ความคืบหน้าการฉีดวัคซีนโควิด-19 ทั้งเข็ม 1 และ 2 ในไทย 28 ก.พ.-11 พ.ค. 64 ยอดฉีดสะสมใกล้แตะ 2 ล้านโดส กทม. เดินหน้าฉีดให้คนขับรถขนส่งสาธารณะ เหตุ เป็นอาชีพเสี่ยง

วันที่ 12 พ.ค. 2564 แพทย์หญิงอภิสมัย ศรีรังสรรค์ ผู้ช่วยโฆษกศูนย์บริหารสถานการณ์การแพร่ระบาดของโรคติดเชื้อไวรัสโคโรนา 2019 (โควิด-19) หรือ ศบค. เปิดเผยความคืบหน้าการฉีดวัคซีนโควิด-19 ในประเทศไทย เป็นดังนี้

จำนวนผู้ได้รับวัคซีนวันที่ 11 พ.ค. 2564 จำนวน 37,111 โดส

ผู้ได้รับวัคซีนเข็มที่ 1 จำนวน 6,021 ราย
ผู้ได้รับวัคซีนเข็มที่ 2 จำนวน 31,090 ราย

จำนวนผู้รับวัคซีนสะสม ตั้งแต่วันที่ 28 ก.พ. - 11 พ.ค. 2564 (73 วัน) 1,935,565 โดส ในพื้นที่ 77 จังหวัด

ผู้ได้รับวัคซีนเข็มที่ 1 จำนวน 1,372,013 ราย
ผู้ได้รับวัคซีนเข็มที่ 2 จำนวน 563,552 ราย

แพทย์หญิงอภิสมัย ระบุเพิ่มเติมว่า สํานักอนามัย กรุงเทพมหานคร รายงาน 2 ส่วนที่มีความเป็นห่วง คือ ขนส่งสาธารณะ หลังพบการติดเชื้อมากขึ้น เช่น คนขับรถสาธารณะประเภทต่างๆ แท็กซี่ รถเมล์ วินมอเตอร์ไซค์ พนักงานเก็บค่าโดยสาร พนักงานรถไฟฟ้า รวมถึงประชาชนที่เป็นผู้โดยสารติดเชื้อจากการใช้บริการขนส่งสาธารณะ ซึ่งที่ประชุม ศบค.ชุดเล็ก มีการพูดคุยกับกระทรวงคมนาคมและกรมควบคุมโรค จะมีการวางมาตรการเพิ่มเติมเพื่อทำให้มีความปลอดภัยมากยิ่งขึ้น

...

ที่สำคัญมีการเสนอให้บุคคลสาธารณะที่มีอาชีพขับรถเหล่านี้ได้รับการฉีดวัคซีน โดยกรุงเทพมหานครเริ่มดำเนินการฉีดวัคซีนให้กลุ่มเสี่ยงนี้แล้ว ส่วนที่สองคือ แรงงานต่างด้าวที่ป่วยแม้จะเข้ามาอย่างผิดกฎหมายก็ต้องให้การดูแล ตรวจหาเชื้อ หากพบผลบวกก็ต้องจัดสถานที่ให้ได้รับการรักษาอย่างเหมาะสม แต่เมื่อหายป่วยแล้วต้องนำเข้าสู่ระบบการจ้างงานตามกฎหมาย นอกจากนี้ ผู้ประกันตนในระบบประกันสังคมก็เข้ารับการตรวจโควิด-19 ได้ฟรีตามสถานที่กำหนด ในส่วนของกรุงเทพฯ อยู่ที่สนามไทย-ญี่ปุ่น ดินแดง เปิดบริการถึง 31 พ.ค.นี้

ส่วนเรื่องประชาชนร้องเรียนพื้นที่ฉีดวัคซีนมีความแออัดเสี่ยงการติดเชื้อนั้น ทุกภาคจะจัดการระบบให้ดีขึ้น พร้อมฝากประชาชนให้เฝ้าระวังตัวเองในขณะที่เข้ารับบริการตรวจหาเชื้อหรือฉีดวัคซีนโควิด-19 หากพบการจัดการที่ไม่เหมาะสมขอให้รายงานเข้ามาเพื่อช่วยกันพัฒนาให้ประชาชนได้รับการดูแลอย่างปลอดภัย