นายพานุรักษ์ กลั่นนุรักษ์ ผู้อำนวยการสำนักการจราจรและขนส่ง กทม. กล่าวตามที่วิศวกรรมสถานแห่งประเทศไทย ในพระบรมราชูปถัมภ์ (วสท.) เสนอให้ภาครัฐทำ “ช่องทางพิเศษเฉพาะรถจักรยานยนต์” ว่า ที่ผ่านมา กทม.ได้วางมาตรการเพิ่มความปลอดภัยและความคล่องตัวของการจราจร ประกอบด้วย การติดตั้งป้ายแนะนำการใช้ช่องทางเดินรถร่วม ชนิดแขนยื่นเหนือผิวจราจรในถนนสายต่างๆ จำนวน 100 ป้าย การปรับเพิ่มพื้นที่ความกว้างช่องทางด้านซ้าย และบีบช่องจราจรด้านขวา เพื่อเพิ่มพื้นที่ให้ช่องรถจักรยานยนต์ รถจักรยาน ใช้ร่วมในช่องด้านซ้ายของถนนสายต่างๆ ได้ปลอดภัยมากขึ้น จำนวน 19 สาย และจัดระเบียบพื้นที่ในการรอสัญญาณไฟจราจร โดยจัดทำช่องจอดรถจักรยานยนต์บริเวณทางแยก เพื่อให้เกิดความคล่องตัวในการจราจร ซึ่งปัจจุบันได้จัดช่องจอดรถจักรยานยนต์แล้วเสร็จ จำนวน 43 ทางแยก และในเดือน มี.ค. 2563 จะจัดทำเพิ่มอีกจำนวน 12 ทางแยก รวมเป็น 55 ทางแยก
นายพานุรักษ์กล่าวด้วยว่า ที่ผ่านมา สจส.ได้บูรณาการความร่วมมือกับหน่วยงานที่เกี่ยวข้องในการรณรงค์ป้องกันและลดอุบัติเหตุทางถนน โดยขับเคลื่อนการแก้ไขปัญหาภายใต้ศูนย์อำนวยการความปลอดภัยทางถนนกรุงเทพมหานคร (ศปถ.กทม.) ซึ่งมีผู้เชี่ยวชาญในด้านความปลอดภัยและการจราจรจากทุกภาคส่วนที่เกี่ยวข้องร่วมรณรงค์เพื่อลดอุบัติเหตุ รวมถึงร่วมรณรงค์กับคณะกรรมการศูนย์ความปลอดภัย ระดับเขต ทั้ง 50 เขต เพื่อเพิ่มความปลอดภัยในพื้นที่กรุงเทพฯ
ด้านนายไทวุฒิ ขันแก้ว ผู้อำนวยการสำนักการโยธา (สนย.) กทม. กล่าวว่า สนย. มีแผนการตรวจสอบการชำรุดและความปลอดภัยของพื้นผิวจราจรในพื้นที่กรุงเทพฯ ทุกเส้นทาง เพื่อบำรุงรักษาตามวงรอบทุกๆ 15 วัน หากพบการชำรุดเป็นหลุมบ่อจะจัดหน่วยซ่อมเข้าดำเนินการทันที ขณะเดียวกันหากตรวจสอบพบฝาบ่อพักมีสภาพชำรุดทรุดตัว ไม่เรียบเสมอกับพื้นผิวจราจรจะจัดซ่อมชั่วคราว เพื่อป้องกันไม่ให้เกิดอันตรายกับประชาชนผู้ใช้เส้นทาง รวมทั้งประสานแจ้งหน่วยงานเจ้าของบ่อพัก เช่น สำนักการระบายน้ำ การไฟฟ้านครหลวง เพื่อดำเนินการจัดซ่อมถาวรต่อไป.
...