ตลาดนัดจตุจักร กลับมาเปิด ตี 5-6 โมงเย็น วันแรกหลังหยุดช่วงโควิด-19 โดย กทม.งดเก็บค่าเช่า 3 เดือน แนะผู้ค้า-ประชาชนปฏิบัติตามมาตรการ เว้นระยะห่าง 1-2 ม. จำกัดคนเข้าร้าน มีฉากกั้นโต๊ะกินข้าว

เมื่อวันที่ 9 พ.ค.63 ที่ที่ตลาดนัดจตุจักร นางวัลยา วัฒนรัตน์ รองปลัด กทม. ลงพื้นที่ตรวจมาตรการป้องกันการแพร่ระบาดของโรคติดเชื้อไวรัสโคโรนา 2019 หรือ โควิด-19 โดยมี นายอาฤทธิ์ ศรีทอง ผู้อำนวยการเขตจตุจักร พ.ต.อ.กฤษฎางค์ จิตตรีพล ผกก.สน.บางซื่อ ร.ท.ยุทธนา แต่งจันทร์ หัวหน้าชุดปฏิบัติการ กอ.รมน.กทม. คณะผู้บริหารและเจ้าหน้าที่สำนักงานตลาด กทม. คณะกรรมการบริหารสำนักงานตลาด กทม. และผู้เกี่ยวข้อง ร่วมลงพื้นที่

...

นางวัลยา กล่าวว่า วันนี้เป็นวันแรกที่ตลาดนัดจตุจักรกลับมาเปิดให้บริการหลังจากหยุดให้บริการชั่วคราวตั้งแต่วันที่ 22 มี.ค.2563 เพื่อควบคุมและป้องกันการแพร่ระบาดของเชื้อไวรัสโคโรนา 2019 (โควิด-19) ปัจจุบันตลาดนัดจตุจักรมีผู้ค้าทั้งหมด 10,334 ราย ในช่วงแรกของการเปิดให้บริการ ตลาดนัดเสาร์-อาทิตย์ จะเปิดให้บริการเวลา 05.00-18.00 น. ส่วนพื้นที่ผู้ค้าลานเร่บริเวณหอนาฬิกาและตลาดกลางคืนยังไม่เปิดให้บริการเนื่องจากติดเวลาเคอร์ฟิว

รองปลัด กทม.กล่าวต่อว่า สำนักงานตลาดกรุงเทพมหานคร (ตลาดนัดจตุจักร) ได้จัดเตรียมมาตรการป้องกันการแพร่ระบาดของเชื้อไวรัสโคโรนา (โควิด-19) ในตลาดนัดจตุจักร ดังนี้ กำหนดทางเข้า-ออก จุดคัดกรอง จำนวน 6 จุด ได้แก่ 1. บริเวณประตู 1 ด้านถนนกำแพงเพชร 2 2. บริเวณประตู 2 ด้านถนนกำแพงเพชร 3 3.บริเวณประตู 3 ด้านถนนพหลโยธิน 4.บริเวณประตูทางเข้า-ออก สถานีรถไฟฟ้าใต้ดิน (รฟม.) 5.บริเวณประตูทางเข้า-ออก ติดห้างมิกซ์ และ 6.บริเวณประตูทางเข้า-ออก ติดตลาดจตุจักรพลาซ่า (เจ เจมอลล์) โดยอนุญาตให้รถเข้า-ออกได้ทางประตู 1-3 เท่านั้น ส่วนคนเดินเท้าเข้า-ออกได้ทั้ง 6 ประตู ทั้งนี้ บริเวณทางเข้า-ออก ทั้ง 6 จุด มีการตรวจวัดอุณหภูมิร่างกาย จัดแอลกอฮอล์เจลล้างมือฆ่าเชื้อโรค พร้อมอ่างล้างมือครบทุกจุด

