ชื่อถนนชื่อสะพาน หรือตรอกซอกซอยในสถานที่ต่างๆ ล้วนแล้วแต่มีที่มาในอดีต ตามหลักเกณฑ์การตั้งชื่อ และล่าสุดเกือบเป็นดราม่าใหญ่ เมื่อส.ส.จากพรรคพลังประชารัฐ มีไอเดียบรรเจิดกลางที่ประชุมสภา เมื่อวันที่ 16 ม.ค. ขอให้รัฐบาลสร้างสะพานจาก อ.ขนอม จ.นครศรีธรรมราช ไป อ.เกาะสมุย จ.สุราษฎร์ธานี พร้อมกับความหวังดีต่อ “บิ๊กตู่” เสนอให้ใช้ชื่อ “สะพานจันทร์โอชา” เพื่อแก้รถติด

ไม่ทันข้ามวันได้เกิดกระแสถล่มคัดค้านไม่เห็นด้วยอย่างหนัก จน “นฤมล ภิญโญสินวัฒน์” โฆษกประจำสำนักนายกรัฐมนตรี ต้องรีบออกมาชี้แจงการเสนอให้ใช้ชื่อ "สะพานจันทร์โอชา" ไม่ได้มีการหารือกับพล.อ.ประยุทธ์ จันทร์โอชา นายกรัฐมนตรี และไม่อนุญาตให้เอาชื่อไปตั้งเป็นชื่อสะพาน หรือตั้งชื่อสถานที่ใดๆ ทั้งสิ้น เพราะที่ผ่านมา พล.อ.ประยุทธ์ ไม่ได้มีความประสงค์เอานามสกุลไปตั้งชื่อสถานที่ใดๆ ไม่ว่างบหลวงหรืองบส่วนตัว เพราะเชื่อเสมอว่าคนจะจดด้วยคุณงามความดี

ในอดีตมีการนำนามสกุลนายกรัฐมนตรีของไทย 2 คน ไปตั้งเป็นชื่อสะพาน เร่ิมจากโครงการสร้างสะพานเชื่อมระหว่าง จ.พังงาไปภูเก็ต สร้างในปี 2494 ขณะนายพจน์ สารสิน นายกรัฐมนตรีคนที่ 9 ดำรงตำแหน่งรัฐมนตรีว่าการกระทรวงพัฒนาการแห่งชาติ และต่อมาในยุค พล.อ.เปรม ติณสูลานนท์ นายกรัฐมนตรีคนที่ 16 สร้างสะพานเชื่อมทะเล 2 ฝั่ง เพื่อสัญจรไปมาใน จ.สงขลา โดยใช้ชื่อสะพาน "ติณสูลานนท์" ซึ่งชาวสงขลานิยมเรียกจนติดปากว่า "สะพานป๋าเปรม" "สะพานติณ" หรือ "สะพานเปรม"

...

ย้อนไปในยุคแรกของการก่อสร้างทางหลวง ทางกรมทางหลวงนิยมนำชื่อ หรือนามของบุคคลที่มีความสำคัญในสายทางนั้นๆ มาใช้เพื่อเรียกชื่อถนน หรือสะพาน เช่น ถนนวิภาวดีรังสิต สะพานสารสิน เป็นต้น ซึ่งต่อมาเมื่อระบบทางหลวงได้มีการพัฒนาเป็นโครงข่ายในระดับประเทศ ทำให้การเรียกชื่อดังกล่าวอาจก่อให้เกิดการสับสนและไม่สามารถระบุพิกัด ตำแหน่ง ของสายทางนั้นได้อย่างชัดเจนและรวดเร็ว เหมาะสมกับปริมาณโครงข่ายทางหลวง จึงนำ "ระบบหมายเลขทางหลวง" มาใช้ในการเรียกแสดงที่ตั้งของทางหลวง เช่น ทางหลวงพิเศษ ทางหลวงแผ่นดิน และทางหลวงสัมปทาน 

นอกจากนี้ที่มาที่ไปของชื่อถนนและซอยต่างๆ มาจากสถานที่หรือสภาพแวดล้อม, ชื่อ-นามสกุล หรือราชทินนาม หรือจากความเชื่อ และค่านิยมเรื่องความเป็นสิริมงคล รวมถึงมีที่มาจากเหตุการณ์สำคัญ, อาชีพของคนในชุมชนที่ถนนตัดผ่าน, จากชื่อสิ่งของเครื่องใช้ และชาติพันธุ์ของคนในชุมชน ยกตัวอย่าง แยกสะพานควาย ซึ่งในอดีตมีสภาพเป็นทุ่งนาและป่า เมื่อเข้าสู่ฤดูทำนา บรรดานายฮ้อยหรือพ่อค้าควายจากแดนอีสานจะนำควายมาขายในพื้นที่ภาคกลาง โดยต้องข้ามจากถนนประดิพัทธ์ ซึ่งมีคลองบางซื่อคั่นอยู่เพื่อไปถนนพหลโยธินด้วยความยากลำบากมาก จึงทำสะพานไม้พาดให้ควายข้าม จึงเป็นที่มาของแยกสะพานควาย ซึ่งในอดีตเคยมีสะพานข้ามแยกและได้ถูกทุบทิ้งไปเพื่อก่อสร้างรถไฟฟ้า

