เกิดคำถามขึ้นมาทันทีว่า กระทรวงกลาโหม มีความเกี่ยวข้องอย่างไร? ในการควบคุมการแพร่ระบาดของเชื้อไวรัสโควิด-19 เมื่อทำหนังสือไปถึง กสทช. ขอให้ผู้ให้บริการมือถือ ส่งข้อมูลตำแหน่งสัญญาณมือถือย้อนหลัง 14 วัน ของผู้ติดเชื้อรายใหม่ รวมถึงข้อมูลเบอร์โทรศัพท์ของทุกคนที่อยู่บริเวณเดียวกันกับผู้ติดเชื้อ เพื่อส่งเอสเอ็มเอสแจ้งเตือนและเพื่อดำเนินการสอบสวนโรค โดยอ้างอำนาจตาม พ.ร.บ.ควบคุมโรค และ พ.ร.ก.ฉุกเฉิน
- ประชาชนทั่วไปเกือบไม่ล่วงรู้ในเรื่องนี้ หาก น.ส.สฤณี อาชวานันทกุล นักวิชาการอิสระด้านเศรษฐศาสตร์ ในฐานะกรรมการเครือข่ายพลเมืองเน็ต ไม่ออกมาเผยแพร่เอกสารฉบับนี้ เพราะเป็นการขอข้อมูลพิกัดผู้ติดเชื้อทุกๆ 10 นาที ย้อนหลัง 14 วัน และข้อมูลผู้เข้าพื้นที่เสียง เป็นหมายเลขโทรศัพท์ทุกหมายเลขที่เข้าในกรอบพื้นที่เสี่ยง ในช่วงเวลาที่กำหนด และกลุ่มเสี่ยงสูงและต้องกักตัว เป็นข้อมูลรายชั่วโมงย้อนหลัง 24 ชั่วโมง
- พร้อมการตั้งข้อกังขาสงสัยมากมาย เพราะกระบวนการสอบสวนโรค ควรเป็นเรื่องของกรมควบคุมโรค และเอกสารนี้มีมาตั้งแต่เดือนเมษายน 2563 แล้วทำไมไม่เคยเปิดเผยกระบวนการนี้ให้ประชาชนรับรู้ ในการจะใช้ข้อมูลส่วนบุคคล อีกทั้งปัจจุบันมีแอปพลิเคชัน “ไทยชนะ” อยู่แล้ว ทำให้มองว่า โครงการนี้มีการขอข้อมูลเบอร์และสัญญาณมือถือมากเกินต่อการสอบสวนโรค มีความละเอียดและครอบคลุมกว่าข้อมูล QR code ที่ได้จาก "ไทยชนะ" หลายเท่า แล้วทำไมต้องมี "ไทยชนะ" อีก เพราะไม่ได้โปร่งใสแม้แต่น้อย ไม่รู้ว่าใครใช้ข้อมูลเหล่านั้นไปทำอะไร
- เมื่อเกิดคำถามขึ้น ทำให้ พล.อ.รักศักดิ์ โรจน์พิมพ์พันธุ์ ผู้อำนวยการสำนักนโยบายและแผน (สนผ.) กระทรวงกลาโหม ออกมาชี้แจงเป็นความหวังดีของกระทรวงกลาโหม เพื่อเป็นประโยชน์ต่อการสอบสวนโรค เนื่องจากที่ผ่านมากระทรวงกลาโหมได้มีการพูดคุยในที่ประชุมวงเล็ก โดยเรียกฝ่ายทางเทคนิคของกระทรวงกลาโหมมาสอบถามว่าสามารถเป็นไปได้หรือไม่ที่จะขอติดตามสัญญาณโทรศัพท์ของผู้ติดเชื้อโควิด-19 และผู้ใกล้ชิดทั้งหมด
- พล.อ.รักศักดิ์ ได้ยกตัวอย่างกรณี สนามมวย ไม่สามารถติดตามตัวผู้ชมได้ทั้งหมด หากรู้ข้อมูลสัญญาณโทรศัพท์ของทั้ง 2,800 คน ที่อยู่ในสนามมวย จะสามารถส่งข้อความไปแจ้งเตือนได้ทันที และโปรแกรมดังกล่าวยังไม่ได้บังคับใช้ เพราะเพิ่งทำเสร็จเมื่อ 15 วันที่ผ่านมา ขณะนี้อยู่ระหว่างการทดสอบเพื่อเตรียมความพร้อมหากมีการระบาดของโรคในรอบสอง สมมติมีผู้ติดเชื้อเดินทางโดยรถจักรยานยนต์รับจ้างไปขึ้นรถสองแถว จะมีการส่งข้อความไปบอกบุคคลที่เกี่ยวข้องให้เข้าสู่กระบวนการเฝ้าระวัง
...
