ปัดข่าวพบบ.นำเข้า

“เฉลิมชัย” ของขึ้น ลั่นไม่มีตัวแทนบริษัทนำเข้าสารพิษเข้าพบ ย้ำจุดยืนนโยบายแบน 3 สารพิษ “พาราควอต-คลอร์ไพริฟอส-ไกลโฟเซต” เรียกร้อง “สุริยะ-อนุทิน” มานั่งแถลงข่าวร่วมกัน อย่าโยนให้กระทรวงเกษตรฯเป็นแพะ

พร้อมแนะ รมว.อุตสาหกรรมสั่งการเรียกประชุมคณะกรรมการวัตถุอันตราย ทบทวนมติครั้งก่อน ให้โหวตใหม่แบบเปิดเผยตัว จะได้รู้ใครเอา-ไม่เอา 3 สารอันตราย ขณะที่ กรอ.โบ้ยกลับการยกเลิกสารพิษ ต้องให้ “กรมวิชาการเกษตร” ในฐานะผู้ดูแล เสนอเรื่องให้ที่ประชุมคณะกรรมการวัตถุอันตรายพิจารณา แต่เดือนนี้ยังไม่กำหนดวันประชุม แถมชี้โพรงเรื่องเงื่อนเวลาคณะกรรมการฯชุดเก่า-ชุดใหม่

หลังจากเป็นประเด็นถกเถียงกันมาอย่างต่อเนื่องที่หลายหน่วยงานรัฐและนักวิชาการอิสระต่างเห็นพ้องต้องกันว่าต้องยกเลิกใช้ “พาราควอต-คลอร์ไพริฟอส-ไกลโฟเซต” 3 สารเคมีอันตรายอย่างเบ็ดเสร็จเด็ดขาดภายในปีนี้ แต่ยังมีบางหน่วยงานในกระทรวงเกษตรและสหกรณ์ กลับเห็นควรแค่จำกัดการใช้สารเคมีกำจัดวัชพืชฆ่าแมลงทั้ง 3 ชนิดดังกล่าวไปก่อน ต่อมาเมื่อเวลา 16.20 น. วันที่ 4 ต.ค. ที่กระทรวงเกษตรและสหกรณ์ นายเฉลิมชัย ศรีอ่อน รมว.เกษตรและสหกรณ์ เปิดเผยว่า ขอแสดงจุดยืนเรื่องการยกเลิกหรือแบน การใช้สารเคมีร้ายแรงในภาคเกษตรกรรม 3 ชนิด ได้แก่ พาราควอต ไกลโฟเซต และคลอร์ไพริฟอสอีกครั้ง ทั้งๆ ที่การแถลงข่าวที่ผ่านมาก็ชัดเจนที่สุดแล้ว แต่วันนี้จะตอบอีกทีว่าไม่ได้สนับสนุนใช้ 3 สารนี้ตั้งแต่เริ่มต้น แล้วได้คุยกับนายจุรินทร์ ลักษณวิศิษฏ์ รองนายกรัฐมนตรีและ รมว.พาณิชย์ ซึ่งเป็นหนึ่งในส่วนที่มีข้าราชการเข้าไปเป็นคณะกรรมการวัตถุอันตรายว่า เราพร้อมแบน 3 สารนี้ ขณะเดียวกันได้เรียกผู้แทนของกระทรวงเกษตรฯที่เข้าไปเป็นกรรมการในคณะกรรมการวัตถุอันตรายแล้วว่ากระทรวงเกษตรฯ มีแนวนโยบายที่จะไม่เอา 3 สารตัวนี้

...

นายเฉลิมชัยกล่าวอีกว่า เพราะฉะนั้นในทางนโยบายชัดเจนแล้ว แต่ในทางปฏิบัติขอเรียนว่าการยกเลิก คือการให้คณะกรรมการวัตถุอันตรายพิจารณา และประธานพร้อมทั้งเลขาฯของคณะกรรมการวัตถุอันตรายอยู่ที่กระทรวงอุตสาหกรรม และนายสุริยะ จึงรุ่งเรืองกิจ รมว.อุตสาหกรรม ก็บอกว่าพร้อมจะแบน จึงขอให้ท่านสั่งการให้ประธานและฝ่ายเลขาฯ เรียกประชุมเลยเพื่อที่จะโหวตยกเลิกมติที่ประชุมในครั้งก่อนและให้โหวตตัดสินใจไปเลยว่าจะเอาหรือไม่เอากับ 3 สารนี้