"ผู้ค้าและประชาชนที่มาใช้บริการ ต้องสวมใส่หน้ากากอนามัยหรือหน้ากากผ้าทุกคน รวมถึงมีการกวดขัน การทำความสะอาดห้องสุขาสาธารณะ จำนวน 8 แห่ง ภายในตลาดนัดทุกๆ 2 ชั่วโมง ตามที่กำหนดไว้ สำหรับผู้ค้าประเภทอาหาร ต้องปฏิบัติตามมาตรการ ที่กำหนดไว้ เช่น จัดหาฉากพลาสติกปิดกั้นอาหารปรุงสำเร็จ หรือภาชนะมีฝาปิด และจัดโต๊ะนั่งรับประทานพร้อมมีฉากกั้น เว้นระยะห่าง 1-2 เมตร สำหรับที่นั่ง และมีการกำหนดจำนวนบุคคลเข้าภายในร้าน อาทิ ร้านค้าขนาดเล็ก ให้เข้าครั้งละ 5 คน ร้านค้าขนาดใหญ่ เข้าครั้งละไม่เกิน 10 คน เป็นต้น ซึ่งหากมีการตรวจพบผู้ค้ากระทำการฝ่าฝืนจะมีการตักเตือนและทำหนังสือแจ้งเตือนไว้ และหากยังพบกระทำผิดซ้ำก็จะทำการปิดร้านค้าดังกล่าวทันที" นางวัลยา  กล่าว

...

รองปลัด กทม.กล่าวอีกว่า นอกจากนี้ ยังได้มีมาตรการสำหรับผู้ให้บริการ (ผู้ค้า) ประกอบด้วย 1. ผู้ค้าในตลาดนัดจตุจักรทุกคนต้องรวบผม ใส่หมวก ใส่ถุงมือ ใส่หน้ากากผ้า หรือหน้ากากอนามัย อย่างถูกวิธีโดยปิดทั้งจมูกและปาก 2. หากมีอาการไข้ ไอ จาม มีน้ำมูก หรือเหนื่อยหอบให้หยุดขายและไปพบแพทย์ทันที 3. กรณีขายอาหารปรุงสำเร็จ ให้ใส่ถุง หรือภาชนะมีฝาปิด หรือจัดทำอุปกรณ์ครอบหรือกันอาหาร 4. กรณีขายอาหารสด ประเภทเนื้อสัตว์ อาหารทะเล ไม่ให้ลูกค้าสัมผัสอาหารสดนั้นโดยตรง 5. ทำความสะอาดแผงขายสินค้าด้วยผงซักฟอกหรือน้ำยาทำความสะอาด ฆ่าเชื้อ เช่น โซเดียมไฮโปคลอไรท์ (น้ำยาฟอกขาว) 0.1% ทุกวันก่อนปิดแผงค้า และ 6.เจ้าของต้องกำกับกิจการให้เป็นไปตามมาตรการที่กำหนด อีกทั้งได้แนะนำผู้ให้บริการ (ผู้ค้า) ระมัดระวัง ไม่ให้มือสัมผัสใบหน้า ตา จมูก ปาก และหมั่นลงมือด้วยสบู่ หรือเจลแอลกอฮอล์ 70% สำหรับทำความสะอาดมือก่อน-หลังเข้ามาใช้บริการตลาด และหลังจากการใช้ห้องน้ำ และห้องสุขาสาธารณะ

...

นางวัลยา กล่าวด้วยว่า เพื่อเป็นการช่วยเหลือและบรรเทาความเดือดร้อนจากสถานการณ์การแพร่ระบาดของเชื้อไวรัสโคโรนา (โควิด-19) ให้กับผู้ค้า เบื้องต้น กทม.จะงดเก็บค่าเช่าจากผู้ค้าในตลาดนัดจตุจักรเป็นเวลา 3 เดือน ตั้งแต่ เดือน มี.ค.-พ.ค. 63 ซึ่งกทม.ได้ทำหนังสือถึงการรถไฟแห่งประเทศไทย (รฟท.) เพื่อขอให้รฟท.ยกเว้นการเก็บค่าเช่าพื้นที่บริเวณตลาดนัดจตุจักร แต่ขณะนี้ยังไม่ได้รับการตอบกลับจาก รฟท.อย่างไรก็ตาม กทม.ขอความร่วมมือผู้ค้า และประชาชนที่จะมาเลือกซื้อสินค้าที่ตลาดนัดจตุจักรได้ปฏิบัติตามมาตรการและข้อกำหนดต่างๆ เพื่อความปลอดภัยจากเชื้อโควิด-19 เพราะหากตรวจพบมีการฝ่าฝืนหรือพบการติดเชื้อในพื้นที่ตลาดนัดจตุจักรอาจจะต้องมีการพิจารณาถึงการปิดพื้นที่หรือปิดตลาดเพื่อป้องกันการแพร่ระบาดของเชื้อดังกล่าวต่อไป.