ช่วงนี้กรุงเทพฯกำลังประสบปัญหาฝุ่นละอองขนาดเล็ก PM 2.5 มีค่าเกินมาตรฐานถึงขั้นวิกฤติ เพราะหลายพื้นที่ถึงขั้นเริ่มมีผลกระทบต่อสุขภาพของประชาชน ขณะที่ กทม.ก็ไม่ได้นิ่งนอนใจ เพราะมีการเฝ้าระวัง รวมถึงวางมาตรการป้องกันและแก้ไขปัญหาหลายมาตรการหนึ่งในนั้นคือการรายงานผลการตรวจวัดคุณภาพอากาศในแต่ละพื้นที่ว่าเป็นอย่างไร โดยจะมีการรายงานผลการตรวจวัดคุณภาพอากาศผ่านช่องทางต่างๆ วันละ 3 ครั้ง อาทิ www.bangkokairquality.com , www.airqangkok.com
อย่างไรก็ตาม หลายคนอาจจะสงสัยว่า เครื่องตรวจวัดคุณภาพอากาศของ กทม.มีหลักการทำงานอย่างไร และติดตั้งในพื้นที่ใดบ้าง “รายงานวันจันทร์” วันนี้ จึงไปพูดคุยกับ ผอ.สำนักสิ่งแวดล้อม กทม. “ชาตรี วัฒนเขจร” เกี่ยวกับเรื่องนี้
-----------------

ถาม-กทม.เริ่มติดตั้งเครื่องตรวจวัดคุณภาพอากาศตั้งแต่เมื่อใด
...
ชาตรี-ที่ผ่านมา กองจัดการคุณภาพอากาศและเสียง สำนักสิ่งแวดล้อม กทม.ได้ขอจัดสรรงบประมาณสำหรับการจ้างเหมาเดินระบบและบำรุงรักษาสถานีตรวจวัดคุณภาพอากาศ แบบติดตั้งบนเสาเหล็ก และแบบเคลื่อนที่มาโดยตลอด แต่ไม่ได้รับการจัดสรรงบประมาณ เนื่องจากขณะนั้น ปัญหาฝุ่นอาจจะไม่รุนแรงเท่าปัจจุบัน และการจัดซื้ออุปกรณ์ใช้งบค่อนข้างมาก จึงยังไม่มีการจัดสรรงบสำหรับดำเนินการจนกระทั่งในปีงบประมาณ พ.ศ.2561 สำนักสิ่งแวดล้อม ได้รับการจัดสรรงบประมาณสำหรับการจ้างเหมาเดินระบบและบำรุงรักษาสถานีตรวจวัดคุณภาพอากาศ แบบติดตั้งบนเสาเหล็กและแบบเคลื่อนที่ จำนวน 24 ล้านบาท สามารถจัดหาและเดินระบบตรวจวัดฝุ่น PM 10 ได้จำนวน 23 เครื่อง และ PM 2.5 จำนวน 23 เครื่อง นอกจากนี้ ยังได้จัดหารถตรวจวัดคุณภาพอากาศเคลื่อนที่จำนวน 6 คัน สามารถตรวจวัดค่าฝุ่นละออง PM 2.5 ได้ทั้ง 6 คัน และยังมีสถานีตรวจวัดคุณภาพอากาศลักษณะเหมือนตู้คอนเทนเนอร์อีก 4 จุด ได้แก่ ที่เขตราชเทวี, เขตราษฎร์บูรณะ, เขตดินแดงและเขตพระโขนง แต่สามารถวัดค่าฝุ่นละออง PM 2.5 ได้ในเขตราชเทวีแห่งเดียว อย่างไรก็ตาม ในปีงบประมาณ 2562 สำนักสิ่งแวดล้อมได้รับจัดสรรงบประมาณจำนวน 40.1 ล้านบาท สำหรับ ติดตั้งเครื่องตรวจวัดฝุ่น PM 2.5 เพิ่มเติมให้ครอบคลุมพื้นที่กรุงเทพฯ 50 เขต โดยกำหนดติดตั้งเพิ่มจำนวน 30 เครื่อง ขณะนี้ดำเนินการติดตั้งไปแล้ว 13 เครื่อง ส่วนที่เหลือจะติดตั้งแล้วเสร็จภายในเดือนกุมภาพันธ์นี้

ถาม-หลักการทำงานของเครื่องตรวจวัดค่าฝุ่นละอองทำงานอย่างไร
ชาตรี-เครื่องตรวจวัดคุณภาพอากาศนี้ จะทำงานโดยดูดอากาศและฝุ่นเข้ามา มี pump ทำงานตลอดเวลา ฝุ่นจะเข้ามาทางช่องหัวคัดขนาดฝุ่น PM 10 ก่อน และไหลผ่านไปยังหัวคัดขนาด PM 2.5 อีกครั้ง หลังจากนั้น จะไหลลงมาที่ Filter Tape ซึ่งจะดักกรองฝุ่น PM 2.5 เอาไว้ เมื่อฝุ่นที่เข้ามาสะสมที่ filter จะทำให้รังสีที่ตรวจจับได้ลดลงไปตามความเข้มข้นของฝุ่น โดยเครื่องจะทำการวัดอย่างต่อเนื่องและแสดงค่าทุกๆ นาที และ กทม. รายงานผลตรวจวัดผ่านช่องทางต่างๆ วันละ 3 เวลา คือ ช่วง 07.00, 12.00 และ 15.00 น.

ถาม-เครื่องมือตรวจวัดคุณภาพอากาศที่ กทม.มีอยู่ถือว่าเพียงพอแล้วหรือไม่
ชาตรี-ที่มีอยู่และที่จะติดตั้งเพิ่มเติมซึ่งจะแล้วเสร็จในเดือนกุมภาพันธ์นี้ เป็นตัวแทนของจุดเสี่ยงและของพื้นที่เขต แต่หากได้รับการพิจารณาจัดสรรงบประมาณเพิ่มเติม สำหรับการจัดซื้อเครื่องตรวจวัด PM 2.5 เพื่อติดตั้งในจุดเสี่ยงต่างๆเพิ่มเติมก็จะสามารถเป็นตัวแทนในพื้นที่นั้นๆได้ เช่น ป้ายรถเมล์ใต้สถานี รถไฟฟ้า โรงเรียน จะทำให้สำนักสิ่งแวดล้อมมีข้อมูลเพิ่มเติมเพื่อประกอบการวิเคราะห์สถานการณ์ PM 2.5 ในกรุงเทพฯต่อไป
...
ถาม-มีการพูดถึงเครื่องมือตรวจวัดปริมาณฝุ่นแบบพกพา “PM 2.5 detector” กทม.คิดจะนำมาใช้หรือไม่
ชาตรี-เครื่องตรวจวัดฝุ่นแบบพกพาดังกล่าว อาจให้ข้อมูลไม่เสถียรเท่าแบบเสาเหล็กที่ กทม.มีอยู่ และอาจใช้งานได้ไม่ค่อยมีประสิทธิภาพ แนะนำให้ดูดัชนีคุณภาพอากาศ ที่ กทม.รายงานผ่านแอปพลิเคชัน หรือรายงานผ่านเว็บไซต์จะได้ข้อมูลที่ชัดเจน น่าเชื่อถือกว่า และ กทม.ยังไม่มีแนวคิดที่จะจัดซื้อมาใช้.