไล่เลี่ยกันในราวเดือนสิงหาคม โดยสายสีเหลืองจะเปิดใช้ก่อน ช่วงแรก จากสถานีสำโรง-สถานีภาวนา จากนั้นสายสีชมพูจะเปิดช่วงแรก จากสถานีมีนบุรี ถึงสถานีศูนย์ราชการเฉลิมพระเกียรติ (ยกเว้นสถานีนพรัตน์ราชธานี) ทั้งนี้ เดิมรถไฟฟ้าสายสีเหลืองมีกำหนดเปิดใช้ตั้งแต่ปลาย 2564 แต่เนื่องจากสถานการณ์โควิด-19 ทำให้แผนการก่อสร้างไม่เป็นไปตามกำหนด อย่างไรก็ตาม ปัจจุบันงานก่อสร้างของสายสีเหลืองมีความคืบหน้าภาพรวม 87.5% สายสีชมพู 82.9% โดยล่าสุดรถไฟฟ้าสายสีเหลือง และสายสีชมพู เริ่มทดสอบการเดินรถในเส้นทางแล้วเมื่อเดือนธันวาคมที่ผ่านมา ขณะที่ในส่วนขบวนรถนั้น สายสีเหลืองมีขบวนรถที่ส่งมอบจากโรงงานแล้ว 20 ขบวน จาก 30 ขบวน (ขบวนละ 4 ตู้) และภายในเดือน เม.ย.65 จะได้รับครบ ส่วนสายสีชมพูได้แล้ว 13 ขบวน จาก 42 ขบวน และจะได้รับครบในเดือน มิ.ย.65
...
เชื่อมพื้นที่-เชื่อมรถไฟฟ้าหลัก
สุรพงศ์ เลาหะอัญญา กรรมการบริษัท อีสเทิร์นบางกอกโมโนเรล หรือ EBM ผู้รับสัมปทานรถไฟฟ้าสายสีเหลือง และบริษัท นอร์ทเทิร์นบางกอกโมโนเรล หรือ NBM ผู้รับสัมปทานโมโนเรลสายสีชมพู เผยว่า รูปลักษณ์สถานีรถไฟฟ้าโมโนเรลเหมือนกับสถานีรถไฟฟ้าบีทีเอส ต่างกันที่ขนาดเล็กกว่า ทั้งนี้ บัตรโดยสารของสายสีเหลืองและสายสีชมพู สามารถใช้กับรถไฟฟ้าสายสีเขียว หรือบีทีเอส ทั้งบัตรเที่ยวเดียว และบัตรเติมเงิน แต่ยังใช้ไม่ได้กับสายสีน้ำเงิน และสายสีม่วง โดยเส้นทางสายสีเหลืองคาดว่าจะรองรับการเดินทางในระยะสั้นๆของเส้นทาง เช่น ย่านลาดพร้าว ย่านศรีนครินทร์ ขณะที่สายสีชมพูจะมีปริมาณผู้เดินทางมากกว่า เพราะเป็นเส้นทางจากตะวันออกเชื่อมฝั่งตะวันตกเป็นฟีดเดอร์ให้กับรถไฟฟ้าสายสีแดง สีส้ม และสายสีเขียว รวมทั้งผ่านหน่วยงานราชการ เช่น ศูนย์ราชการแจ้งวัฒนะ ศูนย์ราชการ จ.นนทบุรี
สัมปทาน 30 ปี-โฆษณารายได้รอง
โมโนเรลสายสีเหลือง ลาดพร้าว-สำโรง มีระยะทาง 30.4 กม. ประกอบด้วย 23 สถานี มีบริษัท อีสเทิร์นบางกอกโมโนเรล หรือ EBM เป็นผู้รับสัมปทานรถไฟฟ้าสายสีเหลือง ขณะที่สายสีชมพู แคราย-มีนบุรี ระยะทาง 34.5 กม. มี 30 สถานี บริษัท นอร์ทเทิร์นบางกอก โมโนเรล หรือ NBM เป็นผู้รับสัมปทานโมโนเรลสายสีชมพู ทั้งนี้ทั้งสองบริษัทมีบีทีเอสถือหุ้นใหญ่ 75% บมจ.ซิโน-ไทย เอ็นจีเนียริ่งแอนด์คอนสตรัคชั่น 15% และบริษัทไฟฟ้าราชบุรี 10% ได้รับสัมปทานโครงการจากการรถไฟฟ้าขนส่งมวลชนแห่งประเทศไทย รฟม. เป็นเวลา 30 ปี กำหนดอัตราค่าโดยสารตามระยะทาง 14-42 บาท โดยรายได้จากการเดินรถจะเป็นของบริษัท อย่างไรก็ตาม นอกจากรายได้จากการเดินรถแล้ว บริษัทวางแผนจะหารายได้จากการโฆษณาในระบบอีกทางหนึ่งด้วย 1 อุโมงค์-1 สะพานข้ามแยกทางด้านกรุงเทพมหานคร ในปี 2565 จะเปิดใช้อุโมงค์ลอดทางแยกใหม่ คือ โครงการอุโมงค์แยกไฟฉาย ที่ถนนจรัญสนิทวงศ์กับถนนพรานนก โครงการนี้เป็นอุโมงค์ประวัติศาสตร์ที่ใช้เวลาก่อสร้างยาวนานมาก เพราะเริ่มลงมือมาตั้งแต่ปี 2552 แต่ต้องมาเจอทั้งน้ำท่วมใหญ่ และเจอแนวรถไฟฟ้าใต้ดิน กว่าจะเร่งงานจริงจังก็ปี 2560 จนทำท่าว่าจะเสร็จและเปิดใช้ได้ในปี 2564 ที่ผ่านมา ทว่าต้องมาเจอโควิด-19 ทำให้ต้องเลื่อนกำหนดเสร็จและมาเปิดภายในปีนี้ และหากครั้งนี้ไม่เลื่อนอีก อุโมงค์จะถูกบันทึกว่าใช้เวลาก่อสร้าง 13 ปี
...
