“ตำรวจเป็นอาชีพที่มีต้นทุนต่ำ เพราะสัมผัสใกล้ชิดประชาชน ท่ามกลางสื่อโซเชียลที่สามารถแพร่ได้เร็วมาก หลายสิ่งถูกบิดเบือน หลายครั้งที่ตกเป็นจำเลยของสื่อโซเชียล จึงต้องไม่คิดมาก ทำหน้าที่ของตนให้ดีที่สุด ขอให้ดูให้ดีสิ่งพวกนี้ถือว่าสำคัญมาก ถ้าตำรวจยึดมั่นในหน้าที่ ทำเพื่อประโยชน์ของพี่น้องประชาชน ไม่ต้องห่วงปัญหาที่จะเกิดขึ้นตามมา ผู้บังคับบัญชาพร้อมปกป้อง ปีนี้จะนำพาตำรวจทุกหน่วยเป็น “จิตอาสา ทั้งกายและใจ ทำความดีด้วยหัวใจตามแนวพระราชดำริฯ” ร่วมกับหน่วยงานในพื้นที่พัฒนาคูคลองอย่างน้อยเดือนละ 1 ครั้ง เน้นบริการช่วยเหลือผู้ที่ตกทุกข์ได้ยาก ทำโดยไม่หวังผลตอบแทน

“ผู้บังคับบัญชาจะต้องเป็นผู้นำหน่วย ทำตัวเป็นปุ๋ย ไม่ใช่ยาฆ่าแมลง ไปตรงไหนจะได้เจริญงอกงาม ไม่ใช่ไปที่ไหนที่นั่นตายและตำรวจต้องเอาบทเรียนในอดีตที่ผิดพลาดมาปรับปรุง พร้อมรับฟังเสียงสะท้อนจากประชาชน” “บิ๊กแป๊ะ” พล.ต.อ.จักรทิพย์ ชัยจินดา ผบ.ตร. เปิดเผยถึงแนวนโยบายสำหรับข้าราชการตำรวจทุกหน่วยประจำปี 2563 ก้าวเข้าสู่ปีที่ 5 บนตำแหน่งผู้นำสูงสุดองค์กรตำรวจ

...

พล.ต.อ.จักรทิพย์บอกว่า ยึดแนวนโยบาย 6 ด้านเช่นเดิมคือ 1.การพิทักษ์ ปกป้อง และเทิดพระเกียรติ เพื่อความจงรักภักดีต่อสถาบันพระมหากษัตริย์ 2.การรักษาความมั่นคงและความสงบเรียบร้อยในสังคม 3.การป้องกันปราบปรามและลดระดับอาชญากรรม 4.การแก้ไขปัญหายาเสพติดในทุกมิติ 5.การเร่งรัดขับเคลื่อนกระบวนการปฏิรูปองค์กรตำรวจ ในยุคประชาคมอาเซียน 6.การเสริมสร้างความสามัคคี บำรุงขวัญ และให้กำลังใจข้าราชการตำรวจ

สอดรับวิสัยทัศน์ที่ว่า “เป็นหลักประกันความยุติธรรม และความปลอดภัยในชีวิตและทรัพย์สินของประชาชน ที่มีมาตรฐานสากล” รูปแบบการบริหารนโยบายของ “บิ๊กแป๊ะ” ไม่ได้ยุ่งยาก สลับซับซ้อน เป็นประสบการณ์ตรงของตำรวจที่ผ่านงานมาทุกหน้าที่ รู้ข้อดีข้อด้อยงานตำรวจ จุดไหนที่สมควรต้องรีบแก้ไขเพื่ออุดช่องโหว่ ที่สำคัญคือการวางตัวคนที่เหมาะสมกับงาน

สถานีตำรวจหรือโรงพักเป็นสิ่งที่ ผบ.ตร.ให้ความสำคัญมองว่าเป็นด่านแรกในการดูแลพี่น้องประชาชน เป็นหลักประกันความปลอดภัยในชีวิตและทรัพย์สิน เป็น “จุดแตกหัก” ของงานตำรวจ