“ผมขอเรียกร้องให้การที่จะโหวตตรงนี้ เป็นการลงคะแนนโดยเปิดเผย อย่าลืมว่าถึงแม้ว่าผมหรือใครก็แล้วแต่ ได้บอกผู้ที่มีสิทธิในการลงคะแนนไป แต่ถ้าเป็นการลงคะแนนลับ มันก็จะไม่มีความชัดเจนและยังมีความคลางแคลงใจว่าใครที่ลงและใครที่ไม่ลงให้ยกเลิกการใช้สารนี้ เพราะฉะนั้นขอให้เปิดไปเลย จะได้รู้ว่าใครที่มีเบื้องหน้าเบื้องหลัง ผมขอเรียกร้องตรงนี้ด้วย” รมว.เกษตรฯกล่าว

รมว.เกษตรฯ กล่าวต่อไปว่า ถ้าคณะกรรมการวัตถุอันตรายเรียกประชุมใหม่และมีการยกเลิกมติครั้งที่แล้วก็สามารถทำได้ ส่วนเรื่องของสารทดแทนได้บอกกับกรมวิชาการการเกษตร และนางสาวมนัญญา ไทยเศรษฐ์ รมช.เกษตรและสหกรณ์ไปแล้ว ให้ไปเร่งดูหาสารทดแทน ซึ่งนางสาวมนัญญาก็ชัดเจนอยู่แล้วว่าแบน 3 สารนี้ เพราะฉะนั้น ท่านต้องไปดูแก้ปัญหาในการหาสารทดแทน มาตรการที่จะช่วยเกษตรกรได้คือการลดต้นทุน ทำอะไรก็แล้วแต่จะต้องไปดูไม่ว่าจะเป็นกรณีของปุ๋ยสั่งตัดที่นายก– รัฐมนตรีได้มีบัญชา การปรับให้เป็นเกษตรอินทรีย์ เพื่อเพิ่มรายได้และมูลค่าของสินค้าก็จะเข้าไปช่วยเสริมด้วย ซึ่งต้องช่วยกันทุกภาคส่วน

ผู้สื่อข่าวถามว่า มีการตั้งข้อสังเกตว่าตัวแทนจากกระทรวงเกษตรฯที่เข้าประชุมคณะกรรมการวัตถุอันตรายมักจะเป็นคนขวางเรื่องการแบนสารเคมีอันตราย นายเฉลิมชัยกล่าวว่า คณะกรรมการทั้งหมดมี 29 คน เป็นตัวแทนจากกระทรวงเกษตรฯ 4-5 คน และการประชุมคณะกรรมการวัตถุอันตรายแต่ละครั้งไม่ได้มีการแจ้งเข้ามาที่รัฐมนตรีว่าการกระทรวงเกษตรฯ ผู้สื่อข่าวถามต่อว่า กลุ่มเครือข่าย ที่ต่อต้านการใช้ 3 สาร อยากถามความชัดเจนว่าจะให้ผู้แทนของกระทรวงเกษตรฯลงคะแนนอย่างไร นายเฉลิมชัยกล่าวว่า ตนชัดเจนแล้ว ได้พูดคุยกับท่านต่างๆแล้ว ซึ่งแต่ละท่านไม่ได้ปฏิเสธ ผมบอกไปแล้วนี่คือนโยบายของผู้บริหารกระทรวงเกษตรฯ เพราะฉะนั้นคิดว่าท่านเหล่านั้นเป็นระดับปลัดกระทรวงและอธิบดี มีวุฒิภาวะในการพิจารณาว่า อะไรคือนโยบาย อะไรคือสิ่งที่ควรทำ แต่ตามที่บอกไปเบื้องต้นคือ ไม่ว่าจะสั่งการหรือไม่สั่งการ ถ้ามีการลงคะแนนลับ จะไม่มีใครรู้ว่าใครลงคะแนนอย่างไร สุดท้ายสังคมก็จะโยนกลับมาที่กระทรวงเกษตรฯ ฉะนั้นลงคะแนนอย่างเปิดเผยจะดีที่สุดให้สังคมได้รับรู้เลยว่าใครบ้างที่ยังเอา และใครบ้างที่ไม่เอาสารตัวนี้ จะตอบคำถามได้ชัดเลย

