“วิชา มหาคุณ” นำคณะกรรมการฯ ปฏิรูปกระบวนการยุติธรรมเข้าพบ “บิ๊กตู่” เสนองานช้าง เห็นควรเปลี่ยนระบบยุติธรรมไทย ที่ใช้ระบบกล่าวหา เป็นระบบไต่สวน รับเป็นเรื่องใหญ่เปลี่ยนโครงร่างกระบวนการยุติธรรมของประเทศ ต้องนำไปสู่การค้นคว้าและถกเถียงกันต่อ แนะแก้กฎหมาย 6 ฉบับ เพื่อให้การสอบสวนฟ้องร้องเป็นกระบวนการเดียวกัน พร้อมส่งรายงานคดีบอสระบุปัญหา 6 ข้อ ทั้งพนักงานสอบสวนไม่เป็นอิสระ ถูกผู้บังคับบัญชาแทรกแซง ระบบกฎหมายมีช่องโหว่ เปิดช่องให้เจ้าพนักงานทุจริต และการสอบสวนล้าสมัยไม่สอดคล้องกับสภาพสังคม ยันคดีไม่เงียบ ทุกหน่วยงานดำเนินการอยู่ ด้านอัยการตั้งคณะกรรมการสอบสวนเพื่อนำไปสู่การฟ้องร้องแล้ว ให้รอฟังข่าวดีว่าจะส่งศาลเมื่อไหร่ ส่วนดีเอสไอรับเป็นคดีพิเศษสอบสวนคนนอกสำนวน ยันคดีไม่มีล้ม
ที่ทำเนียบรัฐบาล เมื่อเวลา 14.30 น. วันที่ 1 ต.ค. นายวิชา มหาคุณ ประธานคณะกรรมการตรวจสอบข้อเท็จจริงและข้อกฎหมาย กรณีคำสั่งไม่ฟ้องคดีอาญาที่อยู่ในความสนใจของประชาชน และคณะกรรมการฯเข้าพบ พล.อ.ประยุทธ์ จันทร์โอชา นายกรัฐมนตรีและ รมว.กลาโหม นำผลสรุปแนวทางปฏิรูปกฎหมายในระบบกระบวนการยุติธรรมใช้เวลาประมาณ 45 นาที นายวิชาเผยว่า วันนี้นายกฯเชิญมาพบ เพราะคณะกรรมการฯทำงานตามกำหนดระยะเวลาเสร็จสิ้นวันที่ 30 ก.ย. เกี่ยวกับคดีนายวรยุทธ หรือบอส อยู่วิทยา ดำเนินการเรียบร้อยโดยสมบูรณ์ การพบนายกฯเป็นไปได้ด้วยดี นายกฯรับฟังความคิดเห็นทั้งหมดของคณะกรรมการฯ แต่ตั้งข้อสังเกตเล็กน้อยคือ ร่างพระราชบัญญัติ ตำรวจแห่งชาติ พ.ศ. ...
นายกฯอธิบายให้ฟังว่า ทำไมถึงคณะรัฐมนตรี (ครม.) แล้ว ส่งให้หน่วยงานต่างๆที่เกี่ยวข้องพิจารณาโดยเฉพาะตำรวจ ปรากฏว่าหายไปเป็นเดือนแล้วจึงกลับมา ก่อนได้รับการแก้ไขอย่างที่เราทราบดีอยู่ คณะกรรมการชี้แจงให้นายกฯฟังในประเด็นสำคัญที่เราไม่อยากให้เปลี่ยน เรื่องแรกให้เป็นไปตามรัฐธรรมนูญคือ ระบบอาวุโสกับความรู้ความสามารถ 2.คือสายสอบสวน ต้องเป็นสายที่มีความรู้ความชำนาญ เป็นอิสระ ได้ค่าตอบแทนเป็นพิเศษ นายกฯ บอกว่า สำหรับการสอบสวนต้องเป็นแท่งและอิสระ ไม่น่าจะมีอะไรขัดข้อง แต่ระบบการแต่งตั้งตำรวจ เนื่องจากมีขบวนการมานานแล้ว ไม่ได้เป็นไปตามหลักอาวุโส ที่เห็นๆกันอยู่ว่า มีการแต่งตั้งข้ามหัวกันไปเยอะแยะ ดังนั้นอาจต้องใช้บทเฉพาะกาลอะไรไว้ให้ เพื่อให้ปรับตอนเข้าระบบเปลี่ยนผ่าน เพราะถ้าหากใช้ทันที จะเกิดข้อร้องเรียนเยอะแยะ ถือว่าเป็นข้อน่าสังเกตก็แล้วกัน
...