หรือถนนอังรีดูนังต์ ถนนชื่อฝรั่งแห่งเดียวในเมืองกรุง ตั้งชื่อนี้มาจาก อองรี ดูว์นองต์ นักสังคมสงเคราะห์ชาวสวิตฯ เจ้าของรางวัลโนเบล ผู้ก่อตั้งกาชาดสากล หรือชื่อถนนตั้งมาจากชื่อสิ่งของเครื่องใช้ อย่างถนนเขียวไข่กา โดยรัชกาลที่ 5 ทรงพระราชทานนามจากชื่อเครื่องถ้วยจีนเคลือบสีเขียวหม่น คล้ายหยก หรือถนนข้าวสาร เขตพระนคร ย่านเก่าแก่สมัยรัชกาลที่ 6 ซึ่งเป็นจุดขายข้าวสารมาจากทุกสารทิศ ยังมีแยกสะพานช้างโรงสี เคยเป็นสะพานข้ามคลองคูเมืองในเขตพระนคร มีการตั้งชื่อเนื่องมาจากสะพานแห่งนี้ตั้งอยู่ใกล้โรงสีข้าวของฉางหลวง

ด้านเจ้าหน้าที่สำนักงานราชบัณฑิตยสภา เปิดเผยกับ “ทีมข่าวเจาะประเด็นไทยรัฐออนไลน์” ว่า การตั้งชื่อถนน หรือชื่อสะพาน มีการยึดตามลักษณะภูมิประเทศ หรือลักษณะเฉพาะต่างๆ เช่น หากเป็นสะพานสีขาว อาจตั้งชื่อสะพานขาว หรือตั้งชื่อเพื่อความเป็นสิริมงคล นำชื่อพระมาตั้ง ซึ่งดำเนินการโดยหน่วยงานราชการ หรือท้องถิ่น และโดยปกติแต่เดิมในการสร้างถนนของกรมทางหลวงและกรมทางหลวงชนบท ซึ่งไม่ใช่ถนนเอกชนหรือส่วนบุคคล หากมีการตั้งชื่อถนนหรือสะพาน จะมีวัตถุประสงค์เพื่อเป็นที่ระลึก เป็นเกียรติประวัติแก่บุคคลใดบุคคลหนึ่ง โดยขั้นตอนจะนำเสนอกระทรวงคมนาคมให้พิจารณาอนุมัติ ก่อนนำเข้าพิจารณาในที่ประชุม ครม.

"ก่อนเข้า ครม. ทางสำนักงานเลขา ครม. อาจมีการสอบถามความเห็นจากหน่วยงานต่างๆ เช่น ชื่อเกี่ยวกับเจ้านาย พระราชวงศ์ หรือนามพระราชทาน ต้องสอบถามสำนักพระราชวัง ให้นำความขึ้นกราบบังคมทูลพระกรุณาขอพระราชทานพระบรมราชานุญาต และอาจสอบถามราชบัณฑิตยสภา เพื่อขอความเห็นประกอบ ว่าเขียนถูกต้องหรือไม่ และให้สมพระเกียรติ ซึ่งที่ผ่านมาอย่าง สะพานภูมิพล 1 และสะพานภูมิพล 2 ได้มีการสอบถามเพราะเกี่ยวกับพระนามของกษัตริย์"

ส่วนการนำชื่อหรือนามสกุลของบุคคลทั่วไป ไปตั้งเป็นชื่อถนนหรือสะพาน มีน้อยมากที่จะสอบถามเพื่อขอความเห็นจากราชบัณฑิตยสภา ยกเว้นการตั้งชื่อสถานีรถไฟ ได้มีการสอบถามราชบัณฑิตยสภา โดยส่วนใหญ่จะได้ข้อยุติในระดับกระทรวงในการจะใช้ชื่อ-นามสกุลของบุคคลใด หรือการจะสร้างสะพานโดยใช้ชื่อ "สะพานจันทร์โอชา" ขึ้นอยู่กับกระทรวงพิจารณา ก่อนมีการเสนอนำเข้าที่ประชุม ครม. เพื่อขออนุมัติต่อไป.