สำนักงานโฆษกกองทัพเรือ เปิดเรื่องราวจากเส้นทางนักดนตรีเหล่าดุริยางค์ สู่หน่วยรบพิเศษ SEAL ของ "จ่าโท ยุทธศิลป์ เพียรภูเขา" โดยได้แรงบันดาลใจจากปฏิบัติการช่วยชีวิตทีมฟุตบอลหมูป่าอะคาเดมี 13 คน ที่ถ้ำหลวงฯ จ.เชียงราย
ด้วยความสนใจในดนตรีมาตั้งแต่เล็กๆ ทำให้ ยุทธศิลป์ เพียรภูเขา หรือ เด็กชายเก่ง ชาวปทุมธานี เลือกที่จะเข้าศึกษาในโรงเรียนเฉพาะทางในด้านดนตรีอย่าง โรงเรียนดนตรีสังคีต ซึ่งนับเป็นจุดเริ่มต้นและปลูกฝังในด้านดนตรี และนำมาสู่การเป็นนักเรียนดุริยางค์ทหารเรือ อย่างเต็มภาคภูมิ
จ่าโทยุทธศิลป์ เล่าว่า ตลอดระยะเวลา 3 ปี ในโรงเรียนดุริยางค์ทหารเรือ อาจกล่าวได้ว่าเป็นจุดเปลี่ยนสำคัญของชีวิต เพราะนอกจากการเป็นสถาบันการศึกษาของกองทัพเรือ ในการให้การศึกษาและอบรมแก่นักเรียนดุริยางค์ เพื่อให้เป็นทหารที่มีความรู้ความสามารถในวิชาการดนตรีมีความคิดริเริ่มแล้ว ยังได้ฝึกฝนในเรื่องของระเบียบวินัย เพียบพร้อมด้วยคุณธรรม จริยธรรม ตลอดจนปลูกฝังให้มีความจงรักภักดีต่อสถาบันชาติ ศาสนา และพระมหากษัตริย์
นอกจากนั้นยังได้ฝึกฝนในเรื่องของวิชาการทหาร ปลูกฝังภาวะความเป็นผู้นำ โดยได้มีโอกาสเป็นหัวหน้านักเรียนในชั้นปีที่ 3 ได้ถูกบ่มเพาะความซื่อสัตย์สุจริต กล้าหาญเสียสละ รับผิดชอบ มีจิตสำนึกในความเป็นทหาร รู้รักสามัคคี ตลอดจนมีความอดทน ทั้งทางร่างกายและจิตใจ เมื่อสำเร็จการศึกษา เขาได้เข้ารับราชการที่ กองดุริยางค์ทหารเรือ ฐานทัพเรือกรุงเทพฯ ในตำแหน่งนักดนตรี (กีตาร์) ก่อนจะย้ายไปเป็นนักดนตรีในสังกัดกองร้อยปฏิบัติการจิตวิทยาที่หน่วยบัญชาการนาวิกโยธิน

...
จ่าโทยุทธศิลป์ เปิดเผยว่า จุดเปลี่ยนสำคัญดังที่กล่าวไว้ในตอนต้น เกิดขึ้นในขณะที่เป็นนักเรียนดุริยางค์ทหารเรือ ซึ่งที่ตั้งของโรงเรียนนั้นอยู่ฝั่งตรงข้ามกับวัดชิโนรสารามวรวิหาร เมื่อโรงเรียนจัดให้มีการอบรมธรรมะ ก็จะพานักเรียนไปฟังเทศน์ปฏิบัติธรรมที่วัดชิโนรสฯ ซึ่งที่นั่นเองทำให้ ยุทธศิลป์ เกิดความสนใจในการปฏิบัติธรรมอย่างจริงจังอีกทั้งได้มีโอกาสรู้จักกับพระอาจารย์รูปหนึ่งที่วัดชิโนรสฯ ซึ่งได้ชี้แนะแนวทางการปฏิบัติสมาธิภาวนา จนที่มีโอกาสไปปฏิบัติธรรม 9 วัด ที่จังหวัดพระนครศรีอยุธยา
โดยขณะที่อยู่ในระหว่างการปฏิบัติสมาธิภาวนา ได้ระลึกถึงพระมหากรุณาธิคุณของสมเด็จพระนเรศวรมหาราช ที่ได้ทรงปกปักรักษาแผ่นดินไทย ทำให้ประเทศไทยเป็นเอกราชจากอริราชศัตรู เกิดเป็นแรงบันดาลใจ และจุดประกายว่า “เราน่าจะทำอะไรเพื่อชาติ และเป็นประโยชน์ในการช่วยเหลือผู้คนในภารกิจอื่นนอกเหนือไปจากบทบาทของการเป็นนักดนตรีที่มีหน้าที่มอบความสุขให้แก่ผู้ชม อีกทั้งภาพจากภารกิจของ หน่วยซีล ในการช่วยเหลือ 13 หมูป่าที่ถ้ำหลวงขุนน้ำ-นางนอน ที่ยังก้องอยู่ในความทรงจํา ทำให้เขาตัดสินใจที่จะเลือกเปลี่ยนบทบาทของตัวเอง จากนักดนตรีผู้มอบความสุข มาเป็น นักรบพิเศษ โดยในวันรุ่งขึ้นหลังจากที่ได้ตั้งใจแน่วแน่ เขาได้มุ่งมั่นและเตรียมตัวในการเข้ารับการฝึกในหลักสูตร นักทำลายใต้น้ำจู่โจม ในสังกัดหน่วยบัญชาการสงครามพิเศษทางเรือ กองเรือยุทธการ ที่หลายคนบอกว่าโหด และใช้เวลาฝึกนานที่สุดของกองทัพไทย โดยใช้เวลาเตรียมตัวทั้งร่างกายและจิตใจเป็นระยะเวลาถึง 1 ปีเต็ม
ตลอดระยะเวลา 31 สัปดาห์ของการฝึก จ่าโทยุทธศิลป์ กล่าวว่า เป็นประสบการณ์ที่ให้อะไรกับเขามากมาย โดยเฉพาะเรื่องความอดทนอดกลั้น ซึ่งแม้จะได้รับความกดดันในรูปแบบต่างๆ จากสถานการณ์ในการฝึก แต่เขาได้น้อมนำเอาหลักธรรมที่ได้ฝึกฝนมา โดยเฉพาะเรื่องของการเจริญสติภาวนาให้ระลึกถึงปัจจุบันขณะ ตลอดจน ประสบการณ์ต่างๆ ที่ได้รับ

"ระยะเวลา 3 ปีในชีวิตของนักเรียนทหารนำมาประยุกต์ใช้ จนในที่สุดเขาก็สำเร็จการฝึกเมื่อวันที่ 19 พฤษภาคม 2564 ที่ผ่านมา โดยได้เข้ารับการประดับเครื่องหมายฉลามบนเกลียวคลื่น พร้อมเข้าสังกัดหน่วยบัญชาการสงครามพิเศษทางเรือ กองเรือยุทธการ และเรียกตนเองว่า นักรบพิเศษของกองทัพเรือ ในนาม 'นักทำลายใต้น้ำจู่โจม' พร้อมที่จะปฏิบัติภารกิจในการช่วยเหลือผู้อื่นอย่างที่ตั้งใจไว้ได้อย่างเต็มภาคภูมิ".