ในวันที่ 10 มิ.ย.63 นี้ รถไฟฟ้าสายสีทองขบวนแรกจากประเทศจีนจะเดินทางมาถึงประเทศไทย บริษัท กรุงเทพธนาคม จำกัด (เคที) เตรียมพร้อมรับขบวนรถไฟฟ้าลอตแรกซึ่งจะนำไปจอดที่ศูนย์ซ่อมบำรุงที่สถานีกรุงธนบุรี เพื่อเตรียมทดสอบระบบในช่วงเดือนมิถุนายนถึงกันยายน และคาดว่ารถไฟฟ้าสายสีทองจะเปิดให้บริการประชาชนได้ปลายปีนี้

“รถไฟฟ้าสายสีทอง” เป็นโครงการระบบขนส่งมวลชนขนาดรองของ กทม.ที่มอบหมายให้บริษัท กรุงเทพธนาคม จำกัด (เคที) วิสาหกิจของ กทม. เป็นผู้ดำเนินการโครงการ โดยระยะแรก มีเส้นทางจากสถานีกรุงธนบุรี-สถานีสำนักงานเขตคลองสาน จำนวน 3 สถานี ระยะทางประมาณ 1.8 กม. ทั้งนี้ เคทีได้ว่าจ้าง บมจ.อิตาเลียนไทยฯ เป็นผู้ดำเนินงานก่อสร้างงานโยธา งานระบบราง และงานก่อสร้างสถานีในงบประมาณ 1,070 ล้านบาท เริ่มก่อสร้างเมื่อต้นปี 2561

ส่วนการบริหารจัดการเดิมเคทีได้ว่าจ้าง บมจ.ระบบขนส่งมวลชนกรุงเทพ (บีทีเอส) ให้เป็นผู้เดินรถพร้อมจัดหารถไฟฟ้ามาให้บริการ กำหนดสัญญา 30 ปี วงเงินจ้างเดินรถ 13,250 ล้านบาท

...

ทั้งนี้ โครงการรถไฟฟ้าสายสีทองได้รับการสนับสนุนงบประมาณในการก่อสร้างจากบริษัท ไอคอนสยาม จำกัด (ศูนย์การค้าไอคอนสยาม) เป็นจำนวนเงิน 2,080 ล้านบาท โดยบริษัทขอสิทธิสัมปทานในการบริหารพื้นที่และการโฆษณาภายในสถานีเป็นเวลา 30 ปี

กรรมการผู้อำนวยการบริษัท กรุงเทพธนาคม จำกัด (เคที) “มานิต เตชอภิโชค” กล่าวว่า เนื่องจากมีการระบาดของไวรัสโควิด-19 ในช่วงที่ผ่านมา ทำให้การจัดส่งขบวนรถไฟฟ้าสายสีทองต้องเลื่อนจากเดิมคือช่วงเดือนเมษายน 2563 อย่างไรก็ตาม ล่าสุดทางบริษัทผู้ผลิตในจีน ได้จัดส่งขบวนรถไฟฟ้าขบวนแรก (ขบวนละ 2 ตู้โดยสาร) มาแล้ว จะมาถึงไทยในวันที่ 10 มิ.ย.นี้ จากจำนวนที่จัดซื้อทั้งหมด 3 ขบวน ส่วนขบวนที่เหลือจะจัดส่งมาภายหลัง

รถไฟฟ้าดังกล่าวเป็นรุ่น Bombardier Innovia APM 300 ผลิตที่เมืองอู่หู มณฑลอานฮุย จีน เมื่อรถมาถึงและผ่านพิธีการทางศุลกากรแล้ว เคทีจะนำขบวนรถไฟฟ้ายกขึ้นสู่โรงจอดและซ่อมบำรุงที่สถานีกรุงธนบุรี เพื่อทดสอบระบบในช่วงเดือน มิ.ย.ถึง ก.ย.63 คาดว่าจะเปิดให้บริการช่วงปลายปีนี้

รถไฟฟ้ารุ่น Bombardier Innovia APM 300 มีความพิเศษคือ เป็นรถไฟฟ้ารูปแบบไร้คนขับ ขับเคลื่อนอัตโนมัติ โดยใช้รางนำทาง มีผิวสัมผัสระหว่างล้อและทางวิ่งเป็นยาง ซึ่งจะทำให้เกิดความนุ่มนวลและก่อให้เกิดเสียงรบกวนต่ำ ความเร็วการทำงานสูงสุดที่ 80 กิโลเมตร/ชั่วโมง

ทั้งนี้ ขบวนรถไฟฟ้าที่ใช้ในระบบ ระยะแรกมีทั้งหมด 3 ขบวน ขบวนละ 2 ตู้ ใช้รับส่งผู้โดยสารจำนวน 2 ขบวน และสำรองไว้ในระบบ 1 ขบวน ความจุผู้โดยสาร 137 คน/ขบวน สามารถรองรับผู้โดยสารได้ 4,200 คนต่อชั่วโมงต่อทิศทาง รถไฟฟ้ามีความกว้าง 2.8 เมตร ความยาว 12.75 เมตร ความสูง 3.5 เมตร ประตูมีความกว้าง 1.9 เมตร ความสูงของพื้นรถ 1.1 เมตร น้ำหนัก 16,300 กิโลกรัม

สำหรับความคืบหน้างานก่อสร้างโรงจอดและซ่อมบำรุง รวมถึงสถานีกรุงธนบุรี (G1) สถานีเจริญนคร (G2) และสถานีคลองสาน (G3) ความก้าวหน้าภาพรวม 88% แบ่งออกเป็นความก้าวหน้างานโยธา 93% และความก้าวหน้างานระบบการเดินรถ 81%

ส่วนอัตราค่าโดยสารรถไฟฟ้าสายสีทอง อยู่ระหว่างการศึกษาและพิจารณาอัตราที่เหมาะสม.