เอกอัครราชทูตสหรัฐฯ ประจำประเทศไทยชี้การต่อสู้กับโรคโควิด-19 เป็นความท้าทายล่าสุดของความร่วมมือด้านสาธารณสุขของสหรัฐฯ และไทย

นายไมเคิล จอร์จ ดีซอมบรี เอกอัครราชทูตสหรัฐอเมริกา ประจำประเทศไทย กล่าวว่า ปีนี้ วันอนามัยโลก 7 เม.ย. เวียนมาครบรอบอีกครั้งหนึ่งในช่วงเวลาที่สถานการณ์กำลังตึงเครียดเป็นอย่างยิ่งขณะที่มนุษยชาติกำลังต่อสู้กับการแพร่ระบาดใหญ่ของโรคครั้งร้ายแรงที่สุดในรอบ 100 ปี แต่ละวันมียอดผู้เสียชีวิตจากเชื้อโควิด-19 เพิ่มขึ้นจำนวนมาก ตั้งแต่จีนจนถึงอิตาลี สหรัฐฯ จนถึงไทยและประเทศ อื่นๆ นอกจากนั้น เป็นเรื่องน่าเศร้าใจยิ่งนัก วันอนามัยโลกปีนี้ จึงเป็นโอกาสพิเศษในการยกย่องและสรรเสริญผู้ปฏิบัติหน้าที่พยาบาลทุกท่านที่ช่วยดูแลให้โลกปลอดภัย ตนขอร่วมชื่นชมผู้ที่เสี่ยงชีวิตของตน ณ เวลานี้เพื่อปกป้องพวกเราทุกคนจากโรคเลวร้ายนี้

ท่ามกลางข่าวที่น่าเศร้าใจเรายังพอเห็นประกายแห่งความหวัง ระบบสาธารณสุขของไทยมีความเป็นเลิศและเป็นที่ยอมรับในเอเชียตะวันออกเฉียงใต้ และขณะนี้ กำลังระดมบุคลากรมีความสามารถและทรัพยากรต่างๆ เพื่อควบคุมการแพร่ระบาดโควิด-19 โดยทำงานเคียงบ่าเคียงไหล่ กับผู้เชี่ยวชาญจากรัฐบาลสหรัฐฯ ประมาณร้อยละ 20 ของพนักงานสถานทูตสหรัฐฯ ประจำประเทศไทย ซึ่งถือเป็นสถานทูตที่มีขนาดใหญ่ที่สุดแห่งหนึ่งของโลกปฏิบัติหน้าที่ด้านสาธารณสุขร่วมกับหน่วยงานภาคีของไทยดังตัวอย่างต่อไปนี้

ศูนย์ควบคุมและป้องกันโรคแห่งชาติ (CDC) สหรัฐฯ ซึ่งมีสำนักงานนอกสหรัฐฯ ขนาดใหญ่ที่สุดอยู่กรุงเทพฯ มีความร่วมมือกับกระทรวงสาธารณสุขของไทยมานาน 4 ทศวรรษ ทั้งยังตั้งอยู่ที่กระทรวงสาธารณสุข (สธ.) โดย CDC สนับสนุนเงินช่วยเหลือมากกว่า 133 ล้านเหรียญสหรัฐฯ แก่กระทรวงสาธารณสุขและกรุงเทพมหานครในโครงการสาธารณสุขต่างๆ ที่เกี่ยวข้องกับเอชไอวี เอดส์ รวมทั้ง
โรคระบาดไข้หวัดใหญ่และโรคติดเชื้ออื่นๆ

...

นายไมเคิล กล่าวต่อว่าตั้งแต่ปี 2546 รัฐบาลสหรัฐฯ เสริมสร้างศักยภาพห้องปฏิบัติการแก่บุคลากรกระทรวงสาธารณสุขเพื่อตรวจหาโรคติดเชื้ออุบัติใหม่ที่มีความสำคัญต่อชาวไทย ความร่วมมือ โดยระหว่าง CDC และกระทรวงสาธารณสุขนำมาซึ่งการพัฒนาศูนย์ปฏิบัติการภาวะฉุกเฉิน (EOC) ของกระทรวงสาธารณสุขในปี 2557 ซึ่งปัจจุบันเป็นศูนย์ควบคุมการรับมือโควิด-19 ผู้เชี่ยวชาญชาวไทยหลายคนที่ EOC เคยผ่านการฝึกอบรมจากบุคลากรของสหรัฐฯ ได้รับการฝึกอบรมทันสมัยในสหรัฐฯ และในไทยเพื่อเพิ่มพูนทักษะการบริหารงานสาธารณสุข

