ก.สาธารณสุข ยืนยัน ประเทศไทยยังไม่ประกาศเข้าการระบาด "โควิด-19" ระยะ 3 จ่อถกกับมหาดไทย ฝ่ายปกครอง ปิดด่านธรรมชาติ ด้าน “กรมการแพทย์” เตรียม 4 โรงพยาบาลใหญ่ รับมือหากมีการระบาดวงกว้างใน กทม.

เมื่อเวลา 11.00 น. วันที่ 24 ก.พ.ที่ กระทรวงสาธารณสุข นพ.โสภณ เอี่ยมศิริถาวร ผอ.กองโรคติดต่อทั่วไป พร้อมด้วย นพ.รุ่งเรือง กิจผาติ โฆษกกระทรวงสาธารณสุข และ นพ.ณรงค์ อภิกุลวณิช รองอธิบดีกรมการแพทย์ ร่วมกันแถลงข่าวสถานการณ์โรคติดเชื้อไวรัสโคโรนาสายพันธุ์ใหม่ 2019 หรือ โควิด-19

นพ.รุ่งเรือง กล่าวว่า ขณะนี้ประเทศไทยมีผู้ป่วยยืนยัน 35 ราย กลับบ้านได้แล้ว 21 ราย รักษาตัวอยู่ที่โรงพยาบาล 14 ราย ส่วนผู้ป่วยอาการหนักทั้ง 2 ราย ที่รักษาตัวที่สถาบันบำราศนราดูรนั้น รายที่ 1 เป็นผู้ป่วยที่ใช้เครื่องช่วยพยุงปอด อาการทรงตัวตอบสนองต่อการกระตุ้นได้ดี ส่วนรายที่ 2 ที่ติดเชื้อวัณโรคร่วมด้วย อาการทรงตัว แต่ก็ถือว่าดีขึ้น เพราะระบบหายใจดีขึ้น ซึ่งทั้ง 2 รายยังคงต้องอยู่ในการดูแลของแพทย์อย่างใกล้ชิด

...


ผอ.กองโรคติดต่อทั่วไป กล่าวต่อว่า สำหรับผู้ป่วยเข้าเกณฑ์สอบสวนโรคต้องเฝ้าระวังตั้งแต่วันที่ 3 ม.ค.– 22 ก.พ.2563 มีผู้ป่วยเข้าเกณฑ์สอบสวนต้องเฝ้าระวังสะสม 1,453 ราย คัดกรองจากสนามบิน 68 ราย มารับการรักษาที่โรงพยาบาลเอง 1,385 ราย อนุญาตให้กลับบ้านได้แล้ว และอยู่ระหว่างติดตามอาการ 1,121 ราย ส่วนใหญ่เป็นไข้หวัดใหญ่ตามฤดูกาล ยังคงรักษาในโรงพยาบาล 332 ราย

นพ.โสภณ กล่าวอีกว่า ส่วนผู้ป่วยเข้าเกณฑ์เฝ้าระวังชายชาวจีนที่เข้ามารักษาที่โรงพยาบาลแม่สอด ด้วยอาการโรคระบบทางเดินหายใจนั้น ผลการตรวจทางห้องปฏิบัติการ 2 แห่ง ได้ผลเป็นลบ ไม่พบสารพันธุกรรมเชื้อไวรัสโคโรนา 2019 ยังรักษาตัวอยู่ที่โรงพยาบาล เนื่องจากผู้ป่วยอยู่ในภาวะวิกฤติจากมีโรคประจำตัวที่มีอยู่เดิม ขณะนี้ ทุกด่าน ทั้งบก เรือ อากาศ ด่านธรรมชาติ ยังคงเข้มงวดการเฝ้าระวังคัดกรองผู้เดินทางอย่างต่อเนื่อง อย่างไรก็ตาม สธ.ได้ขยายนิยามการเฝ้าระวังปรับเกณฑ์ พื้นที่เสี่ยง อาชีพเสี่ยง กลุ่มอาการปอดอักเสบในบุคลากรทางการแพทย์ ตามสถานการณ์มาโดยตลอดรวม 4 ครั้ง เพื่อให้ตรวจจับผู้อยู่ในเกณฑ์เฝ้าระวังเพิ่มมากขึ้น ขณะนี้ ครอบคลุมคนไทยที่กลับจากประเทศระบาดของโรคและเพิ่มพื้นที่ที่ต้องเฝ้าระวัง