งานบริการอำนวยความสะดวกประชาชน ความยุติธรรมเท่าเทียมกันเป็นที่มาของความไว้เนื้อเชื่อใจเชื่อมั่นตำรวจ ตำรวจต้องมี มาตรฐานสากล ตามนโยบายสิ่งที่ ผบ.ตร.วางไว้ อยู่ที่ความพร้อมความใส่ใจของ ผกก.รอง ผกก. และ สว.ที่อยู่ในสถานีตำรวจ เป็นตัวแทนของตำรวจในการเข้าถึงพี่น้องประชาชนอย่างแท้จริง

“งานโรงพักแบ่งเป็น 2 ส่วนสำคัญคือ งานสอบสวนบนโรงพักและงานบนถนน งานป้องกันปราบปราม งานจราจร งานสืบสวน ถ้าได้ ผกก.หัวหน้าสถานีที่ดี เข้าใจหลักการทำงานไม่ใช่เรื่องยาก ถ้า ผกก.หัวหน้าสถานีเอาใจใส่ดูแลพื้นที่ ลงมากำชับมอบหมาย สว. และ รอง สว. มาช่วยกันทำงานบนโรงพัก และตรวจเยี่ยมดูแลพี่น้องประชาชน ตำรวจที่อยู่บนโรงพักต้องทำให้ดี นัดเป็นนัดต้องเสียสละเข้าเวร นัดคู่กรณีไว้ต้องเข้ามาตามนัด ไม่ปล่อยให้รอนาน ตารางนัดเวรสอบสวนต้องมีปรากฏไว้บนโรงพัก นัดไม่มาปล่อยให้รอ ทำให้เกิดความเสียหาย ประชาชนเดือดร้อน ด่าตำรวจ”

จะต้องยกระดับการบริการบนโรงพัก ตามสโลแกนตำรวจที่ว่า “เราอยู่ไหน ประชาอุ่นใจทั่วกัน” หรือ “สุขเถิดประชา ตัวข้าจะคุ้มภัย” ล้วนเป็น เรื่องที่พูดกันมานาน แต่ต้องทำให้ได้ ทั้งบนโรงพักและบนถนนนอกโรงพัก” เป็นสิ่งที่ พล.ต.อ.จักรทิพย์ ตั้งใจให้ตำรวจเป็นที่พึ่งคนที่เดือดร้อนได้จริง

“ตำรวจมีหน้าที่ดูแลประชาชนทุกเรื่อง ตั้งแต่การรักษาความปลอดภัยในชีวิตและทรัพย์สินพี่น้องประชาชน และปัญหาทุกอย่างเข้ามาอยู่บนโรงพัก ถ้าประชาชนไม่เดือดร้อนไม่มาขึ้นบนโรงพัก เป็นหน้าที่ของตำรวจเป็นที่พึ่งของประชาชนอย่างแท้จริง ไม่ใช่ที่พึ่งชั่วคราว มาที่นี่ต้องมีคำตอบ ไม่ใช่โบ้ย ยกตัวอย่างคนที่อยู่บ้านข้างๆ สถานบริการได้รับการส่งเสียงดังอึกทึกครึกโครมตลอดทั้งคืนคนเดือดร้อนแจ้ง 191 ให้โรงพักเข้าไปตรวจสอบ ตำรวจกลับนำเรื่องไปบอกผู้ประกอบการ บอกชื่อข้อมูลคนร้อง คู่กรณีที่แจ้งข้อมูลจะอยู่ได้อย่างไร ความปลอดภัยไม่มี ทั้งที่ร้องขอความช่วยเหลือกับตำรวจที่คิดว่าพึ่งพาได้ยามเดือดร้อน” เป็นสิ่งที่ “บิ๊กแป๊ะ” เน้นย้ำมาตลอด

...

“เบาะแสสิ่งไม่ดี คนทำผิดต่างๆควรปกปิดแหล่งข้อมูลที่มา จะได้เป็นการแสวงหาความร่วมมือกับประชาชนได้จริง การดูแลประชาชน จะต้องดูแลทั้งต่อหน้าและลับหลัง ความสงบสุขจะเกิดขึ้นได้จริงๆกับพี่น้องประชาชน พอมีเหตุเดือดร้อน ขโมยบุกเข้าบ้านต้องไปแจ้งความที่โรงพัก ใช้เวลานานกว่า 5 ชั่วโมงหรือข้ามวันข้ามคืน คนที่ค้าขายไม่ต้องค้าขาย ข้าราชการต้องลางาน อยากให้ตำรวจคิดและช่วยทำอย่างรวดเร็วในการรับแจ้งความ ช่วยกันหามาตรการป้องกันไม่ให้เกิดเหตุ สืบสวนติดตามคดีเมื่อเกิดเหตุทันที”