เมื่อถามว่า ข้อเสนอให้นายกฯกลับมติ ครม.ที่เห็นชอบร่าง พ.ร.บ.ตำรวจฯไปแล้วนั้นทำได้หรือไม่ นายวิชากล่าวว่า ปรากฏว่าเราทราบมาอย่างชัดเจนแล้วว่ายังไม่เรียบร้อย เพราะนายกฯส่งเรื่องไปกระทรวง การคลังพิจารณาเรื่องเงิน เพราะเป็นกฎหมายใหญ่ที่เกี่ยวข้องกับการแต่งตั้งโยกย้าย ดังนั้น ยังมีเวลาปรับปรุงแก้ไขก่อนนำเข้าสู่สภา เมื่อถามย้ำว่า จะแก้ไข มติ ครม.หรือไม่ นายวิชาตอบว่า “ท่านรับเรื่องไปแล้ว บอกว่าขอรับไปและไปดูให้รอบคอบ ตามที่เราให้ข้อสังเกตไว้ เรายืนยันว่า อย่างไรก็ตาม สองหลักนี้ต้องให้ปรากฏอยู่ในตัวกฎหมาย อาจมีเรื่องอื่นๆที่ตำรวจขอปรับแก้ ที่เรียกว่าแปลงสารอะไรทำนองนี้ แต่เราเห็นว่าไม่สำคัญเท่าสองหลักนี้”
นายวิชากล่าวต่อว่า นอกจากพูดคุยถึงแนวทางการแก้ไข พ.ร.บ.สอบสวนคดีอาญาและข้อเสนอแนะปรับปรุงกฎหมายร่าง พ.ร.บ.แก้ไขเพิ่มเติมประมวลกฎหมายวิธีพิจารณาความอาญา และกฎหมาย ที่เกี่ยวกับนิติวิทยาศาสตร์ นายกฯรับเรื่องไว้ทั้งหมด จะไปดูเพื่อแก้ไขให้เป็นไปตามที่คณะกรรมการฯเสนอ โดยเฉพาะการแก้ไขร่าง พ.ร.บ.แก้ไขเพิ่มเติมประมวลกฎหมายวิธีพิจารณาความอาญา คณะกรรมการฯขอให้แก้ไขด่วนในมาตรา 145/1 ที่ คสช.แก้ไขอำนาจของผู้ว่าราชการจังหวัด ตัดอำนาจผู้ว่าฯกรณีมีข้อขัดแย้งกับตำรวจ กลายเป็นว่าตำรวจมีอำนาจครอบคลุมทั้งหมด คณะกรรมการฯขอให้กลับไปเหมือนเดิมคือ ให้ผู้ว่าฯสามารถโต้แย้งตำรวจได้ ถือเป็นเรื่องสำคัญมาก เพราะเป็นเรื่องที่ฝ่ายปกครองไม่พอใจมาตลอด เขาเห็นว่าเป็นอำนาจเพียงน้อยนิดเท่านั้นที่เขาจะท้วงติงแทนราษฎร ประเด็นดังกล่าวยกตัวอย่างคดีในอดีตหลายคดี แต่ตอนนี้ไม่มีอำนาจไปโต้แย้งอะไรได้แล้ว
นายวิชากล่าวด้วยว่า ส่วนการแก้ไขร่าง พ.ร.บ. นิติวิทยาศาสตร์แห่งชาติ ที่คณะกรรมการปฏิรูปกระบวนการยุติธรรมเสนอมา คณะกรรมการฯสนับสนุน ประเด็นนี้ให้รีบออกมาโดยเร็ว และให้แก้ไข พ.ร.บ.