กรมคุ้มครองสิทธิฯ กระทรวงยุติธรรม ลงพื้นที่ให้กำลังใจ ติดตามความคืบหน้าการเยียวยาผู้สื่อข่าว จากเหตุโดนกระสุนยางยิงเข้าขมับขวา ขณะรายงานข่าวสลายการชุมนุม เป็นเหตุให้ได้รับบาดเจ็บสาหัส "ที่ปรึกษา รมว.ยุติธรรม" แจงมีสิทธิได้รับเยียวยา "ค่ารักษา-ฟื้นฟูร่างกาย-ค่าขาดประโยชน์

เมื่อวันที่ 31 มี.ค.64 ผู้สื่อข่าวรายงานว่า วานนี้ (30 มี.ค.) ที่สถานีโทรทัศน์ช่อง 8 นายวันฉัตร วณิชพันธุ์ คณะที่ปรึกษารัฐมนตรีว่าการกระทรวงยุติธรรม พร้อมด้วย นายพัสกร เพชรในหิน ผู้อำนวยการกองมาตรฐานด้านสิทธิมนุษยชน ลงพื้นที่ให้กำลังใจและติดตามความคืบหน้าในการให้ความช่วยเหลือแก่ผู้เสียหาย จากกรณีที่ น.ส.พนิตนาฏ พรหมบังเกิด ผู้สื่อข่าวสถานีโทรทัศน์ช่อง 8 ถูกกระสุนยางจากการสลายการชุมนุม ยิงเข้าที่บริเวณขมับขวา บริเวณสี่แยกคอกวัว เมื่อวันที่ 20 มี.ค.64 ที่ผ่านมา และได้เข้ารับการรักษาตัวที่ รพ.เกษมราษฎร์ประชาชื่น โดยมี นายธีระ ธัญญะอนันต์ผล บรรณาธิการบริหาร สถานีโทรทัศน์ช่อง 8 และผู้สื่อข่าวให้การต้อนรับ

โดย เมื่อวันที่ 21 มี.ค.64 เจ้าหน้าที่กรมคุ้มครองสิทธิและเสรีภาพ ได้ดำเนินการให้ความช่วยเหลือผู้เสียหายตามแนวทางยุติธรรมสร้างสุข ยุติธรรมเชิงรุก สร้างสุขให้ประชาชน โดยลงพื้นที่ รพ.เกษมราษฎร์ เข้าพบ น.ส.ศุภิสรา พรหมบังเกิด (น้องสาวผู้เสียหาย) ซึ่งได้รับแจ้งว่าผู้เสียหายได้รับบาดเจ็บบริเวณศีรษะ จากการถูกยิงด้วยกระสุนยางทำให้มีเลือดออกในสมอง เข้ารับการรักษาที่ห้อง ICU แต่รู้สึกตัวดี ซึ่งผู้เสียหายได้เข้าแจ้งความดำเนินคดีไว้ที่ สน.ชนะสงคราม เจ้าหน้าที่จึงแจ้งสิทธิและรับคำขอค่าตอบแทนผู้เสียหายในคดีอาญา ตาม พ.ร.บ.ค่าตอบแทนผู้เสียหาย และค่าทดแทนและค่าใช้จ่ายแก่จำเลยในคดีอาญา พ.ศ.2544 และที่แก้ไขเพิ่มเติม (ฉบับที่ 2) พ.ศ.2559 รวมทั้งให้คำแนะนำการเข้าถึงกระบวนการยุติธรรมเกี่ยวกับการเรียกค่าสินไหมทดแทน ในคดีอาญาการฟ้องคดีแพ่งและการขอรับความช่วยเหลือจากกองทุนยุติธรรม ทั้งนี้จากการวิเคราะห์เบื้องต้นคดีนี้ หากผู้บาดเจ็บไม่มีส่วนเกี่ยวข้องกับการกระทำความผิด มีสิทธิได้รับเงินช่วยเหลือเยียวยาในฐานะเป็นผู้เสียหายในคดีอาญาตามมาตรา 3 แห่งพระราชบัญญัติค่าตอบแทนฯ กรณีความผิดต่อร่างกายต่อไป

...

โดย นายวันฉัตร เปิดเผยว่า เรื่องการเยียวยาผู้เสียหายและจำเลยในคดีอาญาเป็นสิ่งที่ นายสมศักดิ์ เทพสุทิน รัฐมนตรีว่าการกระทรวงยุติธรรม ให้ความสำคัญเป็นอย่างมาก เพราะเป็นสิ่งที่ประชาชนทุกคนในประเทศล้วนมีสิทธิเข้าถึงอย่างเท่าเทียม โดยได้กำชับให้กรมคุ้มครองสิทธิเสรีภาพ รวมถึงหน่วยงานต่างของกระทรวงยุติธรรมนั้น ทำงานเชิงรุกเข้าถึงบริการประชาชนอย่างรวดเร็ว และเร่งประชาสัมพันธ์ถึงสิทธิต่างๆให้ประชาชนรับทราบในทุกช่องทาง 

"ในกรณีของผู้สื่อข่าวที่ได้รับบาดเจ็บจากการชุมนุมนั้น รัฐมนตรีว่าการกระทรวงยุติธรรมมีความเป็นห่วง เพราะทราบดีว่าผู้สื่อข่าวนั้นอยู่ในความเสี่ยง การออกไปทำหน้าที่บนถนนเวลามีการปะทะ ผู้สื่อข่าวทุกสำนักทั้งไทยและต่างประเทศถือเป็นกลุ่มเสี่ยงที่สุด เพราะต้องรายงานสถานการณ์ต่างๆจากสถานที่จริง ดังนั้นการถูกลูกหลงจึงไม่สามารถคาดเดาได้ จึงอยากแจ้งให้สื่อมวลชนนั้นเข้าใจว่า ตัวเองมีสิทธิเยียวยาเบื้องต้นหากได้รับการบาดเจ็บเมื่อปฏิบัติหน้าที่ ในส่วนของค่ารักษาพยาบาล ค่าฟื้นฟูสรรถภาพทางร่างกายจิตใจ ค่าขาดประโยชน์ทำมาหาได้ เป็นต้น แต่การพิจารณานั้นต้องเป็นไปตาม พ.ร.บ.ค่าตอบแทนผู้เสียหาย และค่าทดแทนและค่าใช้จ่ายแก่จำเลยในคดีอาญา พ.ศ.2544 และดุลยพินิจของกรรมการตรวจสอบ" นายวันฉัตร กล่าว