“ตำรวจมีหน้าที่บำบัดทุกข์บำรุงสุข ไม่ใช่เติมความทุกข์ให้อีก ตำรวจ มีหน้าที่ดูแลประชาชน ป้องกันปราบปรามอาชญากรรม มิจฉาชีพ ภัยคุกคามประชาชน ลักจี้ชิงปล้น เป็นหน้าที่ตำรวจต้องเอาให้อยู่ พูดตั้งแต่สมัยที่เป็นสารวัตรสายตรวจ 191 ตอนหลับตาผู้คนนอนพักผ่อน เป็นหน้าที่ตำรวจดูแลไม่ให้ถูกขโมยทรัพย์สิน ชาวบ้านไม่ต้องกลัวขโมยเข้าบ้าน อยากให้ทำได้ขนาดนั้น แต่ยังไปไม่ถึงมีปัจจัยหลายอย่าง ที่สำคัญขอให้พี่น้องประชาชนมีส่วนร่วมเป็น “เจ้าภาพ” แจ้งเบาะแส ไม่ปิดโอกาสประชาชนเข้ามามีส่วนร่วม คิดเห็นอย่างไร มีอะไรรีบแจ้งเจ้าหน้าที่ไม่ว่า จะเป็นงานป้องกันปราบปราม งานจราจร” เป็นนโยบายที่ชัดเจนของ ผบ.ตร.

...

ส่วนปัญหาที่ถูกมองเป็นภาพลบตำรวจกับเครื่องมือฝ่ายการเมือง “บิ๊กแป๊ะ” บอกว่า การเมืองกับตำรวจแยกจากกันไม่ได้ ในอดีตที่ผ่านมาไม่ว่ายุคสมัยไหน ข้าราชการทุกหน่วยล้วนเป็นเครื่องมือของรัฐบาล ไม่เว้นตำรวจ ไม่มีทางแยกออกจากกันได้เลยไม่ว่าจะเป็นกรมตำรวจที่มี รมว.มหาดไทย กรมตำรวจ ผู้ว่าราชการ ท้องถิ่นและจังหวัดขึ้นตรงกับ รมว.มหาดไทย พอแยกจากมหาดไทยเป็นสำนักงานตำรวจแห่งชาติขึ้นอยู่กับนายกรัฐมนตรี ซึ่งมาจากเลือกตั้งเป็นผู้บริหารราชการแผ่นดินหน่วยงาน องค์กรหรือการบริหารราชการของหัวหน้ารัฐบาล จะแยกได้ตรงไหน ตำรวจต้องบาลานซ์ วางตัวให้ดี ไม่เอื้อจนเกินไป และต้อง ยึดมั่นในเรื่องของกฎหมาย ทำให้เกิดความเท่าเทียมในสังคมให้ได้ดีที่สุด”

“นักการเมืองต้องดูกันยาวๆ เป็นอย่างไร ระยะสั้นอาจมองไม่เห็น แต่ในระยะยาวจะส่งผลกระทบตามมา ส่งผลในอนาคตอีก 5-10 ปี จะกลับมาแก้ไขได้ยาก การตัดสินใจต้องเชื่อว่าจะไม่เกิดผลเสียหายกับประเทศชาติ ตำรวจต้องศึกษาให้ถ่องแท้ภูมิหลังของนักการเมืองแต่ละคน แต่ละพรรค ศึกษานโยบายของพรรค ทัศนคติไปในทิศทางไหน ไม่ไปตามกระแส “โหนกระแส” ก่อนตัดสินใจเชื่อพรรคการเมือง การเมืองและนักการเมือง”

เป็นการเปิดใจครั้งแรกของ พล.ต.อ.จักรทิพย์ ชัยจินดา ผบ.ตร.เกี่ยวกับทิศทางของสำนักงานตำรวจแห่งชาติในปีสุดท้ายบนเก้าอี้ ผบ.ตร.ก่อนครบวาระเกษียณราชการ

พร้อมนำพาตำรวจทุกนายเดินหน้าเข้าหาประชาชน.

ทีมข่าวอาชญากรรม