บริการนิติวิทยาศาสตร์ กระทรวงยุติธรรม ให้สามารถใช้งานได้ แม้ว่าฝ่ายตำรวจตรวจสอบและมีความเห็นแล้วยุติแล้วโดยตำรวจ แต่ถ้าอีกฝ่ายหนึ่งหรือคู่ ความฝ่ายอื่นไม่พอใจ สามารถใช้บริการสถาบันนิติวิทยาศาสตร์ได้ เพื่อให้อำนาจคานกัน ดังนั้น ต่อไปนี้สามารถใช้บริการได้ทั้งนิติวิทยาศาสตร์ของตำรวจ และนิติวิทยาศาสตร์ของกระทรวงยุติธรรม ที่สำคัญกว่านั้น นายกฯเห็นด้วยที่คณะกรรมการฯเสนอว่า สมควรเปลี่ยนระบบกระบวนการยุติธรรมจากระบบกล่าวหาเป็นระบบไต่สวนหรือไม่ เรื่องนี้จะนำไปสู่การค้นคว้าและถกเถียงกันต่อไป เพราะเรื่องนี้เป็นเรื่องใหญ่ที่เปลี่ยนโครงร่างกระบวนการยุติธรรมของประเทศไทยเลยทีเดียว คณะกรรมการฯเสนอไปและนายกฯได้รับแล้ว วันนี้คณะกรรมการฯถือว่า ยุติบทบาทลงแล้ว เพราะส่งงานกันเรียบร้อยแล้ว
ส่วนความคืบหน้าการดำเนินคดีนายวรยุทธ อยู่วิทยา นายวิชาเผยว่า คนนึกว่าคดีนิ่งอยู่ แต่ความจริงองค์กรที่เกี่ยวข้องเดินหน้าในส่วนของตัวเอง โดยเฉพาะกรมสอบสวนคดีพิเศษ (ดีเอสไอ) รับคดีดังกล่าวเป็นคดีพิเศษแล้ว ส่วนคณะกรรมการป้องกันและปราบปรามการทุจริตแห่งชาติ (ป.ป.ช.) รับสำนวนนำเข้าสู่กระบวนการตรวจสอบข้อเท็จจริงเบื้องต้น เพื่อนำไปสู่การไต่สวนต่อไป ส่วนการตรวจสอบเรื่องการเงิน สำนักงานคณะกรรมการป้องกันและปราบปรามการฟอกเงิน (ปปง.) เป็นผู้รับผิดชอบ เริ่มดำเนินการตรวจสอบแล้ว อย่างไรก็ตาม การคุ้มครองพยานปากสำคัญยังคงต้องทำอยู่จนกว่าจะเบิกความเสร็จเรียบร้อย
ถามว่า รายงานความคืบหน้าทั้งหมดถือเป็นที่น่าพอใจหรือไม่ นายวิชากล่าวว่า ดีแล้ว ถือว่าไปได้เยอะแล้ว สำนักงานคณะกรรมการป้องกันและปราบปรามการทุจริตในภาครัฐ (ป.ป.ท.) ยังคงตามต่อ คณะกรรมการฯชุดตนจะประสานกับ ป.ป.ท.ต่อไป ถามย้ำว่า วันนี้ยังตอบกับสังคมได้หรือไม่ว่าคดีดังกล่าวไม่มีล้ม นายวิชากล่าวว่า ไม่มีแน่นอน เรารอว่า จะได้ตัวมาเมื่อไหร่ เพราะตอนนี้ดำเนินการด้านต่างประเทศไปแล้วพอสมควร ถามอีกว่า ตัวความผิดนอกสำนวนคดีบอส มองว่าทิศทางไปต่อได้หรือไม่ นายวิชากล่าวว่า เรื่องคดีอื่นๆที่จะเริ่มนับหนึ่งใหม่ อัยการตั้งคณะกรรมการเรียบร้อยแล้ว เพื่อดำเนินการไปสู่การฟ้องร้อง ขอให้รอฟังว่าจะส่งไปศาลเมื่อไหร่ ถามว่า นายกฯชวนทำงานต่อหรือไม่ นายวิชากล่าวว่า ยังไม่รู้ รอดูกฎหมายเข้าสภาฯ เผื่อจำเป็นต้องไปปกป้องประโยชน์สิทธิของประชาชน