นับตั้งแต่ปี 2504 องค์การเพื่อการพัฒนาระหว่างประเทศของสหรัฐฯ (USAID) ยังทำงานร่วมกับแพทย์ พยาบาล และนักวิจัยชาวไทย เพื่อยกระดับสุขภาพของคนไทยให้ดีขึ้น ซึ่งตลอด 6 ทศวรรษที่ผ่านมา ประชาชนชาวอเมริกันมอบความช่วยเหลือผ่าน USAID รวมมูลค่ากว่า 1,000 ล้านเหรียญสหรัฐฯ เพื่อสนับสนุนประเทศไทย รวมถึงเงินช่วยเหลืออีกเกือบ 2 ล้านเหรียญสหรัฐฯ เมื่อเดือนที่ผ่านมา เพื่อช่วยไทยรับมือกับการแพร่ระบาดของโควิด-19 
 
นอกจากนั้น สถาบันวิจัยวิทยาศาสตร์การแพทย์ทหาร (AFRIMS) เป็นอีกหน่วยงานรัฐบาลสหรัฐฯ มีต้นกำเนิดย้อนกลับไปกว่า 57 ปี โดยเป็นความร่วมมือทางการแพทย์ทหารระหว่างกองทัพบกสหรัฐฯ และกองทัพบกไทย นอกจากนี้กองทัพบกสหรัฐฯ และกระทรวงสาธารณสุขไทยร่วมมือกันในโครงการวิจัยวัคซีนเอชไอวีครั้งประวัติศาสตร์ ซึ่งเป็นที่รู้จักกันดี นั่นคือ โครงการ RV144 ในประเทศไทยเมื่อปี 2546 นับเป็นครั้งแรกที่เห็นความเป็นไปได้ของการป้องกันการติดเชื้อเอชไอวี ผู้นำโครงการวิจัยจากกองทัพบกสหรัฐฯ ครั้งนั้น เป็นที่รู้จักกันดีในเวลานี้ นั่นคือ ดร.เดบอราห์ เบิร์ซ เอกอัครราชทูต กระทรวงการต่างประเทศสหรัฐฯ และผู้ประสานงานคณะทำงานเฉพาะกิจโควิด-19 ของทำเนียบขาว AFRIMS และกองทัพบกไทยประสบความสำเร็จอย่างมากในการค้นคว้าวิจัยโรคติดเชื้อเขตร้อนและการพัฒนายารักษา วัคซีน และมาตรการอื่นๆ เพื่อปกป้องทั้งชาวอเมริกันและชาวไทย ความร่วมมือวิจัยและพัฒนาเหล่านี้ รวมทั้งการวิจัยด้านวิชาการที่สถาบันสุขภาพแห่งชาติสหรัฐฯ สนับสนุนทำให้จำนวนผู้ป่วยโรคต่างๆ เช่น ไข้สมองอักเสบเจอี ไวรัสตับอักเสบเอ มาลาเรีย และเอชไอวี ลดลงอย่างมีนัยสำคัญ

ความร่วมมือด้านสาธารณสุขระหว่างสหรัฐฯ และไทยมีประวัติศาสตร์อันแข็งแกร่ง ย้อนกลับไปเกือบ 200 ปี นับตั้งแต่นายแพทย์แบรดลีย์เข้ามามีส่วนร่วมในวงการแพทย์ไทยช่วงแรกทศวรรษที่ 1830
และเมื่อกว่า 100 ปีก่อน เมื่อสมเด็จเจ้าฟ้ามหิดลผู้ได้รับการถวายพระสมัญญาภิไธยว่าพระบิดาแห่งการแพทย์แผนปัจจุบันของไทยทรงอุทิศพระองค์ต่อการสาธารณสุข ขณะทรงกำลังศึกษาอยู่มหาวิทยาลัยฮาร์วาร์ด รัฐแมสซาชูเซตส์ พระองค์ทรงเจรจาทำข้อตกลงกับมูลนิธิร็อกกี้เฟลเลอร์ เพื่อให้เงินทุนสนับสนุนเริ่มต้นทางด้านการศึกษาในสถาบันการแพทย์ การพยาบาล และการสาธารณสุข ที่กำลังพัฒนาอย่างรวดเร็วของไทย