นายเฉลิมชัยยังกล่าวถึงกรณีมีข่าวออกมาว่ามีตัวแทนบริษัทนำเข้าสารเคมีด้านการเกษตรได้ไปพบที่พรรคประชาธิปัตย์ว่า ขอให้เปิดเผยมาเลยว่าไปพบใคร ไปหาใครที่ไหน ยืนยันว่าไม่ใช่ตน ใคร ที่ลงข่าวนี้แล้วเอาภาพของตนไปลง ก็อยากรู้ว่ามีความประสงค์อะไร แต่ถ้ามันมีมูล เป็นข้อเท็จจริงให้แจ้งมาเลย ให้สังคมลงโทษ เพื่อให้คนที่เกี่ยวข้อง ได้พิจารณาว่า ถ้าคุณทำอย่างนั้นคุณควรจะได้รับบทเรียนและอะไรบ้างจากสังคม พร้อมยืนยันว่าได้สอบถามทีมงานและหัวหน้าพรรคแล้ว ไม่มีใครมาพบ รวมถึงที่พรรคด้วย ดังนั้น หากใครมีข้อมูล อะไรขอให้เปิดขึ้นมาเลย ไม่ใช่ให้ตนเป็นแพะรับบาป ทั้งที่จุดยืนตนชัดเจนตั้งแต่ต้นแล้ว

ผู้สื่อข่าวรายงานว่าหลังจากนั้น นายเฉลิมชัย ได้หยิบเอกสารขึ้นมาแสดง พร้อมกล่าวว่า หนังสือที่ทุกคนบอกว่าตนเห็นด้วยที่จะให้ใช้ 3 สารพิษ ทั้งที่ในหนังสือระบุว่ามีการหารือว่าควรจะทำอย่างไร ตนได้ตอบข้อหารือไปว่า ถ้ากรณีต้องยกเลิกจะต้องทำอย่างไร เขาบอกว่าคณะกรรมการวัตถุอันตรายจะต้องมีมติยกเลิก จึงถามว่า ในเมื่อตอนนี้ยังไม่มี มติยกเลิก จะทำอย่างไรที่จะรักษาความปลอดภัยของผู้บริโภคและเกษตรกรให้ได้มากที่สุด ตอนนี้มีมาตรการอะไรอยู่ เขาบอกว่า มีมาตรการจำกัดการใช้ ซึ่งตนบอกไปถ้าเช่นนั้นต้องดำเนินการอย่างเข้มงวด ก่อนที่จะมีมติไม่เอาสาร 3 ตัวนี้ ความปลอดภัยของผู้บริโภคและเกษตรกรต้องมาเป็นอันดับแรก ซึ่งมีแค่นี้ แต่ปรากฏว่ากลับไปตัดทอนข้อความและทำให้คนเข้าใจผิดว่าตนสั่งการอย่างนั้น

นายเฉลิมชัยกล่าวต่อไปว่า ขอยืนยันตน พรรคประชาธิปัตย์ นายจุรินทร์ และส่วนที่เกี่ยวข้องพร้อมยกเลิกการใช้ 3 สารทันที ตอนนี้ดีใจที่นายสุริยะ จึงรุ่งเรืองกิจ รมว.อุตสาหกรรม และนายอนุทิน ชาญวีรกูล รองนายกรัฐมนตรี และ รมว.สาธารณสุข บอกว่า ท่านพร้อมแบน 3 สาร เพื่อจะได้จบปัญหา จึงขอฝากสื่อมวลชนไปนัดท่านรัฐมนตรีทั้ง 2 ท่าน มาแถลงข่าวพร้อมกัน เพื่อจะแบนพร้อมกันเลย ไม่ต้องมาพูดคนละทีจะได้จบ

...