น.ส.สฤณี กล่าวกับ "ทีมข่าวเจาะประเด็นไทยรัฐออนไลน์" ว่า โปรแกรมนี้เพิ่งทำเสร็จแค่ 2 วัน ก่อนเปิดตัว "ไทยชนะ" จึงเกิดคำถามแล้วทำไมต้องมี "ไทยชนะ" อีก และมีความจำเป็นอะไร เนื่องจากเอกสารดังกล่าวระบุชัดเจน โปรแกรมนี้เป็นการขอข้อมูลตำแหน่งสัญญาณมือถือจากค่ายมือถือ ซึ่งที่ผ่านมาทำไมไม่บอกประชาชน หากบอกไปเชื่อว่าทุกคนต้องให้ความร่วมมืออยู่แล้ว เนื่องจากค่อนข้างมีเหตุมีผลในการควบคุมโรคในการติดตามผู้เข้ามาพื้นที่จุดเสี่ยง มีการยกตัวอย่างกรณีสนามมวยในการติดตามผู้ติดเชื้อมาเข้าสู่กระบวนการสอบสวนโรค ดังนั้นจึงอยากให้ถามประชาชนทั้ง 77 ล้านคน

“การไม่บอกประชาชน ทำให้รู้สึกกังขาคลางแคลงใจ และในสิ่งที่กลาโหมบอกว่าเป็นความหวังดีในการเรียกประชุม แต่ทำไมมีกรมข่าวของทหารเข้ามาเกี่ยวข้อง ทั้งๆ ที่ไม่เกี่ยวข้องกับการสอบสวนโรค คำถามนี้พอๆ กับสิ่งที่ถามกับการใช้ไทยชนะ หากมีการเข้าถึงข้อมูลส่วนบุคคลแล้วจะเป็นอย่างไร อีกทั้ง พ.ร.บ.คุ้มครองข้อมูลส่วนบุคคล ดูเหมือนรีบร้อนเลื่อนออกไป และวันนี้ผ่านมา 2 เดือน สถานการณ์ในไทยดีมาก จากการทำงานของรัฐบาล ทำให้การติดเชื้อในประเทศไม่มีเลย ยกเว้นคนกลับมาจากต่างประเทศ ทำให้มองว่าอาจเป็นการละเมิดล่วงล้ำสิทธิส่วนบุคคล เพราะไม่มีการเปิดเผยตั้งแต่ต้นให้ประชาชนรู้ และทำให้เกิดความไว้วางใจ”

นอกจากนี้ ยอมรับว่าการใช้ "ไทยชนะ" ติดตามสอบสวนโรคไม่มีประสิทธิภาพ แต่ระบบติดตามโรคในต่างประเทศไม่มีการทำโดยพลการ อย่าง สิงคโปร์ มีแอปพลิเคชันติดตามโรค ซึ่งต้องได้รับการยินยอมจากประชาชนในการเข้าถึงข้อมูลในมือถือ ส่งไปยังส่วนกลางเหมือนไทยชนะเพื่อสอบสวนโรค หากประชาชนไม่ได้อยู่ในกลุ่มเสี่ยงสามารถลบได้ทันที ตรงข้ามกับระบบนี้ของไทยเพราะดูจากไทม์ไลน์เกิดก่อนไทยชนะ เหมือนส่อเจตนาอะไรบางอย่าง และในการประชุมมีหน่วยงานข่าวของทหาร หรือไอโอ เข้าร่วมด้วย จึงอยากถามมีอะไรเป็นหลักประกันจะไม่นำข้อมูลไปใช้ และท้ายสุดแล้วอยากให้คณะกรรมการคุ้มครองข้อมูลส่วนบุคคล เข้ามาดูแลในเรื่องนี้.