ด้าน นพ.ณรงค์ กล่าวว่า ขณะนี้ สถานการณ์ในประเทศมีการเปลี่ยนแปลงไปมาก ทำให้ประเทศมีความเสี่ยงมากขึ้นกว่าเดิม จึงต้องย้ำมาตรการเฝ้าระวังโรคในโรงพยาบาลเพิ่มมากขึ้น ได้แก่ 1. การคัดแยก คัดกรองผู้ป่วยระบบทางเดินหายใจออกจากผู้ป่วยโรคอื่นๆ 2. ปรับเกณฑ์เฝ้าระวังผู้ป่วยให้เร็วและกว้าง มีการฝึกซ้อม รพ.ทุกสังกัดเตรียมรับมือสถานการณ์ทั้งใน กทม.และต่างจังหวัด


รองอธิบดีกรมการแพทย์ กล่าวอีกว่า สธ.ได้เตรียมสถานที่ บุคลากร และเครื่องมือที่พร้อมปฏิบัติงานภายใน 48 ชั่วโมง หากพบสถานการณ์ระบาดระดับ 3 โดยมาตรการก็อยู่ที่ว่าจะเจอผู้ป่วยมากแค่ไหน เบื้องต้น เตรียมโรงพยาบาลในสังกัดกรมการแพทย์ คือ โรงพยาบาลราชวิถี โรงพยาบาลนพรัตนราชธานี สถาบันสุขภาพเด็กแห่งชาติมหาราชินี (รพ.เด็ก) และสถานบันบำราศนราดูร เพื่อรองรับถ้ามีเคสเพิ่ม 30-40 ราย ส่วน รพ.สังกัด กทม.อื่นๆ และโรงเรียนแพทย์จะเตรียมการในระยะต่อไป

ผู้สื่อข่าวถามว่า แม้ผลจากห้องปฏิบัติการ ผู้ป่วยชาวจีนที่ รพ.แม่สอด จะเป็นลบ แต่ถ้าดูตามช่องทางที่เข้ามาพบกระบวนการคนไทยกลุ่มหนึ่งรับจ้างพาเดินทางมาทางเรือ และเข้าทางช่องทางธรรมชาติ ทำให้เกิดความไม่มั่นใจต่อระบบเฝ้าระวังโรค เพิ่มความเสี่ยงของคนในพื้นที่ และผู้ทำงานสาธารณสุขทำงานยากขึ้น จะต้องคุยกับหน่วยงานที่เกี่ยวข้องเพิ่มหรือไม่ นพ.รุ่งเรือง กล่าวว่า เป็นมาตรการที่เราต้องสะท้อนกลับไปว่าต้องทำให้เข้มข้นขึ้น ดีขึ้น ซึ่งพรมแดนธรรมชาติเป็นส่วนที่คนสามารถเดินทางข้ามมาได้

โฆษกกระทรวงสาธารณสุข กล่าวด้วยว่า แต่สิ่งสำคัญ คือ การทำงานในระดับพื้นที่ ทั้งด้านความมั่นคง และประชาชนในพื้นที่ ที่สำคัญหากพาข้ามมารักษาที่โรงพยาบาล ที่เป็นตะแกรงขั้นที่ 2 แล้วถ้าคนที่พามาเข้ามาเกิดติดเชื้อจริง คนที่เป็นคนพามาถือเป็นคนเสี่ยงสูงมากที่ต้องถูกติดตามเช่นกัน ทั้งนี้ เมื่อช่วงเช้าวันนี้ปลัดกระทรวงสาธารณสุข ได้มีการประชุมและเน้นย้ำเรื่องนี้มาก มีการประสานงานและได้รับความร่วมมือเป็นอย่างดีจากทางมหาดไทย ปกครอง ขณะนี้มีการประสานกันเพื่อปิดพรมแดนธรรมชาติ.