ประธานศาลฎีกา ออกคำแนะนำ เป็นแนวทางศาลทั่วประเทศ ลดวงเงินประกันสำหรับการปล่อยชั่วคราว ผู้ต้องหา หรือจำเลย บรรเทาความเดือดร้อน ปชช.-คู่ความในสถานการณ์โรคโควิด-19 ระบาด
เมื่อวันที่ 1 ก.ค.63 นายสุริยัณห์ หงษ์วิไล โฆษกศาลยุติธรรม เปิดเผยว่า สืบเนื่องจากสถานการณ์การแพร่ระบาดของโรคติดต่อเชื้อไวรัส COVID-19 ที่ได้ส่งผลกระทบต่อสภาพเศรษฐกิจในวงกว้าง แลประชาชนจำนวนมากต้องว่างงานขาดรายได้ นายไสลเกษ วัฒนพันธุ์ ประธานศาลฎีกา เห็นว่าการพิจารณาอนุญาตให้ปล่อยชั่วคราวผู้ต้องหาหรือจำเลย ควรคำนึงถึงผลกระทบจากสถานการณ์ดังกล่าว ล่าสุดจึงได้ลงนามออกประกาศ “คำแนะนำประธานศาลฎีกาเกี่ยวกับแนวทางสำหรับการปล่อยชั่วคราวผู้ต้องหาหรือจำเลย ในสถานการณ์แพร่ระบาดของโรคติดเชื้อไวรัสโคโรนา 2019 พ.ศ. 2563” ซึ่งหลักสำคัญของการแนะนำ มีดังนี้
1. ดุลพินิจการพิจารณาอนุญาตปล่อยชั่วคราว (การให้ประกันตัว) ยังคงเป็นดุลพินิจของผู้พิพากษาโดยแท้
2. คดีลหุโทษ (ความผิดที่มีโทษจำคุกไม่เกิน 1 เดือน หรือปรับไม่เกิน 10,000 บาท หรือทั้งจำทั้งปรับ) คดีที่มีโทษปรับสถานเดียว หรือคดีที่มีโทษจำคุกอย่างสูงไม่เกิน 10 ปี ศาลอาจอนุญาตให้ปล่อยชั่วคราวโดยไม่มีประกันด้วยการให้สาบานตัว หรือปฏิญาณตนตามที่กฎหมายกำหนด
3. คดีที่มีโทษจำคุกอย่างสูงเกินกว่า 10 ปี ศาลอนุญาตให้ปล่อยชั่วคราวได้แต่ต้องมีประกัน ซึ่งการเรียกประกันจะทำได้เมื่อเป็นกรณีจำต้องเรียกหลักประกัน และจะต้องระบุถึงความจำเป็นในการเรียกหลักประกันไว้ในคำสั่งโดยชัดเจน
4. ส่งเสริมให้มีการกำหนดเงื่อนไขเกี่ยวกับที่อยู่ หรือเงื่อนไขอื่นใดประกอบการอนุญาตให้ปล่อยชั่วคราว, ใช้อุปกรณ์อิเล็กทรอนิกส์ในการตรวจสอบหรือจำกัดการเดินทาง หรือแต่งตั้งผู้กำกับดูแลแทนการเรียกหลักประกัน
...
5. ปรับปรุงวงเงินประกันหรือหลักประกันกรณีศาลอนุญาตให้ปล่อยชั่วคราวโดยมีประกัน หรือมีประกันและหลักประกัน (หลักทรัพย์) โดยลดวงเงินลงกึ่งหนึ่งจากวงเงินที่กำหนดในข้อบังคับของประธานศาลฎีกาว่าด้วยหลักเกณฑ์ วิธีการและเงื่อนไขเกี่ยวกับการเรียกประกันหรือหลักประกันในการปล่อยชั่วคราวหาหรือจำเลยในคดีศาลอาญา พ.ศ. 2548
6. กรณีผู้ต้องหาหรือจำเลยเป็นผู้กระทำความผิดซ้ำ หรือเป็นผู้ไม่มีที่อยู่ถาวรในประเทศไทย ถือเป็นพฤติการณ์พิเศษในคดีที่อาจใช้วงเงินที่สูงกว่าได้
โดย บัญชีมาตรฐานวงเงินประกัน สำหรับแนวทางการปล่อยชั่วคราวผู้ต้องหาหรือจำเลย มีรายละเอียด ดังนี้.