พล.ต.ท.ศานิตย์ มหถาวร แสดงความเห็นว่า ช่วงนี้มีคดีน้องพริตตี้เสียชีวิตเป็นที่สนใจของประชาชนอย่างกว้างขวาง โดยเฉพาะมุมมองของนักกฎหมายหลายๆท่านว่าจะให้ตำรวจดำเนินคดีในความผิดฐานใด คนที่จะรู้ดีที่สุดคือ พนักงานสอบสวนเจ้าของคดี ที่ต้องสอบสวนรวบรวมพยานหลักฐานทุกชนิดเท่าที่จะทำได้ ตาม ป.วิอาญา มาตรา 131 เพื่อจะรู้ตัวผู้กระทำผิดและพิสูจน์ให้เห็นความผิดหรือความบริสุทธิ์ของผู้ต้องหา

อย่างไรก็ตาม การที่พนักงานสอบสวนจะตั้งข้อกล่าวหาใด ต้องเป็นไปตามข้อเท็จจริงและพยานหลักฐานทั้งหลาย อย่าไปตั้งข้อหาเกินความเป็นจริง ตามพฤติการณ์แห่งคดี หรือตามกระแสโดยเด็ดขาด

จะทำให้กระบวนการยุติธรรมไทยเสียหาย

ไม่เป็นที่ยอมรับทั้งในและต่างประเทศ พนักงานสอบสวนเองจะทำงานลำบาก หากต้องตั้งข้อหาตามกระแสกดดัน จะผิดจรรยาบรรณแล้วอาจถูกดำเนินคดีอาญาฐานปฏิบัติ หรือละเว้นการปฏิบัติหน้าที่โดยมิชอบ

พล.ต.ท.ศานิตย์บอกว่า เรื่องทำนองนี้คงจะพอจำกันได้ เมื่อวันที่ 1 พ.ค.2559 มีคดีวัยรุ่นใช้อาวุธมีดฆ่าชายพิการ เหตุเกิด สน.โชคชัย ผู้ต้องหามี 7 คน บังเอิญ 2 คน เป็นลูกตำรวจ ขณะนั้นมีทนายความคนหนึ่งพยายามกดดันพนักงานสอบสวนให้ตั้งข้อหา “ฆ่าผู้อื่นโดยไตร่ตรองไว้ก่อน” ตาม ป.อาญา มาตรา 289 ให้ได้

ขณะนั้นเป็น น.1 เห็นว่าเป็นคดีสำคัญและเป็นที่สนใจของประชาชน รีบลงไปที่เกิดเหตุร่วมพิจารณากับพนักงานสอบสวนเห็นว่าผู้กระทำผิดได้ร่วมกระทำผิดฐาน “ฆ่าผู้อื่นโดยเจตนา” ตาม ป.อาญา มาตรา 288 ยังไม่เข้า ป.อาญา มาตรา 289 แต่กระแสโซเชียลกำลังแรง นักเลงคีย์บอร์ดทั้งหลายรุมกระหน่ำตำรวจโดยเฉพาะ น.1 อย่างหนักนานนับเดือน โดยจะให้พนักงานสอบสวนตั้งข้อหาฆ่าผู้อื่นโดยไตร่ตรองให้ได้

...

โดนกดดันมากๆ ลูกน้องหลายคนไม่สบายใจที่ น.1 โดนโจมตี ได้แต่ให้กำลังใจลูกน้อง เขาด่า น.1 ไม่เป็นไร แต่ส่วนรวมมันสำคัญกว่าเราต้องยึดหลักการ ยึดความถูกต้องและให้ความเป็นธรรมกับคู่กรณีเป็นหลัก

ถ้าทำตามกระแส ต่อไปทำงานยาก

ภาพลักษณ์กระบวนการยุติธรรมของไทยจะเสียหาย และน้องๆ อาจถูกดำเนินคดีฐานปฏิบัติหน้าที่มิชอบเสียเอง ในที่สุดสรุปสำนวนสั่งฟ้องผู้ต้องหาทั้ง 7 ฐานร่วมกันฆ่าผู้อื่นโดยเจตนา ตาม ป.อาญา มาตรา 288, 80 และต่อมาวันที่ 26 ธ.ค.2559 ศาลอาญาได้มีคำพิพากษาลงโทษตาม ป.อาญา มาตรา 288, 80 เช่นกัน

คงจะรักษาหลักการความถูกต้องและภาพลักษณ์กระบวนการยุติธรรมไทยได้บ้าง คดีล่าสุดนี้คงไม่ชี้นำว่าจะตั้งข้อหาใด เพราะข้อเท็จจริงยังไม่ชัดเจน แต่ให้ข้อสังเกตกับพนักงานสอบสวนเติมเต็มช่องว่างในคดีไปแล้ว เป็นหน้าที่ผู้เกี่ยวข้องต้องร่วมแรงร่วมใจคลี่คลายคดีให้เสร็จสิ้นโดยเร็ว ความล่าช้าคือความไม่ยุติธรรม

ที่สำคัญต้องมีคำตอบปราศจากข้อสงสัย.

“เพลิงพยัคฆ์”
pluengpayak@thairath.co.th