อธิบดีกรมการค้าภายใน เข้าพบพนักงานสอบสวน ปอท. แจ้งความเอาผิดโฆษกกรมศุลกากร ที่ออกมาให้ข่าวมีการอนุมัติส่งหน้ากากอนามัยไปจีน 330 ตัน สร้างความเสียหาย เชื่อเอาความขัดแย้งส่วนตัวมาโจมตี

วันที่ 12 มีนาคม นายวิชัย โภชนกิจ อธิบดีกรมการค้าภายใน ได้เดินทางมาที่กองบังคับการปราบปรามการกระทำความผิดเกี่ยวกับอาชญากรรมทางเทคโนโลยี (บก.ปอท.) เพื่อแจ้งความเอาผิด นายชัยยุทธ คำคุณ ที่ปรึกษาด้านพัฒนาระบบควบคุมทางศุลกากร ในฐานะโฆษกกรมศุลกากร ดำเนินคดีฐานหมิ่นประมาทด้วยการโฆษณา ทำให้เกิดความเสียหาย หลังนายชัยยุทธ ออกมาแถลงข่าวเปิดเผยข้อมูล ตัวเลขส่งออกหน้ากากอนามัยในช่วง ม.ค.-ก.พ. 2563 รวมกว่า 330 ตัน ในช่วงระหว่างเดือน ม.ค.ถึง ก.พ.ที่ผ่านมา ซึ่งสร้างความเสียหายต่อกรมการค้าภายใน

นายวิชัย กล่าวว่า การส่งออกหน้ากากอนามัย 330 ตัน เป็นไปตามที่กรมศุลกากร แจ้งในแถลงการณ์ว่าตัวเลขดังกล่าวเป็นพิกัดจากศุลกากร ซึ่งรวมสินค้าอื่นนอกจากหน้ากากอนามัย ทั้งผ้าหุ้มเบาะ ผ้าคลุม เป็นต้น และเป็นการส่งออกก่อนมีประกาศควบคุมการส่งออกหน้ากากอนามัยที่มีผลวันที่ 5 ก.พ.ที่ผ่านมา อีกทั้งการส่งออกโดยปกติใช้มาตรวัดกันเป็นชิ้น ไม่ได้นับเป็นตัน ไม่ทราบว่านายชัยยุทธไปนำข้อมูลนี้มาจากไหน เพราะตั้งแต่มีคำสั่งควบคุมการส่งออกหน้ากากอนามัย มีผู้ขอส่งออก 53 ล้านชิ้น ซึ่งตอนนี้สั่งห้ามส่งออกไปแล้ว 41 ล้านชิ้น แต่ที่อนุญาตส่งออกมีจำนวน 12 ล้านชิ้น คือของที่ยึดไม่ได้ หรือของที่ใช้กับประเทศไทยไม่ได้ หรือสินค้ามีลิขสิทธิ์เฉพาะประเทศเจ้าของแบรนด์ เพราะไทยเป็นผู้รับจ้างผลิต หากเอามาใช้ โรงงานจะโดนฟ้อง ยืนยันว่าทุกขั้นตอนโปร่งใสและมีกรรมการตรวจรับ

...

นายวิชัย กล่าวยืนยันว่าภายในสัปดาห์นี้จะมีข่าวดีเรื่องหน้ากากอนามัย เพราะโรงงานเริ่มปรับไลน์การผลิตให้มีกำลังเพิ่มสูงขึ้นจากเดิม 1.2 ล้านชิ้นเป็น 1.3-1.4 ล้านชิ้น ซึ่งจะเพียงพอสำหรับบุคคลที่จำเป็นต้องใช้จริงๆ โดยเฉพาะแพทย์และผู้ป่วย ส่วนคนปกติแนะนำให้ใช้หน้ากากผ้าทดแทน

ส่วนเหตุผลที่ตนมาแจ้งความที่ บก.ปอท.เพราะเป็นหน่วยที่ครอบคลุมเรื่องสื่อคอมพิวเตอร์ทั้งหมด โดยวันนี้ตนมาแจ้งความนายชัยยุทธ ในนามของกรมการค้าภายในเพื่อเรียกคืนศักดิ์ศรีให้องค์กร และเหตุนี้มองว่าเป็นเรื่องส่วนตัวของโฆษกกับกรมฯ ไม่ใช่ความขัดแย้งระหว่างองค์กรกันเอง

สำหรับกรณีดังกล่าว เริ่มจาก โฆษกกรมศุลกากร ได้แถลงข่าวต่อสื่อมวลชน ถึงการส่งออกหน้ากากอนามัย โดยระบุว่า ในช่วงเดือน ม.ค.-ก.พ.63 ได้อนุญาตให้ส่งออกหน้ากากอนามัย ตามการอนุญาตของกรมการค้าภายใน 330 ตัน กรมศุลกากรไม่สามารถห้ามการส่งออกได้ ซึ่งข่าวดังกล่าวสร้างความปั่นป่วนภายในกรมการค้าภายใน และกระทรวงพาณิชย์ อีกทั้งยังถูกสังคมและโซเชียลมีเดียวิพากษ์วิจารณ์อย่างกว้างขวาง ถึงการดำเนินการของกรมการค้าภายใน

แต่หลังจากนั้น ในช่วงค่ำวันที่ 11 มี.ค.63 กรมศุลกากรได้ออกข่าวชี้แจงข้อเท็จจริงอีกครั้งว่า ตัวเลขดังกล่าวเป็นตัวเลขจากพิกัดศุลกากร ซึ่งรวมสินค้าชนิดอื่นอีกหลายชนิด นอกเหนือจากหน้ากากอนามัย เช่น ชุดผ้าหุ้มเบาะ เชือกผูกรองเท้า ผ้ากันเปื้อน ผ้าคลุม สายคล้องคอทำด้วยผ้าทอ เป็นต้น โดยที่ตัวเลขดังกล่าวเป็นตัวเลขในช่วงเดือน ม.ค.-4 ก.พ.63 ก่อนที่จะมีประกาศคณะกรรมการกลางว่าด้วยราคาสินค้าและบริการ ฉบับที่ 2 พ.ศ.63 ลงวันที่ 4 ก.พ.63 เรื่องการควบคุมการส่งออกไปนอกราชอาณาจักร ซึ่งมีผลบังคับตั้งแต่วันที่ 5 ก.พ.63 เพื่อควบคุมการส่งออกหน้ากากอนามัย ลดการขาดแคลนหน้ากากอนามัยในประเทศ

พร้อมกันนั้น ในข่าวแจกของกรมศุลกากร ยังระบุอีกว่า กรมศุลกากรได้ตระหนักและให้ความสำคัญในการปฏิบัติหน้าที่ ตามกฎหมายและระเบียบที่เกี่ยวข้องอย่างเคร่งครัด นับตั้งแต่กระทรวงพาณิชย์ออกประกาศควบคุมการส่งออกหน้ากากอนามัย ตั้งแต่วันที่ 5 ก.พ.63 มีปริมาณการส่งออกน้อยมาก