เหตุฝนตกหนักจากอิทธิพลพายุซินลากู ก่อให้เกิดน้ำป่าไหลหลากรุนแรงเข้าท่วมหลายพื้นที่ใน จ.เลย เมื่อวันอาทิตย์ที่ผ่านมา โดยเฉพาะบ้านสูบ ต.น้ำสวย อ.เมือง จ.เลย บ้านเรือนเสียหายกว่า 500 หลัง รวมถึงทรัพย์สินต่างๆ ถูกน้ำไหลเชี่ยวพัดพาไป ถือเป็นภัยพิบัติที่เกิดขึ้นโดยที่ชาวบ้านไม่ทันตั้งตัว

สิ่งที่เกิดขึ้นสะท้อนให้เห็นความบกพร่องในการเตือนภัยรับมือ จากปัญหาความเปราะบางของพื้นที่ในการเตรียมพร้อม ในความเห็นของ "รศ.ดร.เสรี ศุภราทิตย์" ผู้อำนวยการศูนย์การเปลี่ยนแปลงภูมิอากาศและภัยพิบัติ มหาวิทยาลัยรังสิต กล่าวกับ "ทีมข่าวเจาะประเด็นไทยรัฐออนไลน์" ซึ่งที่ผ่านมาในการเตือนภัยแต่ละครั้งในส่วนท้องถิ่น จะต้องรอส่วนกลางเท่านั้น ทั้งๆ ที่ก่อน "พายุซิลากู" จะเข้ามามีการรู้ล่วงหน้าด้วยเทคโนโลยีมาแล้ว แต่การแจ้งเตือนประชาชนในระดับพื้นที่ไม่มี ส่งผลให้ชาวบ้านรับผลกระทบ ถึงเวลาแล้วต้องพัฒนาระบบเตือนภัย สร้างความเข้มแข็งให้กับส่วนท้องถิ่น เหมือนอย่างญี่ปุ่นที่เจอภัยพิบัติรุนแรงมากกว่าไทย สามารถจัดการปัญหาในพื้นที่ได้เป็นอย่างดี

...

นอกจากนี้ในอีก 10 วันข้างหน้า จะมี "พายุ" อีกลูกเข้าไต้หวัน และจีน แม้ไม่ส่งผลกระทบโดยตรงกับไทย แต่จะเกิดลมมรสุมตะวันตกเฉียงใต้กำลังแรง พัดเข้ามาทางฝั่งทะเลอันดามันและพื้นที่ฝั่งตะวันตก ทำให้เกิดฝนตกหนักในบริเวณนั้น ทั้งในพื้นที่จ.กาญจนบุรี ราชบุรี ไปจนถึง จ.แม่ฮ่องสอน และสรุปว่าในปีนี้จะเกิดฝนตกหนักสุดในเดือนตุลาคม จากปกติในแต่ละปีจะเกิดพายุ 26 ลูกในมหาสมุทรแปซิฟิก แต่ในปีนี้เหลือพายุเพียง 10 ลูก และจะเกิดขึ้น 3 ลูกอย่างหนาแน่นในครึ่งปีหลัง ซึ่งมีความเสี่ยงมากต่อไทย ภายหลังพายุไม่ได้เกิดขึ้นมานาน โดยพายุจะมาปลายปี เพราะฉะนั้นภาคใต้ต้องระวัง

จำนวนและทิศทางพายุ ปี 2563
จำนวนและทิศทางพายุ ปี 2563

“ร่องมรสุมความกดอากาศต่ำ จะพาดผ่านกินพื้นที่เป็นวงกว้างใน 3 ภูมิภาค ในพื้นที่ภาคกลาง ตะวันออก และใต้ จะเกิดฝนตกหนักในเดือนตุลาคม ทำให้เกิดน้ำท่วม โดยเฉพาะพื้นที่ที่ฝนตกตรงร่องพาดผ่านก็จะเกิดฝนหนาแน่น ซึ่งหน่วยงานในพื้นที่ควรนำไปประเมิน ภายหลังที่ผมได้เตือนไปแล้ว อย่าให้เหมือนกรณี จ.เลย จนบ้านเรือนชาวบ้านถูกพัดไปทั้งหลัง เพราะไม่มีการประเมินความเปราะบางในพื้นที่ ถือเป็นภัยพิบัติซ้ำซ้อนที่เกิดขึ้นพร้อมกับโควิด”

...

ส่วนสาเหตุที่ฝนขณะนี้ไม่ตกเหนือเขื่อน เนื่องจากสภาพทางกายภาพเปลี่ยนไป เช่น มีการสร้างถนน สร้างสนามกอล์ฟ จนไม่มีป่ามาช่วยสร้างความชุ่มชื้น ทำให้ฝนไปตกในเมืองเป็นส่วนใหญ่ และเมื่อการตกของฝนเปลี่ยนแปลงไปจากความแปรปรวนเพราะโลกร้อนขึ้น ทำให้ไม่สามารถชี้ชัดได้ว่าฝนจะตกเหนือเขื่อน หรือใต้เขื่อน ดังนั้นจะต้องบริหารจัดการน้ำในแต่ละปีให้ดี เพื่อให้มีน้ำใช้ไปจนถึง 3 ปี พร้อมๆ กับการบริหารพื้นที่ปลูกพืชให้เหมาะสมกับการใช้น้ำอย่างมีประสิทธิภาพ

นอกจากนี้ในระยะ 10-30 ปีข้างหน้า ระดับน้ำทะเลที่สูงขึ้น จะทำให้กรุงเทพฯ มีความล่อแหลม และเปราะบางมากที่จะเกิด "น้ำท่วมใหญ่" จนอยู่ไม่ได้ ตามรายงานของวารสารเนเจอร์จีโอไซน์ และคณะกรรมการระหว่างรัฐบาลว่าด้วยการเปลี่ยนแปลงสภาพภูมิอากาศ (IPCC) โดยระดับน้ำทะเลจะสูงขึ้นสูงสุดประมาณ 1.1 เมตร จากระดับน้ำ 2.5-2.6 เมตรเหนือระดับน้ำทะเลปานกลาง ซึ่งเป็นความเสี่ยงต่อเมืองใหญ่ทั่วโลก หากเกิดเหตุการณ์ขึ้น จะเกิดความเสียหายมหาศาลจนไม่สามารถประเมินมูลค่าได้.