ศูนย์วิทยาศาสตร์ฮาลาล จุฬาฯ เตือน "หลอกขายเนื้อหมู ปลอมเป็นเนื้อวัว" เกิดขึ้นแล้ว ระบาดทั่วไทย หลังพบถี่ขึ้น โดยผู้บริโภคไม่รู้จึงส่งมาให้ตรวจ real-time PCR จนพบว่าเป็นเนื้อหมูล้วน ถือเป็นการหลอกลวงผู้บริโภคอย่างชัดเจน วอน สคบ. และ ก.พาณิชย์ ช่วยดูแลผู้บริโภค ตรวจสอบและดำเนินการทางกฎหมายด้วย

ศูนย์วิทยาศาสตร์ฮาลาล จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย นำโดย รองศาสตราจารย์ ดร.วินัย ดะห์ลัน ผู้อำนวยการศูนย์วิทยาศาสตร์ฮาลาล จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย พร้อมด้วย รองศาสตราจารย์ ดร.ปกรณ์ ปรียากร ผู้อำนวยการสถาบันมาตรฐานฮาลาลแห่งประเทศไทย, นายสมศักดิ์ เมดาน ผู้แทนเลขาธิการคณะกรรมการกลางอิสลามแห่งประเทศไทย และมูลนิธิเพื่อศูนย์กลางอิสลามแห่งประเทศไท ยแถลงข่าวประเด็นร้อนที่สั่นสะเทือนชาวมุสลิมกันทั่วประเทศ กับเรื่อง "หลอกขายเนื้อหมูปลอมเป็นเนื้อวัว" ซึ่งหลอกขายระบาดหลายพื้นที่ทั้งในกรุงเทพฯ และปริมณฑล รวมถึงในพื้นที่ต่างจังหวัดอีกหลายจังหวัด ซึ่งทราบแหล่งที่มา และกำลังรวบรวมหลักฐานเพื่อฟ้องร้องดำเนินคดีเอาผิด

เมื่อวันที่ 3 ก.ค.63 รศ.ดร.วินัย ดะห์ลัน ผู้อำนวยการศูนย์วิทยาศาสตร์ฮาลาล จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย กล่าวว่า จากกรณีที่มีข่าวแพร่สะพัดทั้งในสื่อโซเชียล รวมถึงมีผู้แจ้งเข้ามาที่ศูนย์วิทยาศาสตร์ฮาลาลฯ ว่าในขณะนี้กำลังมีประเด็นร้อนที่สั่นสะเทือนชาวมุสลิมกับการที่มีผู้ประกอบการบางรายนำเนื้อที่อ้างว่าเป็นเนื้อวัวมาเสนอขายในราคาถูก ขายให้กับผู้บริโภคตามบ้านโดยตรงบ้าง รวมถึงขายให้กับเขียงมุสลิมในตลาดบางแห่งบ้าง ซึ่งจากการตรวจสอบพบว่าเรื่องนี้เกิดขึ้นมาสักสองสามเดือนแล้ว และเริ่มถี่ขึ้นในระยะหลัง โดยผู้บริโภคนั้นไม่ทราบและได้รับประทานเข้าไป ซึ่งรู้สึกว่าเนื้อมีความผิดปกติในรสชาติและเนื้อสัมผัส จึงได้ส่งเนื้อต้องสงสัยมาตรวจที่ห้องปฏิบัติการนิติวิทยาศาสตร์ฮาลาล ของศูนย์วิทยาศาสตร์ฮาลาล จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย โดยผลการตรวจวิเคราะห์ตัวอย่างเนื้อสองสามรายที่ส่งเข้ามาโดยผู้บริโภค และองค์กรศาสนาอิสลามบางองค์กร ยืนยันว่าเนื้อวัวที่ได้รับมานั้นจากการตรวจ real-time PCR พบว่าเป็นเนื้อสุกรหรือเนื้อหมูล้วน ซึ่งสิ่งที่ทำให้เนื้อมีสีแดงดูคล้ายเนื้อวัวจะเป็นผลมาจากการใช้เนื้อสุกรแก่ หรือทาด้วยเลือด หรือการใช้สารเร่งเนื้อแดงหรือด้วยวิธีอื่น

...