ด้านนายจุรินทร์ ลักษณวิศิษฏ์ รองนายก– รัฐมนตรี และ รมว.พาณิชย์ กล่าวถึงเรื่องนี้ว่า กระทรวงพาณิชย์ไปมีส่วนเกี่ยวข้องเพราะมีกรรมการร่วมอยู่ 1 คนคือ อธิบดีกรมการค้าต่างประเทศ ในเบื้องต้นได้หารือในทิศทางที่ตรงกันคือ ยกเลิกการใช้สารดังกล่าว ส่วนจะมีสารตัวใด ชนิดใดเข้ามาทดแทนหรือชดเชยนั้น เป็นเรื่องที่คณะกรรมการวัตถุอันตรายจะพิจารณา

ขณะที่นายอนุทิน ชาญวีรกูล รองนายกรัฐมนตรีและ รมว.สาธารณสุข กล่าวยอมรับว่า การใช้สารเคมีทางการเกษตรเพื่อกำจัดวัชพืชฆ่าแมลง ทำให้ผลผลิตเจริญเติบโตได้เร็วขึ้น แต่มีผลกระทบต่อสุขภาพร่างกาย และการจำกัดการใช้ก็เพื่อช่วยลดความรุนแรงผลกระทบของสารเคมีต่อร่างกายมนุษย์ ซึ่งยังไม่ตอบโจทย์และไม่ได้เป็นการแก้ไขปัญหา จึงต้องยกเลิกการนำมาใช้ เพื่อไม่ให้มีสารอันตรายต่อสุขภาพในส่วนประกอบของผลผลิตทางเกษตรกรรม โดยต้องมีผลิตภัณฑ์ทดแทนที่ไม่มีผลกระทบต่อสุขภาพผู้ใช้และผู้บริโภค

วันเดียวกัน นายประกอบ วิวิธจินดา ว่าที่อธิบดีกรมโรงงานอุตสาหกรรม (กรอ.) เปิดเผยถึงกระแสเรียกร้องให้ยกเลิกการใช้ 3 สารเคมีอันตรายดังกล่าวว่า แม้กระทรวงอุตสาหกรรมซึ่งเป็นหนึ่งในคณะกรรมการวัตถุอันตรายจะเห็นด้วยกับการยกเลิกการใช้สาร 3 ประเภทดังกล่าวก็ตาม แต่คณะกรรมการฯ มีหลายหน่วยงานเข้ามาเกี่ยวข้อง จะแบ่งหน้าที่ในการดูแลของสารแต่ละประเภท ซึ่งในส่วนของ 3 สารดังกล่าว กรมวิชาการเกษตร กระทรวงเกษตรฯ เป็นผู้ดูแล เพราะฉะนั้นถ้าจะให้ยกเลิกก็ต้องให้เจ้าของเรื่องคือกรมวิชาการเกษตรเป็นผู้เสนอเรื่องเข้ามา พร้อมเหตุผลและวิธีการรองรับผลกระทบที่จะเกิดขึ้นกับเกษตรกร เช่น การหาสารทดแทน เพราะเท่าที่ดูจากผลการประชุมครั้งที่ผ่านๆมา เป็นการจำกัดการใช้สาร และอยู่ระหว่างหาสารทดแทนเข้ามาให้พิจารณา

นายประกอบกล่าวอีกว่า ตามปกติคณะกรรมการวัตถุอันตรายจะมีการประชุมทุกเดือน แต่เดือน ก.ย.ที่ผ่านมาประชุม 2 ครั้ง เพราะมีหลายประเด็นที่ต้องจัดการก่อนที่พระราชบัญญัติวัตถุอันตรายฉบับใหม่ จะมีผลบังคับใช้วันที่ 27 ต.ค.นี้ ส่วนเดือน ต.ค.นี้ จะประชุมกันในวันที่เท่าใด ต้องขึ้นอยู่กับวาระเรื่องที่เสนอมา ถ้าประชุมก่อนวันที่ 27 ต.ค. ต้องให้คณะกรรมการชุดเดิม ที่มีรองปลัดกระทรวงอุตสาหกรรม ประธาน หรืออาจประชุมหลังวันที่ 27 ต.ค. ที่คณะกรรมการวัตถุอันตรายชุดใหม่มีผลทางกฎหมายตั้งแต่วันที่ 27 ต.ค.เป็นต้นไป ก็จะมี รมว.อุตสาหกรรมเป็นประธานโดยตำแหน่ง

...