ขณะที่โครงการสะพานข้ามทางแยก ณ ระนอง ที่ทุบสะพานเก่าและก่อสร้างใหม่โดยขยายระยะทางยาวกว่าเดิม เพื่อแก้ปัญหาจราจรย่านตลาดคลองเตย ที่ถนนเชื้อเพลิง ถนน ณ ระนอง และรัชดาภิเษก งานก่อสร้างคืบหน้าไป 56% กำหนดก่อสร้างแล้วเสร็จในเดือนกรกฎาคม 2565
ทางด่วนไร้ไม้กั้นไร้เงินสด
ฝ่ายการทางพิเศษแห่งประเทศไทย (กทพ.) ปีนี้ใช้นวัตกรรมมาแก้ปัญหาการจราจรติดขัดบริเวณหน้าด่าน ด้วยการใช้ระบบเก็บค่าผ่านทางอัตโนมัติแบบไม่มีไม้กั้น (Multi-Lane Free Flow) หรือ M-Flow โดยร่วมมือกับกรมทางหลวงจัดทำให้เป็นไปในรูปแบบและมาตรฐานเดียวกัน โดยในส่วนของ กทพ. ระยะที่ 1 จะลงมือทำที่ทางพิเศษฉลองรัช 3 ด่าน คือ ด่านจตุโชติ ด่านสุขาภิบาล 5-1 และด่านสุขาภิบาล 5-2
ระบบ M-Flow เป็นวิธีจ่ายค่าทางด่วนที่สะดวกรวดเร็ว ไม่ต้องหยุดหรือชะลอรถ โดยใช้เทคโนโลยี Video Tolling ซึ่งเป็นระบบกล้องตรวจจับป้ายทะเบียนอัตโนมัติ (Automated License Plate Recognition) ด้วยเทคโนโลยี AI ร่วมกับระบบการตรวจจับยานพาหนะอัตโนมัติ (AVI) เพื่อใช้ตรวจสอบยานพาหนะและระบุตัวตนผู้ใช้ทาง
...
ชิวๆผ่านก่อนจ่ายทีหลัง
การใช้งานระบบ M-Flow ผู้ใช้บริการจะต้องลงทะเบียนรถยนต์ก่อนเริ่มใช้งานที่ www.mflowthai.com และ App : m-flow และสามารถใช้บริการช่องทางที่มีสัญลักษณ์ M-Flow ที่ไม่มีไม้กั้นโดยระบบ M-flow สามารถรองรับการใช้ความเร็วได้สูงสุด 160 กม./ ชั่วโมง มีระบบแจ้งเตือนการใช้งานสำหรับช่องทางการชำระเงิน ผู้ใช้บริการสามารถชำระเงินค่าผ่านทางได้หลากหลายช่องทาง ทั้งรูปแบบการชำระเงินเป็นรายครั้งที่วิ่งผ่านทาง หรือรูปแบบชำระตามรอบบิลรายเดือน รวมถึงรองรับรูปแบบการชำระเงินด้วยตนเอง และรูปแบบการชำระเงินผ่านการตัดบัตรบัญชีสำรองของบัตร Easy Pass/M-Pass แบบอัตโนมัติ
โดย กทพ.จะเปิดทดสอบระบบเสมือนจริง ในเดือน มี.ค.2565 และเปิดบริการในเดือน เม.ย.2565 ทั้งนี้ ระบบดังกล่าวยังสามารถใช้บริการทางหลวงพิเศษระหว่างเมือง หรือถนนมอเตอร์เวย์สาย 9 บางนา-บางปะอิน และสาย 7 กรุงเทพฯ-พัทยา-มาบตาพุด ของกรมทางหลวง (ทล.) ได้ด้วย
...