ผู้สื่อข่าวรายงานว่า นายวิชาส่งรายงานผลการตรวจสอบข้อกฎหมายเพื่อนำไปสู่การปฏิรูปกระบวนการยุติธรรม 4 หน้า รายละเอียดดังนี้ คณะกรรมการฯมีความเห็นว่าการแก้ไขข้อบกพร่องหน่วยงานรัฐที่เกี่ยวข้องต้องยึดถือหลักมาตรฐานสากลในการดำเนินคดีที่เป็นธรรม ต้องปรับโครงสร้างการสอบสวนให้เป็นอิสระ ลดการแทรกแซงจากผู้บังคับบัญชาและอิทธิพลภายนอก แยกงานสอบสวนให้เป็นสายงานเฉพาะจากฝ่ายป้องกันและปราบปรามอาชญากรรม ให้มีหลักประกันในสายงาน ต้องดำเนินการแก้ไขกฎหมายเพื่อให้การสอบสวนฟ้องร้องเป็นกระบวนการเดียวกันคือ 1.ร่าง พ.ร.บ.บัญญัติตำรวจแห่งชาติ พ.ศ. ... 2.ร่าง พ.ร.บ.การสอบสวนคดีอาญาพ.ศ. ... 3.ร่างกฎหมายเกี่ยวกับนิติวิทยาศาสตร์ 4.ร่าง พ.ร.บ.กำหนดระยะเวลาดำเนินงานในกระบวนการยุติธรรม พ.ศ. ... 5.ระเบียบสำนักงานอัยการสูงสุดและระเบียบคณะกรรมการอัยการ และ 6.ประมวลกฎหมายวิธีพิจารณาความอาญา
...
นอกจากนี้ ในรายงานคณะกรรมการฯยังระบุความคิดเห็นคดีนายวรยุทธ อยู่วิทยา 1.การที่งานสอบสวนของตำรวจขาดความเป็นอิสระ การทำงานถูกแทรกแซงจากผู้บัญชาการและอิทธิพลภายนอกของบุคคลที่ประพฤติมิชอบได้ง่าย เปิดโอกาสให้เกิดการทุจริต เพื่อบิดเบือนความจริงและพยานหลักฐาน 2.การสอบสวนคดีอาญาของพนักงานสอบสวนและการฟ้องร้องคดีของอัยการ ขาดความเชื่อมโยงและความร่วมมือที่เป็นเอกภาพ 3.ระบบกฎหมายมีช่องโหว่ให้กระบวนการสอบสวนและฟ้องร้องคดีดำเนินไปอย่างล่าช้า ไม่มีข้อจำกัดหรือการควบคุมที่มีประสิทธิภาพ 4.ความเหลื่อมล้ำของคนที่มีสถานะทางเศรษฐกิจหรือสถานะทางสังคมที่แตกต่างกัน ในการเข้าสู่ กระบวนการยุติธรรม ทำให้สังคมเชื่อว่ากระบวนการยุติธรรมซื้อได้และมีคุกไว้ขังคนจน 5.ระบบกฎหมายเปิดช่องให้เจ้าพนักงานในกระบวนการยุติธรรมทุจริตและประพฤติมิชอบ และ 6.กระบวนการยุติธรรมทางอาญา โดยเฉพาะการสอบสวนล้าสมัยไม่สอดคล้องกับสภาพทางสังคมและเศรษฐกิจที่เปลี่ยนไป