ภาพจากกล้องของ หอดูดาวเฉลิมพระเกียรติ 7 รอบพระชนมพรรษา นครราชสีมา

สถาบันวิจัยดาราศาสตร์แห่งชาติ เผยภาพของ ดวงจันทร์เต็มดวงใกล้โลกที่สุดในรอบปี หรือ ซุปเปอร์ฟูลมูน เมื่อคืนวันที่ 8 เม.ย.63 ที่ผ่านมา โดยคนไทยให้ความสนใจโพสต์รูปดวงจันทร์ผ่านโซเชียลกันคึกคัก

นายศุภฤกษ์ คฤหานนท์ หัวหน้างานบริการวิชาการทางดาราศาสตร์ สถาบันวิจัยดาราศาสตร์แห่งชาติ (องค์การมหาชน) หรือ สดร. กล่าวว่า แม้ในช่วงนี้จะอยู่ในช่วงเฝ้าระวังการแพร่ระบาดของโรคติดเชื้อไวรัสโคโรนา 2019 หรือ โควิด-19 รณรงค์ให้ประชาชนเว้นระยะห่างทางสังคม และอยู่บ้าน หยุดเชื้อ เพื่อชาติ แต่ก็มีปรากฏการณ์ทางดาราศาสตร์มาช่วยให้เกิดกิจกรรมพิเศษ บรรเทาความตึงเครียด จากสถานการณ์ปัจจุบัน เช่นในคืนนี้เกิดปรากฏการณ์ดวงจันทร์เต็มดวงใกล้โลกที่สุดในรอบปี มีชาวไทยให้ความสนใจติดตามชมปรากฏการณ์ดาราศาสตร์ในครั้งนี้กันเป็นจำนวนมาก สามารถรับชมได้ทั่วประเทศ ทัศนวิสัยท้องฟ้าปลอดโปร่ง มองเห็นได้ด้วยตาเปล่า แม้ว่าช่วงนี้จะไม่สามารถออกมาดูดวงจันทร์ด้วยกันได้อย่างทุกครั้ง แต่ก็ยังพากันบันทึกภาพเผยแพร่ลงโซเชียลมีเดียกันอย่างคึกคัก สร้างสีสันให้โลกออนไลน์เต็มไปด้วยภาพดวงจันทร์เต็มดวงหลากหลายแบบ ส่งพลังบวกให้กันผ่านดวงจันทร์ในค่ำคืนนี้

...

สำหรับปรากฏการณ์ “ดวงจันทร์เต็มดวงใกล้โลกที่สุดในรอบปี” หรือ ซุปเปอร์ฟูลมูน (Super Full Moon) ห่างจากโลก 357,022 กิโลเมตร หากเปรียบเทียบกับดวงจันทร์เต็มดวงช่วงเวลาปกติ จะมีขนาดใหญ่กว่า 7% และสว่างกว่า 16% สังเกตได้ด้วยตาเปล่าทางทิศตะวันออก ตั้งแต่เวลา 17:52 น. เป็นต้นไป จนถึงรุ่งเช้า โดยดวงจันทร์จะโคจรรอบโลกเป็นรูปวงรี 1 รอบ ใช้ระยะเวลาประมาณ 1 เดือน ดังนั้น ในแต่ละเดือนจะมีตำแหน่งที่ดวงจันทร์ใกล้โลกที่สุดเรียกว่า เปริจี (Perigee) มีระยะทางเฉลี่ย 357,000 กิโลเมตร และตำแหน่งที่ไกลโลกที่สุดเรียกว่า อะโปจี (Apogee) มีระยะทางเฉลี่ยประมาณ 406,000 กิโลเมตร การที่ผู้คนบนโลกมองเห็นดวงจันทร์มีขนาดปรากฏใหญ่กว่าปกติเล็กน้อยในคืนที่ดวงจันทร์ใกล้โลกที่สุดในรอบปี นับเป็นเหตุการณ์ปกติที่สามารถอธิบายได้ตามหลักการทางวิทยาศาสตร์

สำหรับปรากฏการณ์ดวงจันทร์เต็มดวงใกล้โลกที่สุดในรอบปีครั้งต่อไป ตรงกับวันที่ 26 พฤษภาคม 2564 ระยะห่างประมาณ 357,454 กิโลเมตร ผู้สนใจสามารถติดตามข้อมูลปรากฏการณ์ดาราศาสตร์ที่น่าสนใจเพิ่มเติมได้ทางเฟซบุ๊ก สถาบันวิจัยดาราศาสตร์แห่งชาติ.