เอกอัครราชทูตสหรัฐอเมริกา ประจำประเทศไทย กล่าวอีกว่า ความโดดเด่นด้านสาธารณูปการทางวิทยาศาสตร์ และการแพทย์ของไทยในวันนี้ถือกำเนิดจากเงินทุนสนับสนุนช่วงแรกที่ได้รับจากความร่วมมือด้านสาธารณสุขระหว่างรัฐและเอกชนของสหรัฐฯ กับไทย ที่ริเริ่มโดยสมเด็จเจ้าฟ้ามหิดลและนักเรียนไทยในยุคนั้นที่ตามเสด็จพระราชดำเนินไปศึกษายังมหาวิทยาลัยในสหรัฐฯ ที่ผ่านมาสหรัฐฯ
และไทยยังคงเดินหน้าสร้างระบบบริการสาธารณสุขเข้มแข็งทั่วทั้งภูมิภาคอินโด-แปซิฟิก ซึ่งสามารถป้องกัน ตรวจหาและรับมือกับการแพร่ระบาดของโรคติดเชื้อต่างๆ เฉกเช่นที่ผ่านมา ที่ร่วมกันทำให้โลกใบนี้มีสุขภาพที่ดีขึ้น สงบสุข และเจริญรุ่งเรืองมากขึ้นมาหลายชั่วอายุคน ในเวลานี้เราจะร่วมกันต่อสู้เพื่อเอาชนะศัตรูโรคระบาดที่เราต้องเผชิญร่วมกันและจะผ่านพ้นไปด้วยกันอย่างผู้ชนะที่ทรงพลังยิ่งกว่าเดิม
 
มิติการทำงานระหว่างประเทศนั้น รัฐบาลสหรัฐฯ ยังคงสนับสนุนไทยในบทบาทผู้นำของวาระความมั่นคงด้านสุขภาพโลก (GHSA) ซึ่งเป็นข้อริเริ่มพหุภาคีของ 67 ประเทศทั่วโลก ตลอดจนองค์การระหว่างประเทศ องค์กรนอกภาครัฐและบริษัทเอกชน โดยมีเป้าหมายเพื่อให้โลกมั่นคงและปลอดภัยจากภัยคุกคามของโรคติดเชื้อต่างๆ สหรัฐฯ ยังคงเป็นผู้สนับสนุนรายใหญ่ที่สุดขององค์การอนามัยโลก (WHO) ตลอดหลายปีที่ผ่านมานับตั้งแต่ปี 2491 โดยในปี 2562 เพียงปีเดียวสหรัฐฯให้เงินสนับสนุนมูลค่ากว่า 400 ล้านเหรียญสหรัฐฯ แก่ WHO ซึ่งเป็นจำนวนเกือบสองเท่าของมูลค่าเงินสนับสนุนจากผู้สนับสนุนรายใหญ่อันดับสอง

...

นอกจากนี้สหรัฐฯ เป็นผู้สนับสนุนรายใหญ่ที่สุดองค์การทุนเพื่อเด็กแห่งสหประชาชาติ (ยูนิเซฟ) อีกด้วย โดยมีส่วนร่วมดำเนินการในกรณีฉุกเฉินต่างๆ ทั่วโลก ในปี 2562 สหรัฐฯ ให้เงินสนับสนุนมูลค่า 700 ล้านเหรียญสหรัฐฯ แก่ยูนิเซฟ ในทำนองเดียวกัน เมื่อปีที่แล้วสหรัฐฯ ได้ให้ความช่วยเหลือทรัพยากรต่างๆ มูลค่ากว่า 8,000 ล้านเหรียญสหรัฐฯ แก่โครงการอาหารโลก (WFP) ซึ่งคิดเป็นร้อยละ 42 ของงบประมาณรวมทั้งหมดของ WFP โดย WFP เป็นโครงการที่ได้ส่งอาหารและอุปกรณ์ป้องกันส่วนบุคคล (PPE) รวมทั้งสิ้น 85 ครั้ง ไปยัง 74 ประเทศ เพื่อต่อสู้กับไวรัสนี้ 
 