รศ.ดร.วินัย กล่าวว่า ผลปรากฏว่าเนื้อต้องสงสัยจำนวน 8 ตัวอย่างที่ส่งเข้ามาพบว่า เป็นเนื้อหมูชุบเลือดวัว จำนวน 7 ตัวอย่าง ในจำนวน 7 ตัวอย่างที่ตรวจพบว่าเป็นเนื้อหมู เป็นตัวอย่างเนื้อจาก บึงกุ่ม 2 ตัวอย่าง, บางกะปิ 1 ตัวอย่าง, หนองจอก 1 ตัวอย่าง และประเวศ 1 ตัวอย่าง โดยลักษณะกายภาพภายนอกของเนื้อมีสีแดงเข้ม คล้ายเนื้อวัวมาก สังเกตด้วยสายตาไม่สามารถทราบได้ว่าเป็นเนื้อชนิดใดแต่ผลการตรวจสารพันธุกรรมหรือดีเอ็นเอพบว่าเป็นเนื้อหมู


ทั้งนี้ จากหลักฐานเราได้พบว่ามีผู้ค้าเนื้ออิสระบางรายนำเนื้อสุกรที่อ้างว่าเป็นเนื้อวัวมาเร่ขายกับผู้บริโภคโดยตรง และมีบางส่วนได้ทำการขายผ่านช่องทางออนไลน์ ซึ่งในกรณีนี้ถือเป็นการหลอกลวงผู้บริโภคอย่างชัดเจน ส่วนจะฟ้องร้องเอาความผิดได้หรือไม่ ยังต้องผ่านกระบวนการสืบสวน ซึ่งในช่วงเวลาตอนนี้อันดับแรกสุดคือเตือนให้ผู้บริโภคใช้ความระมัดระวังอย่าหลงไปกับเนื้อวัวราคาถูกซึ่งอาจจะโดนหลอกลวงได้ ซึ่งผู้บริโภคที่ไม่มั่นใจว่าเนื้อที่ตนเองซื้อมานั้นเป็นเนื้อสุกรหรือเนื้อวัวสามารถส่งมาตรวจสอบได้ที่ศูนย์วิทยาศาสตร์ฮาลาล จุฬาฯ ฟรีไม่มีค่าใช้จ่ายใดๆ ส่วนผู้ประกอบการจะเสียค่าดำเนินการตรวจสอบเพียง 1,000 บาทเท่านั้น (จากราคาปกติ 5,000 บาท)

"ปัจจุบันมีเขียงเนื้อเพียงไม่กี่แห่งที่ได้ตรารับรองฮาลาล ขณะที่ส่วนใหญ่เป็นลักษณะซื้อขายกันด้วยความไว้วางใจ ทำให้สายส่งหรือพ่อค้าบางส่วนประสบช่องนำเนื้อหมูมาสวมเป็นเนื้อวัวโดยที่หน้าเขียงไม่อาจทราบได้ และขายเนื้อหมูปลอมเป็นเนื้อวัวโดยไม่รู้ตัว คาดว่า จุดประสงค์ของการหลอกลวง คือ "ราคา" ที่ต่ำกว่าราคาเนื้อวัวในตลาด แต่ขายได้สูงกว่าราคาเนื้อหมูปกติ ซึ่งผลของการหลอกลวงในครั้งนี้ไม่ได้ตกแก่ชาวมุสลิมเพียงเท่านั้น ผลที่ตามมาถือว่ายิ่งใหญ่กว่าที่คิด คือส่งผลทางด้านการค้า เศรษฐกิจต่อเนื่องกันเป็นระบบ พร้อมกันนี้ก็ขอฝากผ่านไปทาง สคบ. และกระทรวงพาณิชย์ช่วยดูแลผู้บริโภค ตรวจสอบและดำเนินการทางกฎหมายให้เป็นที่เยี่ยงอย่างให้เร็วที่สุดด้วย" รศ.ดร.วินัย ดะห์ลัน กล่าว.