อุโมงค์ลอดสุขุมวิท-สัตหีบ
สำหรับในส่วนภูมิภาค กรมทางหลวงมีโครงการแล้วเสร็จหลายโครงการ เริ่มจาก 1.โครงการก่อสร้างสายฉะเชิงเทรา-ต.เขาหินซ้อน ตอนอ.พนมสารคราม-ต.เขาหินซ้อน ตอน 2 ฉะเชิงเทรา ระยะทาง 13 กม. ผลงานคืบหน้ากว่า 90% คาดว่า ม.ค.65 จะแล้วเสร็จ 2.โครงการทางลอดถนนสุขุมวิท ตัดทางหลวงหมายเลข 331 และทางหลวงหมายเลข 3126 (บ้านแยก กม.10) ต.พลูตาหลวง สัตหีบ ชลบุรี บริเวณ รพ.สมเด็จพระนางเจ้าสิริกิติ์ สัตหีบ ผลงานคืบหน้า 54% โดยก่อสร้างเป็นสะพานข้ามแยก สำหรับรถที่มาจากสัตหีบ พัทยา มุ่งหน้าระยอง ขึ้นสะพานโดยไม่ต้องติดไฟจราจร และทางลอดจุดตัดถนนสุขุมวิท ช่วยระบายรถจากฉะเชิงเทรา ที่ใช้ทางหลวงหมายเลข 311 ใช้ทางลอดมุ่งหน้าสนามบินอู่ตะเภา เพื่อลดจุดตัดและอุบัติเหตุบริเวณทางแยก ล่าสุดผลงานคืบหน้า 54% กำหนดแล้วเสร็จ ก.ย.65
ขยาย 4 เลนตะกั่วป่า-ภูเก็ต
3.โครงการทางหลวงหมายเลข 331 สายต่างระดับมาบเอียง-แยกทางหลวงหมายเลข 344 (แยกหนองปรือ) จ.ชลบุรี ซึ่งเป็นส่วนหนึ่งของโครงข่ายทางหลวงในการขนส่งสินค้าจากนิคมอุตสาหกรรมในพื้นที่จังหวัดฉะเชิงเทราและจังหวัดชลบุรีไปยังท่าเรือแหลมฉบังผ่าน อ.พนัสนิคม และ อ.บ้านบึง ปัจจุบันคืบหน้ากว่า 75% คาดว่า จะแล้วเสร็จเดือน ก.พ.2565 4.โครงการขยายถนนสาย อ.ตะกั่วป่า-อ.ตะกั่วทุ่ง จ.พังงา เป็น 4 ช่องจราจร ตลอดเส้นทางรวมระยะทางทั้งสิ้น 77.67 กม. ก่อสร้างคืบหน้าประมาณ 75% คาดว่าจะก่อสร้างแล้วเสร็จประมาณเดือน เม.ย.2565 5.โครงการขยายทางหลวง 4027 สายท่าเรือ-เมืองใหม่ จ.ภูเก็ต เป็น 4 ช่องจราจรตลอดสาย รองรับการเดินทาง ส่งเสริมเศรษฐกิจสู่เมืองท่องเที่ยวของไทย แบ่งเป็น 2 ส่วน ส่วนแรก ตอน บ.ป่าคลอก-บ.พารา 8.4 กม. คืบหน้า 99.23% แล้วเสร็จประมาณเดือน ก.พ.65
ถนนพิพิธภัณฑ์หลวงตามหาบัว
ด้านโครงการของกรมทางหลวงชนบท (ทช.) จะแล้วเสร็จปี 2565 ที่น่าสนใจ ได้แก่ โครงการขยายทางหลวงชนบทสาย สป.
1011 แยก ทล.3-เทพารักษ์ อ.บางพลี จ.สมุทรปราการ จาก 2 เป็น4 ช่องจราจร ไปกลับ ระยะ 3.175 กทม.และช่วงบริเวณหน้าสถาบันการแพทย์จักรีนฤบดินทร์ เป็น 6 ช่องจราจร รวมระยะทางทั้งสิ้น 3.875 กม. ขณะนี้คืบหน้ากว่า 72% คาดว่ากลางปีจะเปิดใช้ และโครงการก่อสร้างถนนสายแยก ทล.2-พิพิธภัณฑ์ธรรมเจดีย์ อ.เมือง จ.อุดรธานี เพื่อรองรับปริมาณนักท่องเที่ยวทั่วไปเดินทางมาพิพิธภัณฑ์ธรรมเจดีย์พระธรรมวิสุทธิมงคล (หลวงตาพระมหาบัว ญาณสัมปันโน) ณ วัดป่าบ้านตาด อำเภอเมือง จังหวัดอุดรธานี คาดว่าจะแล้วเสร็จในเดือน ก.ย.2565
ถนนสายนี้มีการจัดภูมิทัศน์ตั้งแต่จุดเริ่มต้นสายทาง จัดให้มีไม้พุ่มดอกจัดวางในกระถางคอนกรีตสำเร็จรูปเป็นช่วงๆ และมีต้นถั่วบราซิลดอกเหลืองสวยงามตลอดสายทาง รวมถึงได้นำต้นไม้ประจำจังหวัดอย่างต้นทองกวาวที่มีดอกสดสีแดงปลูกเพื่อกันแนวเขตที่ดินของสายทาง
------------------------------------------------
ที่ว่ามาคือ นวัตกรรมและส่วนหนึ่งของการแก้ปัญหาจราจรใน กทม.และภูมิภาคปีนี้.
ฝ่ายข่าวกทม.-จราจร