นายไมเคิล กล่าวว่า สหรัฐฯ เข้าใจอยู่เสมอว่าความมั่นคงด้านสุขภาพโลกนั้นขึ้นอยู่กับระบบบริการสาธารณสุขที่เข้มแข็ง โปร่งใสและตอบสนองได้อย่างรวดเร็ว นี่จึงเป็นเหตุผลว่าทำไมหนึ่งในสามของงบประมาณความช่วยเหลือต่างประเทศของอเมริกาทั้งหมดหรือเกือบ 120,000 ล้านเหรียญสหรัฐฯ จึงมุ่งไปที่โครงการด้านสุขภาพระหว่างประเทศ นับตั้งแต่ปี 2544 งบประมาณดังกล่าว ยังรวมไปถึงความช่วยเหลือที่สหรัฐฯ มอบให้กับประชาชนจีนในระยะเริ่มต้นการแพร่ระบาดโควิด-19 ในฐานะหนึ่งในประเทศแรกๆ ที่ให้ความช่วยเหลือแก่จีน ในช่วงต้นเดือนกุมภาพันธ์ สหรัฐฯ ได้ส่งเวชภัณฑ์รวมเกือบ 18 ตัน จากประชาชนอเมริกันไปยังเมืองอู่ฮั่นของจีนบนเครื่องบินลำเดียวกับที่นำพลเมืองอเมริกันอพยพกลับสหรัฐฯ ในปลายสัปดาห์นั้น สหรัฐฯ ได้ให้คำมั่นว่าจะมอบความช่วยเหลือมูลค่าสูงถึง 100 ล้านเหรียญสหรัฐฯ แก่จีนและประเทศที่ได้รับผลกระทบอื่นๆ ผ่านองค์การพหุภาคี และความช่วยเหลือระดับทวิภาคี เพื่อต่อสู้กับการแพร่ระบาดไปทั่วโลกในเวลาต่อมา ขณะนี้ประธานาธิบดีทรัมป์ได้ปรับเพิ่มความช่วยเหลือเป็นจำนวนเงินรวมทั้งสิ้น 274 ล้านเหรียญสหรัฐฯ

...

นอกจากความช่วยเหลือของรัฐบาลแล้ว เราจะต้องไม่ลืมว่า ในฐานะผู้สนับสนุนการพัฒนาของภาคเอกชน สหรัฐฯ อาศัยความร่วมมือพลเมืองอเมริกัน ธุรกิจห้างร้าน องค์การนอกภาครัฐ และองค์กรการกุศลต่างๆ ของสหรัฐฯ ในการมีส่วนช่วยเหลือด้านมนุษยธรรมทั่วโลก ดังเช่นเดียวกับความร่วมมือระหว่างภาครัฐและเอกชนมีบทบาทสำคัญในการพัฒนาโครงสร้างพื้นฐานด้านระบบสาธารณสุขของไทย ความร่วมมือดังกล่าวนั้นจะยังคงเป็นเครื่องมือในการต่อสู้กับโควิด-19 และโรคติดเชื้ออื่นๆ นี่จึงเป็นสาเหตุที่สถาบันต่างๆ ของสหรัฐฯ รวมถึงมูลนิธิบิลและเมลินดาเกตส์ ได้มอบเงินสนับสนุนมูลค่ารวมทั้งสิ้น 1,500 ล้านเหรียญสหรัฐฯ เพื่อต่อสู้กับการแพร่ระบาดนอกสหรัฐฯ ประวัติศาสตร์ ได้แสดงให้เห็นแล้วว่า เมื่อภาครัฐและภาคเอกชนผนึกกำลังกันทั้งในสหรัฐฯ และไทย สามารถบรรลุเป้าหมายได้อย่างไร้ขีดจำกัด โดยเฉพาะอย่างยิ่งในด้านสาธารณสุขระหว่างช่วงเวลาที่ท้าทายนี้.