ผอ.ยูเนสโก ขอทั่วโลกเดินหน้า ยกระดับปฎิรูประบบการศึกษา พร้อมชื่นชม กสศ. เป็นเจ้าภาพจัดเวทีการประชุมนานาชาติ ด้านการศึกษา เชื่อ เป็นสัญญาณดีต่อไทยในการร่วมกันปฎิรูปการศึกษาเพื่อลดเหลื่อมล้ำ

วันที่ 3 ก.ค. 2563 นายชิเงรุ อาโอยากิ ผู้อำนวยการยูเนสโก ประจำประเทศไทย กล่าวถึงการจัดประชุมนานาชาติครั้งใหญ่ ด้านการศึกษา ภายใต้หัวข้อ EQUITABLE EDUCATION: ALL FOR EDUCATION ของกสศ. ที่จะมีขึ้นระหว่างวันที่ 10-11 กรกฎาคม 2563 นี้ โดยระบุว่า การประชุมดังกล่าวมีความสำคัญอย่างมาก ที่บรรดาผู้เชี่ยวชาญ นักเคลื่อนไหว และหลายฝ่ายที่เกี่ยวข้องกับด้านแวดวงการศึกษา จะมารวมตัวกันแลกเปลี่ยนความคิดเห็นและพิจารณาหารือแนวทางในการยกระดับปฎิรูประบบการศึกษาทั่วโลก ให้มีความเสมอภาคเท่าเทียมทั่วถึงทุกคน ตามเป้าหมายการพัฒนาอย่างยั่งยืน ที่นานาประเทศได้ร่วมลงนามข้อตกลงร่วมกันเมื่อ 30 ปีที่แล้ว สำหรับความพิเศษของการประชุมในครั้งนี้ก็คือการเปลี่ยนผ่านกรอบแนวคิดทางการศึกษา จาก Education for All ไปสู่ All for Education เพื่อให้สอดรับสอดคล้องกับบริบททางสังคมที่เปลี่ยนแปลงไป และมีความละเอียดซับซ้อนมากยิ่งขึ้น

...

"ช่วง 30 ปีที่ผ่านมา สภาพเศรษฐกิจและสังคมโลก มีการเปลี่ยนแปลงอย่างมาก ทำให้มีประเด็นปัญหาเพิ่มมากขึ้น เช่น การเปลี่ยนแปลงด้านสภาพภูมิอากาศ ปัญหาผู้อพยพลี้ภัย ปัญหาขัดแย้งตามแนวชายแดน ปัญหาจำนวนประชากรที่ขยายตัว อย่างรวดเร็ว วิกฤตความมั่นคงทางอาหารและน้ำ และล่าสุด คือวิกฤตการระบาดของไวรัส COVID-19 ปัจจัยที่กล่าวมาข้างต้นล้วนมีความเชื่อมโยงที่จะส่งผลกระทบต่อการเข้าถึงการศึกษาของคนทุกเพศทุกวัยทั่วโลก ดังนั้นทาง UNESCO พร้อมด้วยความเห็นชอบจากทุกภาคส่วนที่เกี่ยวข้อง จึงเห็นความสำคัญของการเปลี่ยนกรอบแนวคิดเพื่อให้เหมาะสมกับการเปลี่ยนแปลงทางเศรษฐกิจและสังคมโลกที่เกิดขึ้น” ผู้อำนวยการ UNESCO ประจำประเทศไทย กล่าว

นายชิเงรุ กล่าวว่า สำหรับความแตกต่างของการเปลี่ยนผ่านจาก Education for All ไปสู่ All for Education ประกอบด้วย 2 ส่วนหลักๆ ประการแรกคือการเปลี่ยนจากการมุ่งเน้นการมอบการศึกษาไปสู่การคำนึงถึงความต้องการของผู้เรียนให้มากขึ้น ทำให้ความหมายของการศึกษา หมายรวมถึง "All" หรือ ทุกฝ่ายอย่างแท้จริง และ ทำให้ All for Education ได้รวมเอาความคิดเรื่องความยืดหยุ่นและความเสมอภาค เข้ามาสู่ระบบการศึกษาได้อย่างแท้จริง ส่วนความแตกต่างประการที่สองก็คือ All for Education ยังเป็นการเรียกร้องให้ระบบการศึกษา มีเนื้อหาที่ครอบคลุมและแข็งแกร่งมากขึ้น ภายใต้ความร่วมมือจากทุกภาคส่วนของสังคมในการดึงเอาทรัพยากรทั้งหมดที่มีอยู่ ไม่ว่าจะเป็นบุคลากร และเงินทุน มาประยุกต์ใช้ให้เกิดประโยชน์สูงสุดเพื่อการศึกษา

"ในมุมมองของผม คำว่า "All" ใน Education for All (EFA) หมายถึง คนทุกคน ขณะที่ "All" ใน All for Education (AFE) หมายรวมถึง ทรัพยากรทั้งหมดที่มี สำหรับระบบการศึกษาทั่วโลกในห้วงเวลานี้ กำลังเผชิญหน้ากับความท้าทายใหม่จากการระบาดของไวรัส COVID-19 ซึ่งกระทบต่อวงการการศึกษาอย่างรุนแรง เพราะการระบาดทำให้หลายประเทศทั่วโลกต้องปิดโรงเรียน มีเด็กนักเรียนหลายล้านคนต้องตกอยู่ในสภาพโดนให้ออกจากโรงเรียน กลายเป็นความเสี่ยงที่จะกระเทือนต่อความเสมอภาคทางการศึกษา และส่งผลลบต่อแนวคิด All for Education ได้ สิ่งสำคัญที่สุดก็คือการปรับเปลี่ยนแนวคิดมุมมองที่มีต่อระบบการศึกษา ด้วยการหันมาร่วมมือสนับสนุนส่งเสริมซึ่งกันและกัน ในการคิดและลงมือทำเพื่อเปลี่ยนแปลงระบบการศึกษาที่มีอยู่ให้มีความยืดหยุ่นพอที่จะทำให้การเดินหน้าศึกษาหาความรู้มีความต่อเนื่องกับตัวผู้เรียนทุกคน ในทุกเงื่อนไขบริบทแวดล้อม" ผู้อำนวยการ UNESCO ประจำประเทศไทย กล่าว

นายชิเงรุ กล่าวว่า ขอแสดงความชื่นชมกองทุนเพื่อความเสมอภาคทางการศึกษา (กสศ.) ของไทย ถึงความกระตือรือล้นในการจัดงานดังกล่าว ในฐานะเจ้าภาพภายใต้ความร่วมมือกับหลายฝ่าย เพราะนับเป็นการส่งสัญญาณอันดีต่อความพร้อมที่จะมีส่วนร่วมในการปฎิรูปการศึกษาเพื่อลดความเหลื่อมล้ำและเพิ่มความเสมอภาคของประเทศไทย

ยูเนสโก,UNESCO,กสศ.,ลดเหลื่อมล้ำ,ปฏิรูประบบการศึกษา,COVID-19,โควิด-19